posttoday

ศรีลังกา จัดงานวิสาขบูชาโลกอย่างอลังการ

28 พฤษภาคม 2560

งานวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 14 ประจำปี 2561/2017 ประเทศศรีลังกาเป็นเจ้าภาพจัดเป็นครั้งแรกอย่างสมเกียรติ

โดย...พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ภมรพล ป.ธ.9, M.A.)

งานวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 14 ประจำปี 2561/2017 ประเทศศรีลังกาเป็นเจ้าภาพจัดเป็นครั้งแรกอย่างสมเกียรติ มีการกล่าวถึงประวัติความเป็นมาตั้งแต่อดีตทูตต่างประเทศศรีลังกา ชื่อลักษมัน กทิรคามาร์ (Lakshman Kadirgamar) เสนอมติขอการรับรองต่อที่ประชุมใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา 34 ประเทศรับรอง จนสมัชชาองค์การสหประชาชาติให้การรับรองวันวิสาขบูชา ให้เป็นวันสำคัญ (Buddhist Holiday or Buddhist observance) ในปี 2542

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพฉลองงานวิสาขบูชาโลก 11 ครั้ง ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ 2 ครั้ง และปีนี้เป็นครั้งแรกที่ศรีลังการับเป็นเจ้าภาพ มีประเทศเข้าร่วมประชุม 72 ประเทศ มีสาสน์แสดงความยินดีจากทั่วทั้งโลก 75 สาสน์ ที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสือที่ระลึกประธานาธิบดีศรีลังกา นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระพุทธศาสนา เข้าร่วมประชุมเป็นสักขีพยาน โดยมีแขกรับเชิญเป็นประมุขประเทศอินเดียและเนปาล ในระดับนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี แสดงปาฐกถาพิเศษเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เน้นความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมที่มีรากฐานเดียวกัน จากคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระมหานายกะศรีลังกา ผู้นำชาวพุทธ ประมุขสงฆ์ นักปราชญ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนา ให้การสนับสนุนการจัดงานอย่างเต็มที่ มีพระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวเปิดงานประชุม แถลงเปิดตัวพระไตรปิฎกฉบับสากล (CBT : Common Buddhist Text) อย่างเป็นทางการ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง จนในวันปิดการประชุม หลังจากประกาศปฏิญญาแคนดีมหานครแล้ว ไมตรีปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกา ได้นิมนต์ไปทำเนียบที่เมืองแคนดี เพื่อพบปะส่วนตัว และกล่าวขอบคุณเป็นกรณีพิเศษ ที่นานาชาติให้ความร่วมมือจัดงานวิสาขบูชาโลกครั้งนี้ จนสำเร็จเรียบร้อยอย่างสมเกียรติ ในฐานะที่ประเทศศรีลังกาได้ชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองพระพุทธศาสนาและเป็นประเทศที่มีการจารพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรก

ก่อนเดินทางไปศรีลังกา ข้าพเจ้าเสนอให้สร้างกลุ่มไลน์ติดต่อประสานงานกันได้ง่ายยิ่งขึ้น มีแจ้งบอกว่า จะประสานงานจองซื้อซิมใส่โทรศัพท์ก่อนวันเดินทางล่วงหน้า กะว่าลงเครื่องบินปุ๊บก็ติดต่อกันได้ปั๊บเลย

เมื่อถึงสนามบินโคลอมโบ เจ้าหน้าที่พาไปจุดนั้นจุดนี้ หลังรับกระเป๋าใหญ่กันหมดแล้ว ก็มานั่งรอความพร้อมด้านเอกสารและสิ่งของต่างๆ มีคนชวนไปแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้เดินออกไปด้วย ปรากฏว่ามีร้านเปลี่ยนซิมตั้งอยู่แถวๆ ด้านนอกนั้นเอง ผู้ที่เดินออกไปก็ได้เปลี่ยนซิมมา หลังจากเปลี่ยนสกุลเงินตราแล้ว

ศรีลังกา จัดงานวิสาขบูชาโลกอย่างอลังการ บรรยากาศที่เมืองแคนดี

 

เมื่อเดินทางถึงที่พักโมเวนปิค ก็มีฟรีไว-ไฟให้ใช้ได้เลย สะดวกสบายทุกอย่าง ความเร็วก็ใช้ได้ดี จึงเห็นว่าไม่ต้องเปลี่ยนซิมก็ได้ เขาอ้างว่าถ้าจะเปลี่ยนซิมต้องไปที่ร้านด้วยตนเอง นำเครื่องไปด้วย ให้ร้านเปลี่ยนให้เสร็จสรรพ มีขนาด 4 กิ๊ก และ 8 กิ๊ก

คืนก่อนเข้าประชุมเขานำบัตรคล้องคอเครื่องหมายลงทะเบียนมาให้ น่าชมเชยที่เขาทำบัตรแข็งอย่างดี ติดรูปภาพ ระบุว่าเป็นผู้ประชุมประเภทไหน ด้านหลังของบัตรมีลายเซ็นกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระพุทธศาสนา และรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ในการติดต่อประสานงาน

วันแรกหลังประชุมกันตลอดทั้งวัน ในภาคค่ำมีการพาไปชมแสงสีประดับที่บริเวณใกล้รัฐสภาเมืองหลวงใหม่ชื่อกรุงโกฏเฏ ได้ดูไฟตอนกลางคืน สวยงามมาก ที่ประดับตามตึกรามบ้านช่อง และตึกสูงๆ แต่อากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน เดินทางผ่านต้นไม้ประจำชาติศรีลังกา ซึ่งเขาเรียกว่า ต้นนาคหะ (NA ออกเสียงว่า “นา” คือชื่อของพันธุ์ไม้ และคหะ? แปลว่าต้นไม้) เป็นต้นไม้ที่ขึ้นในแทบทางใต้ของศรีลังกา ว่ากันว่าถ้าเป็นเทศกาลออกดอกบานสะพรั่งจะสวยงามมาก

โชคร้ายนิดหนึ่ง หลังจากเดินดูซุ้มวิสาขบูชาจากประเทศต่างๆ มีซุ้มของประเทศไทย เวียดนาม เมียนมา ฯลฯ และที่ซุ้มศรีลังกาจัดทำ พิรุณก็โปรยปรายลงมา จากขั้นประพรมน้ำ และลงมาค่อนข้างใหญ่ จึงรีบทยอยกันออกมารอขึ้นรถ กว่าจะประสานงานให้รถมารับได้ และรอความพร้อมของมวลสมาชิก ก็ยืนตากฝนรับลมหนาว ทราบว่ามีบางคนเป็นไข้ ขนาดกลับมาถึงไทยแล้วยังไม่สร่างไข้เลยก็มี

ในขณะที่พักอยู่ 4 วัน 3 คืนนั้น แทบจะไม่ได้ติดตามข่าวสารทางทีวี วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์เลย เพราะไม่มีเวลาจะดู จนกระทั่งวันเดินทางไปรถไฟเหมาลำ เห็นหนังสือพิมพ์เขาทิ้งไว้ฉบับหนึ่ง จึงเก็บมาเป็นที่ระลึก

ได้ตรวจเช็กปีว่า งานฉลอง 250 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างสยามวงศ์กับเกาะลังกา ตรงกับปี พ.ศ. 2556 ดังนั้นนับถึงปีปัจจุบันนี้ นับเป็นปีที่ 263-264 ปี นั่นคือพระอุบาลีมหาเถระเดินทางไปถึงเกาะลังกาเมื่อปี พ.ศ. 2296 ในสมัยแผ่นดินของพระเจ้าบรมโกศ ปลายอยุธยา ส่วนสมเด็จพระปิยมหาราช ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปแล้วเสด็จไปนมัสการพระทันตธาตุ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดมลิกาวะ เมืองแคนดี ตรงกับวันที่ 21 เม.ย. 2440 และทรงพระนิพนธ์เรื่องพระทันตธาตุ พระเขี้ยวแก้ว เป็นหลักฐานการเสด็จครั้งนั้น พร้อมทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ ซึ่งถ้าคิดตั้งเป็น ค.ศ.จะเหลื่อมกัน 1 ปี เพราะต่อมาสยามประเทศเปลี่ยนวันปีใหม่เป็นวันที่ 1 ม.ค. หลังปี พ.ศ. 2483