posttoday

รฟม.จ้างพิเศษสร้างทางเชื่อมท่าเรือ-สถานีรถไฟฟ้าสีม่วง

21 มีนาคม 2559

รฟม.ทุ่มสร้างทางเชื่อมต่อจากท่าเรือพระนั่งเกล้าไปขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วง ใช้ทางลัดจ้างซิโน-ไทย

รฟม.ทุ่มสร้างทางเชื่อมต่อจากท่าเรือพระนั่งเกล้าไปขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วง ใช้ทางลัดจ้างซิโน-ไทย

นายวิทยา พันธุ์มงคล ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟม.กำลังเร่งพัฒนาเชื่อมต่อการเดินทางในทุกระบบขนส่งสาธารณะให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบรางของรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ที่มีกำหนดจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน ส.ค. 2559 โดยเฉพาะการเชื่อมต่อทางรางบริเวณสถานีพระนั่งเกล้า ไปยังทางน้ำบริเวณท่าเรือพระนั่งเกล้า ซึ่งเป็นท่าเรือที่ รฟม.จะจัดสร้างขึ้น โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเงินกู้ 99 ล้านบาท ให้ รฟม.นำไปจัดสร้างทางเดินเชื่อมจากสถานีไปยังท่าเรือแล้ว

นายวิทยา กล่าวว่า การสร้างทางเดินเชื่อมและท่าเรือพระนั่งเกล้า จะสามารถก่อสร้างเสร็จและใช้งานได้เร็วขึ้นในช่วงกลางเดือน เม.ย.นี้ โดยจะเสนอให้คณะกรรมการ รฟม.ใช้วิธีพิเศษในการจัดจ้างหาผู้ดำเนินการก่อสร้าง โดยจะเสนอให้มีการว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ซึ่งเป็นคู่สัญญารายเดิมที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงในช่วงดังกล่าวทำการก่อสร้างต่อเนื่องไปทันทีแบบไม่ต้องเปิดประมูลหาผู้ก่อสร้างรายใหม่ เนื่องจากรู้ระบบการเชื่อมต่ออยู่แล้ว

ทั้งนี้ หากคณะกรรมการมีมติเห็นชอบ รฟม.จะเร่งเจรจาตรงกับบริษัท ซิโน-ไทย เพื่อต่อรองราคาและลงนามสัญญาต่อไป คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2559 ใช้เวลาก่อสร้าง 12-13 เดือน และจะแล้วเสร็จในกลางปี 2560

นายวิทยา กล่าวอีกว่า สำหรับการบริหารการเดินเรือบริเวณท่าเรือพระนั่งเกล้า ขณะนี้บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา ได้เข้ามาเสนอขอเป็นผู้บริหารการเดินเรือ ซึ่ง รฟม.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้แล้ว โดยเฉพาะข้อกฎหมายว่าจะสามารถใช้วิธีพิเศษในการว่าจ้างให้เรือด่วนเข้ามาดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร คาดว่าภายในเดือน พ.ค. จะนำเสนอแนวทางให้คณะกรรมการพิจารณาตัดสินใจได้

“เดือน ส.ค.จะเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้ ส่วนท่าเรือนั้น ถ้าบอร์ดอนุมัติให้ใช้วิธีพิเศษจ้างรายเดิมก่อสร้างทางเชื่อม ก่อสร้างท่าเรือ และจ้างเรือด่วนเจ้าพระยาเข้ามาเดินเรือ คาดว่าปลายปีนี้น่าจะเปิดเดินเรือท่าเรือพระนั่งเกล้าเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้เลย แต่อาจจะยังไม่สมบูรณ์ 100% เพราะทางเดินเชื่อมจะสร้างเสร็จสมบูรณ์กลางปีหน้า แต่เนื่องจากเป็นทางเชื่อมระดับดิน ประชาชนจะสามารถใช้ทางเดินได้ก่อนบางส่วน” นายวิทยา กล่าว

นายวิทยา กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาเชิงพาณิชย์บริเวณรอบสถานีพระนั่งเกล้าว่า รฟม.จำเป็นต้องเปิดพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เนื่องจากเงินที่ใช้ในการก่อสร้างทางเดินเชื่อมบริเวณสถานีเป็นเงินกู้ที่มีภาระดอกเบี้ย ดังนั้น รฟม.จำเป็นต้องหารายได้มาชดเชยภาระดอกเบี้ยด้วย ในเบื้องต้นจะนำพื้นที่เลียบทางเดินเชื่อมซึ่งมีระยะทางรวมประมาณ 100 เมตร ออกให้เช่าจำนวนประมาณ 5-6 คูหา ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้คณะกรรมการพิจารณา

น.ต.เจริญพร เจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา กล่าวว่า บริษัทได้เจรจากับ รฟม.ขอเข้าบริหารท่าเรือพระนั่งเกล้า โดยบริษัทมีความพร้อมที่จะเข้ามาลงทุน เพื่อติดตั้งระบบการบริหารการเดินเรือ เช่น ติดตั้งระบบตั๋วอัตโนมัติ ระบบการจัดเก็บเงิน ป้ายอัจฉริยะบอกระยะเวลารอเรือ ระยะเวลาเรือออก เรือเข้า

ทั้งนี้ หาก รฟม.เห็นชอบ บริษัทจะต้องเสนอกรมเจ้าท่า เพื่อขอเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ 1 เส้นทาง จากปากเกร็ด-พระนั่งเกล้า-พระราม 7 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ปลายปีนี้ โดยขณะนี้บริษัทมีเรืออยู่ทั้งหมด 60 ลำ เพียงพอรองรับผู้โดยสาร ซึ่งคาดว่าช่วงแรกจะไม่ต่ำกว่าวันละ 5,000 คน โดยให้บริการทุก 10 นาที/เที่ยว