posttoday

สมอ.จ่อออกมาตรฐานบังคับ "พาวเวอร์แบงก์" หลังพบสินค้าไม่มีคุณภาพ

12 กันยายน 2559

สมอ.เตรียมประกาศมาตรการบังคับพาวเวอร์แบงก์-เครื่องปั่นผสม หลังพบสินค้าไม่ได้มาตรฐาน

สมอ.เตรียมประกาศมาตรการบังคับพาวเวอร์แบงก์-เครื่องปั่นผสม หลังพบสินค้าไม่ได้มาตรฐาน

นางเบญจมาพร เอกฉัตร์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ภายในปี 2560 สมอ.จะพิจารณาเพื่อประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ภาคบังคับสินค้าหลายชนิด เช่น อุปกรณ์จ่ายไฟแบบพกพาสำหรับโทรศัพท์มือถือ (พาวเวอร์แบงก์) เครื่องสกัดน้ำผลไม้ เครื่องปั่นผสม เครื่องผสมอาหาร เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคใช้อย่างแพร่หลายในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ยังมีสินค้าหลายยี่ห้อไม่ได้มาตรฐาน เกิดเหตุระเบิดหลายครั้ง และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค

ทั้งนี้ หากสินค้าใดเป็นสินค้า มอก.ภาคบังคับแล้ว ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย จะต้องผลิต นำเข้าและจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐาน

“สมอ.เคยมีแผนจัดทำเครื่องครัวที่ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดเป็นมาตรฐานบังคับ แต่ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ฉบับเดิม ไม่เปิดช่องให้ทำได้ แต่หลังจากแก้ไข พ.ร.บ.แล้ว สมอ.สามารถคัดเลือกสินค้าบางตัวมาประกาศเป็น มอก.ภาคบังคับได้” นางเบญจมาพร กล่าว

นายธวัช ผลความดี เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้ว จะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น และสอดรับกับ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 โดยมีการลดขั้นตอนให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เช่น มาตรา 17 ที่ให้การประกาศมาตรฐานบังคับเปลี่ยนจากการตราพระราชกฤษฎีกา ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน แก้ไขเป็นประกาศกระทรวงโดยอาศัยอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ใช้เวลาภายใน 30 วัน แต่ยังคงต้องทำประชาพิจารณ์กับผู้เกี่ยวข้องอยู่ ส่งผลให้ขั้นตอนการประกาศมาตรฐานบังคับเหลือ 180 วัน นับตั้งแต่เริ่มกำหนดมาตรฐานจนถึงขั้นตอนการประกาศ จากเดิมใช้เวลากว่า 300 วัน

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ยังกำหนด สมอ.มอบอำนาจการอนุญาตให้กับผู้ตรวจสอบ (ไอบี) และห้องปฏิบัติการทดสอบ (แล็บ) ได้ทันที จากเดิมเป็นอำนาจของ รมว.อุตสาหกรรม และร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ยังได้แก้ไขกรณีการนำเข้าสินค้าจากเดิมนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร แก้ไขเป็นนำเข้ามาเพื่อประโยชน์ทางการค้า เพื่อลดการใช้ดุลพินิจกรณีนำเข้ามาใช้เอง และได้แก้ไขให้การนำผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับเข้ามาเป็นวัตถุดิบ หรือประกอบกับผลิตภัณฑ์อื่นแล้วส่งออกได้ทั้งหมด ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตแต่ต้องแจ้ง สมอ.ก่อนนำเข้า จากเดิมไม่มีการกำหนด เพื่อลดขั้นตอนการขออนุญาต