posttoday

ส.ส.ก้าวไกลเดินขบวนวันแรงงานแห่งชาติ ยื่นข้อเรียกร้องรัฐบาล

01 พฤษภาคม 2567

ส.ส.ก้าวไกล ร่วมเดินขบวนวันแรงงานแห่งชาติ ขึ้นค่าแรง 400 บาทบางพื้นที่ทำผู้ใช้แรงงานผิดหวัง ต้องดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็ก ควบคู่ปรับค่าแรงเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศได้ ด้านคณะผู้จัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ยื่น 10 ข้อเรียกร้องรัฐบาล

     นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายเซีย จำปาทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ดูแลปีกแรงงาน นำสหภาพแรงงานพรรคก้าวไกล เข้าร่วมเดินขบวนกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ และเนื่องในวันกรรมกรสากล เพื่อแสดงพลังเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการที่ดีของผู้ใช้แรงงาน

   โดยเริ่มเดินขบวน ตั้งแต่ แยก จปร. ถนนราชดำเดินนอก มายังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมทำกิจกรรมในการยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อต่อรัฐบาลร่วมกับคณะผู้จัดงานของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการเปิดงานช่วงหนึ่งบนรถขยายเสียง ระหว่างเคลื่อนขบวน นายชัยธวัช ได้ปราศรับด้วยคำถามว่า “รัฐบาลขึ้นค่าแรงกี่โมง”

     นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกถึงกรณีการปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลว่า วันนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ และเป็นวันกรรมกรสากล ที่ผู้ใช้แรงงานออกมารวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการที่ดี แต่น่าเสียดาย เพราะควรจะเป็นวันที่รัฐบาลน่าจะมีคำตอบที่ชัดเจน เรื่องการปรับขึ้นค่าแรง เพราะได้รอคอยรัฐบาลใหม่มา 7-8เดือนแล้ว ว่าจะมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องสิทธิแรงงาน สวัสดิการแรงงาน รวมถึงเรื่องค่าแรงอย่างไร และที่ผ่านมาก็ไม่มีความชัดเจน มีแต่โยนก้อนหินถามทางไปเรื่อยๆ

    ซึ่งที่มีกระแสข่าวว่าวันนี้จะมีของขวัญในการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400บาททั่วประเทศ แต่ล่าสุดรัฐมนตรีก็ออกมาปฏิเสธข่าว และดูเหมือนว่าจะยังไม่มีความชัดเจนแน่นอน ซึ่งสิ่งที่พี่น้องแรงงานกังวลคือจะความชัดเจนในการปรับขึ้นค่าแรงเท่าไรกันแน่ จะ400บาทแบบมีเงื่อนไขหรือไม่ เพราะการปรับขึ้นค่าแรง 400บาทบางส่วนนั้น โดยเฉพาะพื้นที่โรงแรม ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์อะไร และทำให้ผู้ใช้แรงงานผิดหวังจึงต้องการความชัดเจนจริงๆ และต้องยอมรับว่า กว่า10ปีแล้วที่ค่าครองชีพขึ้นเร็วมาก แต่ค่าแรงไม่ขึ้นตาม ซึ่งส่งผลกระทบดับเศรษฐกิตในประเทศ เมื่อคนทำงานมีค่าแรงไม่เพียงพอ กำลังซื้อก็ไม่เกิด 

    ทั้งนี้แม้จะมีความว่า การขึ้นค่าแรงอาจจะไปกระทบกับผู้ประกอบการ ทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งก็ต้องทำควบคู่กัน และต้องยอมรับว่า ประเทศไทยควรจะต้องขึ้นค่าแรงแล้ว จะมาคิดว่าประเทศไทยไม่สามารถไปแข่งขันหรือสู้เวียดนามไม่ได้เพราะค่าแรงแพงนั้น ทิศทางของประเทศไทยควรแข่งขันด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและทักษะแรงงาน รวมถึงการดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในช่วงเปลี่ยนผ่าน และหวังว่ารัฐบาลจะมีความชัดเจนมากกว่านี้

   นายชัยธวัช กล่าวว่า ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลผลักดัน และเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว คือร่างที่มีการเพิ่มวันลาคลอด180วัน ซึ่งเชื่อว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านและรัฐบาลน่าจะผลักดันให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านสภาได้ เพราะการลาคลอดเป็รส่วนหนึ่งที่สำคัญ ในการวางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ต้องการให้คนมีบุตรมากขึ้น ดังนั้นการให้ความสำคัญของสิทธิแม่และเด็กจะเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการกลัาจะมีบุตร

   ส่วนร่างกฎหมายอีกฉบับที่ยื่นต่อสภาฯแล้วคือ ร่างกฎหมายสหภาพแรงงาน เพื่อทดแทนกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ประกาศใช้มากว่า10ปีแล้ว ที่ต้องการให้เกิดการปรับปรุง เพื่อให้เกิดการรับรองสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน และเพิ่มกลไกในการแสวงหาข้อตกลงกับนายจ้างกับลูกจ้างให้เกิดความเป็นธรรมยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น

   นายเซีย จำปาทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล บอกด้วยว่า พรรคก้าวไกลมีประเด็นที่ขับเคลื่อน3ประเด็นหลัก คือ พรบ.คุ้มครองแรงงาน ลาคลอด 180 วัน เรื่องการรับรองอนุสัญญาไอโอ98 ว่าด้วยการต่อรองและพรบ.สหภาพแรงงานได้ยื่นต่อสภาแล้ว และคาดว่าจะเข้าสู่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเร็วๆนี้

   ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลรักษาสัญญาที่เคยสัญญาไว้ว่าจะดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานให้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ600บาททั่วประเทศ ทั้งนี้ก็ติดตามว่ารัฐบาล และกระทรวงแรงงานพูดและทำเหมือนกันหรือไม่ เพราะมีการพูดถึงมาโดยตลอด เรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงโดยเฉพาะ400บาท แต่ก็ปรับขึ้นแต่บางกลุ่มอาชีพเท่านั้น 10จังหวัด โดยเฉพาะสัดส่วนของโรงแรงทำให้เกิดปัญหา เพราะบางจังหวัดปรับขึ้นเฉพาะตำบล ไม่ครอบคลุม แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ จึงเรียกร้องถ้ามีการปรับค่าข้างขั้นต่ำจริง อยากให้ปรับเท่ากันทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะบางกลุ่มอาชีพ หรือบางสถานประกอบการเท่านั้น

    และมองว่าค่าแรง 400บาท ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ดังนั้นรัฐบาลต้องดูแลผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการปรับอัตราค่าข้างขั้นต่ำควบคู่กับการปรับสวัสดิการให้กับประชาชนควบคู่กันไป

     การทำกิจกรรมวันนี้ ประกอบไปด้วยเครือข่ายแรงงานจากกลุ่มต่างๆทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สภาองค์กรลูกจ้าง16สภา สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ภายใต้คณะกรรมการจัดการวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งวันนี้ ได้ยื่นข้อเรียกร้องวันแรงงาน ปี 2567 จำนวน 10 ข้อ ต่อรัฐบาล คือ 

     1.รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98  

     2.ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้ง กองทุนประกันความเสี่ยง “เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง

     3.ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น การปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท 

     4.ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน 

     5.ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1  

     6.ให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุ ให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 รวมถึงให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง 

     7.ให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว 

     8.ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็น “กรมความปลอดภัยแรงงาน” 

     9.ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาลเมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง 

      10.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน