posttoday

ธปท.เล็งใช้เครื่องใหม่เพิ่มเติมจากดอกเบี้ยนโยบาย

23 ธันวาคม 2559

ธปท.ศึกษาเครื่องมืออื่นมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำนโยบายการเงินเพิ่มเติมจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ธปท.ศึกษาเครื่องมืออื่นมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำนโยบายการเงินเพิ่มเติมจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานแถลงแผนยุทธศาสตร์ในการทำงาน 3 ปี (2560 – 2562) ว่า การทำนโยบายการเงินหรือการกำกับดูแลสถาบันการเงินจะปรับไปตามความของเหมาะสมของสภาพแวดล้อมทางการเงิน เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น เดิมโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นภาคการผลิตก็จะปรับไปเป็นภาคบริการ ฉะนั้น การทำนโยบายที่จะเชื่อมโยงไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงก็ต้องปรับเปลี่ยนไป ผลที่จะส่งผ่านไปสู่แต่ละขั้นตอนก็จะเปลี่ยนไป ฉะนั้น ธปท.ต้องดูว่าจะมีวิธีที่จะปรับปรุงไปสู่ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งการทำต้องทำต่อเนื่องและใช้เวลา

“ถามว่าเครื่องนโยบายการเงินเดิม อย่าง ดอกเบี้ยนโยบายประสิทธิผลลดลงไปมากหรือไม่นั้น ผลการใช้นโยบายการเงินจะได้ผลดีมีประสิทธิภาพในยามที่เงินเฟ้อสูงๆ มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมากๆ แต่ขณะนี้เงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัญหาอยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็อยู่ในระดับต่ำ ฉะนั้น ประสิทธิผลก็อาจจะไม่เข้มข้นเท่ากับช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายสูงๆ เงินเฟ้อสูงๆ อย่างไรก็ดีจากโครงสร้างการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปบทบาทนโยบายการเงินอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตลาดเงิน สถาบันการเงิน เพราบทบาทไปอยู่ที่ตลาดทุนที่ใหญ่ขึ้นด้วย ทำให้การส่งผลไปสู่ตลาดจะไปช่องทางตลาดทุนมากกว่าช่องทางสถาบันการเงิน ทำให้เราต้องทบทวนกลไกต่างๆเพื่อให้ได้ผลในภาพรวมที่เราต้องการ”นายวิรไทกล่าว

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า การนำเครื่องมือใหม่ๆนอกเหนือจากเครื่องมือดอกเบี้ยนโยบายนั้น ธปท.จะทำการศึกษาเครื่องมือใหม่ๆจากต่างประเทศประกอบด้วย แต่การปรับใช้ต้องดูให้สอดคล้องกับระบบการเงินของไทย ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไป และนอกจากการเพิ่มเครื่องมือใหม่ๆแล้วธปท.ยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เครื่องมือใหม่กำลังศึกษาอยู่ ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่เป้าหมาย คือ เราต้องการให้เห็นหน้าเห็นตาในปีหน้านี้ แต่ไม่ได้บอกว่าต่างประเทศมีการทำเครื่องมือคิวอี เราจะทำคิวอีด้วย อันนั้นคงไม่ใช่” นายเมธีกล่าว

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ถึงธปท.จะศึกษาเครื่องมือใหม่ๆในการทำนโยบายการเงินให้มีประสิทธิภาพในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้บอกว่าต่างประเทศมีการทำเครื่องมือคิวอี แล้วธปท.เราจะทำคิวอีด้วย อันนั้นคงไม่ใช่ ยังเป็นเรื่องที่เร็วไปที่จะสรูปเช่นนั้น

อย่างไรก็ดีมีบางตัวบางเครื่องมือที่ธปท.มองว่าเป็นสิ่งที่ดูอยู่ เช่น เรื่องความเสี่ยงด้านเครดิต หรือความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ อาจจะมีการนำบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยมากขึ้นเป็นต้น หรือในเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ที่ในอนาคตคนไทยอายุมากขึ้นใช้จ่ายน้อยลงไม่เหมือนวัยหนุ่มสาวที่ใช้จ่ายมากขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ซึ่งจะทำให้โครงการสร้างการออมของประเทศเปลี่ยนไป อาจจะส่งผลต่อกระบวนการส่งผ่านการทำนโยบายการเงินภายใต้โครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมใหม่ๆ

“ต่อไปสภาพแวดล้อมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป มีบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร(นันแบงก์) มีเทคโนโลยีการเงินเข้ามา (ฟินเทค) เข้ามา ตลาดทุนก็ใหญ่ขึ้น ช่องทางการส่งผลการทำนโยบายการเงินจะมีความหลากหลายขึ้น เพราะไม่ได้มีแค่สถาบันการเงินอย่างเดียวที่จะเข้าถึงสินเชื่อแล้ว ดังนั้น ธปท.เราต้องศึกษาและเข้าใจเรื่องพวกนี้ให้มากขึ้นก่อนจะกำหนดนโยบายอะไรออกไป”นายจาตุรงค์กล่าว