posttoday

ผุดรถไฟเลี่ยงเมืองแหลมฉบัง

09 สิงหาคม 2559

คมนาคมดึงไจก้าศึกษาแนวทางสร้างเส้นทางรถไฟเลี่ยงเมืองขนสินค้าจากภาคเหนือ-ท่าเรือแหลมฉบัง

คมนาคมดึงไจก้าศึกษาแนวทางสร้างเส้นทางรถไฟเลี่ยงเมืองขนสินค้าจากภาคเหนือ-ท่าเรือแหลมฉบัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังตัวแทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เข้าพบ ว่า ฝ่ายไทยได้ขอให้ไจก้าเข้ามาศึกษาแนวทางการขนส่งสินค้าจากภาคเหนือลงมายังท่าเรือแหลมฉบัง โดยไม่ต้องผ่านสถานีบางซื่อที่กรุงเทพฯ และไทยยังได้ขอให้ไจก้าเข้ามาช่วยศึกษาแนวการจัดตั้งสถานีบรรจุและแยกสินค้า (ไอซีดี) ขนาดเล็กที่บริเวณสถานีรถไฟชุมทางบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา รูปแบบการลงทุนและแนวทางบริหารจัดการ ซึ่งเบื้องต้นอาจมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทจากญี่ปุ่น 2 บริษัทเข้าดำเนินการ คือ 1.บริษัทเกี่ยวกับการตลาดและหาลูกค้า และ 2.บริษัทบริหารการยกตู้คอนเทนเนอร์กับบริหารไอซีดี

“การขนส่งสินค้าทางรถไฟจากทางภาคเหนือเข้าท่าเรือแหลมฉบัง ตามปกติต้องผ่านมายังสถานีบางซื่อ แต่ต่อไปลดการขนส่งสินค้าเหล่านั้นเข้ามาทางกลางเมือง ฝ่ายไทยจึงขอให้ญี่ปุ่นศึกษาทำเส้นทางรถไฟบายพาสสายใหม่ระยะทาง 50 กิโลเมตร จากเชียงรากน้อยออกไปทางคลอง 21 จ.นครนายก แล้วเลี้ยวออกไปทางท่าเรือแหลมฉบังได้เลย โดยจะทำให้การขนส่งสินค้าที่มาจากภาคเหนือไปยังท่าเรือแหลมฉบังโดยไม่ต้องเข้ามากรุงเทพฯ ซึ่งทางไจก้าจะศึกษาและรายงานผลให้ทราบภายในเดือนต.ค.นี้” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวว่า ยังได้มีการหารือเรื่องความคืบหน้าในการปรับปรุงการให้บริการการขนส่งสินค้าทางรถไฟเส้นกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง, กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองขนส่งคอนเทนเนอร์ขนาด 12 ฟุต จากชุมทางหนองปลาดุกไปยังสถานีชุมทางบางซื่อ เพราะปัจจุบันเอกชนไทยสนใจ
จะใช้เส้นทางดังกล่าวเช่นกัน แต่จะใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 10 ฟุต เนื่องจากเหมาะสมกับธุรกิจเอสเอ็มอี โดยจะลูกค้าทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลี และจีน

“ญี่ปุ่นเสนอว่าการเชื่อมเส้นทางรถไฟระหว่างเซาเทิร์นคอริดอร์จากกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง, กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ น่าจะมีไอซีดีสัก 2 แห่ง คือ เชียงรากน้อย และอมตะนคร เพราะเมื่อพิจารณาจากปริมาณผู้ที่ต้องการขนส่งสินค้าหรือลูกค้าเป็นหลัก จะพบว่าพื้นที่ทั้งสองแห่งจะต้องเป็นแหล่งที่สามารถรวบรวมตู้คอนเทนเนอร์ได้ แต่การเชื่อมโยงและขนส่งสินค้าเข้ามาในเมืองต้องยอมรับว่ายังคงมีความจำเป็นที่ต้องให้รถบรรทุกขนาดเล็กทำหน้าที่ในการขนส่งสินค้า” นายอาคม กล่าว