posttoday

คลัง เคลียร์ปม เซเว่น อีเลฟเว่น ได้สิทธิ์ร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

18 เมษายน 2567

“จุลพันธ์” แจงเหตุผล ให้สิทธิ์ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น เข้าร่วมโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ตได้ เพราะรัฐเลือกปฎิบัติไม่ได้ แต่ห้ามขึ้นเงินสดทันที ต้องนำเงินไปใช้จ่ายในระบบรอบที่ 2 ก่อน คุยหากโครงการสำเร็จจะเป็นนโยบายการเงิน การคลังใหม่ของโลก

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการส่งเรื่องการใช้สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. เพื่อไปใช้ในโครงการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital wallet  ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบข้อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ และคาดว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.นี้ 


“ขณะนี้อยู่ระหว่างการตีความ ถ้าสรุปแล้วเห็นว่าเหมาะสม มีความจำเป็นเราก็ส่งให้กฤษฎีกาตีความ ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งตนมีความมั่นใจสูงมากว่าโครงการเงินดิจิทัลนี้จะสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ” นายจุลพันธ์ กล่าว

 

ส่วนกรณี กระแสสังคมมีการตั้งคำถามถึงการให้สิทธิ์ร้านสะดวกซื้อ หรือ เซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งถือเป็นกลุ่มทุนใหญ่เข้าร่วมโครงการได้นั้น  กระทรวงคลัง และหลายหน่วยงานก็มีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า จะเป็นการเอื้อทุนใหญ่หรือไม่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็มีเหตุผลที่ต้องรับฟังว่า รัฐบาลไม่ควรที่จะเลือกปฎิบัติได้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้เป็นอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ที่จะพิจารณาอีกครั้ง

 

“ยอมรับว่าเรื่องนี้ที่ประชุมพูดคุยกันนานพอสมควร เพราะว่ามีหน่วยงานทักมา ระวังเป็นการเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งรายใหญ่เราก็ได้ตัดออกไปแล้ว ส่วนร้านสะดวกซื้อ เห็นว่าความเป็นรัฐเลือกปฎิบัติไม่ได้ ซึ่งร้านสะดวกซื้อที่เป็นร้านของอากง อาม่าก็มีเยอะ และจะไปตัดสิทธิทั้งหมดก็ลำบาก เราต้องคำนึงด้วยว่า มีทั้งเล็กและใหญ่ปะปนกันอยู่ และนี่เป็นพฤติกรรมจริงของผู้บริโภคไทย ที่เราต้องยอมรับ เราต้องกำหนดให้เหมาะสม"นายจุลพันธ์ กล่าว

 

สำหรับการขึ้นเงินสด ร้านสะดวกซื้อที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อรับเงินจากผู้ร่วมโครงการแล้ว ร้านสะดวกซื้อไม่สามารถขึ้นเป็นเงินสดได้ในรอบแรก แต่ต้องนำเงินนั้นไปใช้ต่ออย่างน้อย 2 รอบ เช่น นำเงินไปซื้อสินค้าตรงจากผู้ผลิตก่อนเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ ซึ่งร้านที่นำไปขึ้นเงินสดได้ ต้องเป็นร้านสะดวกซื้อที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น โดยกำหนดใช้เงินครั้งแรกภายใน 6 เดือน ถ้าไม่ใช้เงินจะถูกตัดกลับคืนสู่รัฐ และกำหนดร้านค้าถอนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี โดยไม่มีการกำหนดยอดการใช้ขั้นต่ำ 
 

ส่วน เสียงคนคัดค้านการนำเงินธกส.มาใช้ในการทำโครงการในทางลบ ว่าไม่สามารถทำได้นั้น ยืนยันว่า รัฐบาลจะดำเนินการตามกระบวนกฎหมายอย่างรอบคอบ ครบถ้วนทุกประการ เพื่อเกิดความกระจ่างกับทุกฝ่าย จึงอยากให้เชื่อมั่นต่อกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้ประชาชน อย่างไปฟังเสียงคนที่ไม่มีหน้าที่ดำเนินการ เพราะเชื่อว่าคนเหล่านั้นไม่มีความรู้เรื่องงบประมาณ ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายกึ่งการคลัง ไม่ใช่การกู้เงิน แต่ใช้กลไกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในการสนับสนุนนโยบายแก้ไขปัญหาให้ประชาชน และไปตั้งงบชดเชยในภายหลัง ตัวอย่างเช่น ตั้งงบคืน ธ.ก.ส.ปีละ 60,000-80,000 ล้านบาท ใช้เวลาแค่ 3 ปี ก็ชำระหนี้ส่วนนี้ได้ครบ 

 

สำหรับ ตัวเลขเกษตรกรที่ลงทะเบียนอยู่ในหน่วยงานของรัฐ ข้อมูลจากที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ตพบว่า มีประมาณ 17 ล้านคน และมีลูกค้าธกส.เกือบ 10 ล้านคน 

 

นายจุลพันธ์ ยังกล่าวด้วยว่า หากทำสำเร็จจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับโลกในการผลิตนโยบายทางการคลัง หลายคนเคยบอกคิดใหญ่ไปมั้ย ยากไปมั้ย แม้ทำยากก็ต้องทำ เพราะประเทศไทยควรมีนวัตกรรมทางการเงิน การคลังใหม่ๆ ของโลก เพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และจะเป็นเครื่องมือของรัฐในอนาคตในการกำหนดนโยบายทางการคลังในตรงเป้า กำหนดทิศทางในทางบวกที่รัฐต้องการ

 

ส่วนความความคืบหน้าเรื่องการตั้งสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ที่ประชุม ครม. ก่อนสงกรานต์ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณา โดยกำหนดกรอบเวลา 30 วัน ก่อนเสนอกลับไปที่ ครม.ว่าจะเดินหน้าหรือไม่ โดยคลัง อยู่ระหว่างทบทวน ตามรายงานผลการศึกษาผลกระทบการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรของสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องรูปแบบธุรกิจ ผลกระทบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย ท่องเที่ยว สาธารณสุข เป็นต้น มาหารือ และมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดูความเหมาะสมของกฎหมาย และประเด็นเพิ่มเติม ก่อนเสนอ ครม.