posttoday

พาณิชย์แจงญี่ปุ่นตัดสิทธิ์จีเอสพี14สินค้าไทยกระทบน้อยมาก

25 เมษายน 2560

"พาณิชย์" ยันญี่ปุ่นตัดสิทธิ์จีเอสพีสินค้าไทย 14 รายการกระทบน้อยมาก เหตุผู้ส่งออกใช้สิทธิ์สินค้า 6,000 รายการภายใต้กรอบเอฟทีเอ

"พาณิชย์" ยันญี่ปุ่นตัดสิทธิ์จีเอสพีสินค้าไทย 14 รายการกระทบน้อยมาก เหตุผู้ส่งออกใช้สิทธิ์สินค้า 6,000 รายการภายใต้กรอบเอฟทีเอ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข่าวที่สร้างความตระหนกให้กับผู้ประกอบการของไทยในเรื่องที่ญี่ปุ่นจะทำการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ให้แก่ประเทศไทย และจะกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ขอยืนยันว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะขณะนี้ไทยมีการส่งออกไปยังญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิจีเอสพีน้อยมาก มีสินค้าเพียง 14 รายการที่ยังคงใช้สิทธิอยู่และมีมูลค่าประมาณ 17 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แต่การส่งออกไปญี่ปุ่นภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และอาเซียนญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งเปิดเสรีระหว่างกันประมาณ 10 ปี ครอบคลุมสินค้ากว่า 6,000 รายการ มีมูลค่าการใช้สิทธิภายใต้ JTEPA และ AJCEP สูงกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ทั้งนี้ สาเหตุที่มีการใช้สิทธิจีเอสพีน้อย เพราะผู้ส่งออกหันไปใช้สิทธิพิเศษในเขตการค้าเสรี JTEPA และ AJCEP  ซึ่งลดภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าจีเอสพีแทน ไม่ได้เกี่ยวกับข่าวที่ญี่ปุ่นจะทำการตัดสิทธิจีเอสพีไทยแต่อย่างใด และถึงแม้ญี่ปุ่นจะตัดสิทธิจีเอสพีที่ให้กับไทยในปี 2562 เป็นต้นไป กระทรวงฯได้ประเมินแล้วว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังญี่ปุ่น หรือมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากญี่ปุ่นตัดสิทธิจีเอสพีไทย มีสินค้าเพียง 6 รายการที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ซอร์บิทอล กาแฟคั่วที่แยกคาเฟอีนออกแล้ว เอทิลแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้แปรสภาพอื่นๆ ไม้พลายวู๊ดอื่นๆ ไม้ลามิเนต และไม้บล็อกบอร์ด ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการทยอยลดภาษีภายใต้กรอบความตกลง JTEPA และ AJCEP อยู่แล้ว และปัจจุบันสิทธิพิเศษอาจจะเท่ากับที่เคยได้รับสิทธิจีเอสพี โดยคงเหลือเพียงสินค้าซอร์บิทอลเท่านั้นที่ไม่ได้อยู่ในกรอบ JTEPA และ AJCEP

นางอภิรดี กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามความคืบหน้าและผลักดันนำสินค้าทั้ง 6 รายการข้างต้นเข้าไว้ในกลุ่มสินค้าที่จะเจรจาทบทวนใหม่ในรอบการทบทวนทั่วไป (General Review) ภายใต้ความตกลง JTEPA กับญี่ปุ่นที่จะมีขึ้นภายในปี 2560 นี้ เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการปรับเกณฑ์การตัดสิทธิจีเอสพี

“แม้ไทยจะถูกตัดสิทธิโครงการจีเอสพีญี่ปุ่นในปี 2562 แต่ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกไทย ยังคงสามารถใช้ประโยชน์ทางภาษีจากความตกลง JTEPA และ AJCEP ได้เหมือนเดิม โดยรายการสินค้าบางรายการที่อยู่ในกลุ่มที่จะถูกตัดสิทธิภายใต้ โครงการจีเอสพีญี่ปุ่น ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้สิทธิ ภายใต้ทั้ง 2 ความตกลงที่ไทยมีกับญี่ปุ่นได้”

สำหรับญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ให้สิทธิจีเอสพี ได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาตัดสิทธิจีเอสพีกับประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper Middle Income Country) ระยะเวลา 3 ปีติดต่อกัน ระหว่างปี 2556-2558 และมีมูลค่าการส่งออกไปทั่วโลก มีสัดส่วนมากกว่า 1%  ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา และในระหว่างปี 2556 มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปทั่วโลกมีสัดส่วน  1.21% ปี 2557 สัดส่วน 1.20% และปี 2558 สัดส่วน 1.29% แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มที่พัฒนาและมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น ส่งผลให้ญี่ปุ่นตัดสิทธิจีเอสพีที่เคยให้กับไทยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป