posttoday

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ วางเป้า ‘เสิ่นเจิ้น’ แห่งกัมพูชา

15 มิถุนายน 2560

การพัฒนาเศรษฐกิจภายในกลุ่มประเทศต่างๆ ในอาเซียน ที่ต่างหันมาใช้นโยบายผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจ

โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล

การพัฒนาเศรษฐกิจภายในกลุ่มประเทศต่างๆ ในอาเซียน ที่ต่างหันมาใช้นโยบายผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ที่หวังใช้เป็นเครื่องมือหลักดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ

พนมเปญโพสต์ เผยบทสัมภาษณ์พิเศษ เกา เจียนจัง ผู้จัดการทั่วไปเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ หรือ SSEZ (Sihanoukville Special Economic Zone) ถึงความคืบหน้าโครงการที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ ที่กัมพูชามองว่าจะเป็นตัวเชื่อมการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญร่วมกันกับจีนนับจากนี้

เกา กล่าวว่า SSEZ พัฒนาขึ้นเมื่อปี 2551 ถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ทั้งด้านขนาดและการเข้ามาจับจองของนักลงทุน ด้วยพื้นที่ครอบคลุม 1,113 เฮกตาร์ พร้อมด้วยผู้เช่าพื้นที่ราว 100 ราย และแรงงานกว่า 1.6 หมื่นอัตรา ที่ถูกพัฒนาและบริหารจัดการ โดย เจียงสุ ไตหู คัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล อีโคโนมิก โคโอเปอเรชั่น อินเวสต์เมนต์ และคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสต์เมนต์ กรุ๊ป (ซีไอไอดีจี) สวนอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเสาหลักของความร่วมมือระหว่างจีนกับกัมพูชา

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงสร้างและสาธารณูปโภคที่พัฒนาขึ้นภายใน SSEZ ในปัจจุบันมีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 11.13 ตารางกิโลเมตร ทั้งถนน ระบบไฟฟ้า ประปา การติดต่อสื่อสาร และเส้นทางบำบัดน้ำเสีย ที่ก่อสร้างขึ้นภายในครอบคลุมบริเวณกว่า 5 ตารางกิโลเมตร
สำหรับการสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสียนั้น มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 5,000 ตัน/วัน รองรับสำนักงาน ที่อยู่อาศัย ร้านอาหาร วัฒนธรรม ศูนย์ความบันเทิง และบริการต่างๆ ที่ถูกรวบรวมเข้าภายในศูนย์กลางให้บริการ นอกจากนี้ยังมีที่พักสำหรับพนักงานตลาดและสิ่งอำนวยความสะดวกการดำเนินชีวิต ขณะเดียวกันยังมีศูนย์บริหารราชการแบบครบวงจรที่ช่วยในการจัดตั้งตลาดแรงงานด้วย

ขณะที่ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการนักลงทุนที่ลงนามเซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ใน SSEZ ราว 109 ราย โดยธุรกิจ 92 ราย ได้เริ่มดำเนินการแล้ว และมีผู้ประกอบการบางรายอยู่ระหว่างการเริ่มต้น มีธุรกิจ 5 ราย อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสายการผลิตได้ภายในปีนี้ โดย 94 รายเป็นนักลงทุนจากจีน 12 รายมาจากสหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ และอย่างน้อยอีก 3 ราย เป็นกิจการท้องถิ่นกัมพูชาที่เข้ามาลงทุน และมีแรงงานราว 1.6 หมื่นรายที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ นอกจากนี้ยังมีศูนย์ฝึกอบรมรองรับบุคลากรได้กว่า 1 หมื่นราย เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ และคอร์สเรียนภาษาด้วย

เกา กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ได้ก่อสร้างขึ้นก่อนที่จะเปิดตัวโครงการวันเบลต์วันโรดของจีน ซึ่งได้นำมาสู่โอกาสมากมายในการพัฒนาธุรกิจต่างๆ ที่ช่วยให้ SSEZ พัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน จีนและกัมพูชายังได้ประโยชน์เชิงลึกร่วมกันทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา และพื้นที่งานโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างความพึงพอใจให้กับสภาพแวดล้อมในเขตเศรษฐกิจแห่งนี้

นอกจากนี้ การพัฒนา SSEZ ยังได้ริเริ่มแพลตฟอร์มเพื่อการมีส่วนร่วมระหว่างจีนและกัมพูชาด้วยจีนนั้นได้เข้าสู่อุตสาหกรรมในระยะเติบโตเต็มที่แล้ว ทั้งด้านจำนวนผู้แข่งขันในอุตสาหกรรมและความสามารถในการผลิตที่แข็งแกร่งและมีขนาดใหญ่ ขณะที่กัมพูชาอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาเศรษฐกิจและอยู่ระหว่างการส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างที่เห็นในปัจจุบันจากนโยบายด้านอุตสาหกรรมกัมพูชา ระหว่างปี 2558-2568 ซึ่งเป็นการเริ่มแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของกัมพูชาที่มีต่อนักลงทุนต่างชาติและเม็ดเงินลงทุน โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี

ขณะที่ SSEZ ยังให้การสนับสนุนบริษัทต่างๆ ของจีนขยายธุรกิจในประเทศและตอบสนองความต้องการของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งนี้สร้างความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันกับทั้งสองประเทศ ภายใต้แนวคิด One Belt One Road

สำหรับแหล่งรายได้หลักของ SSEZ นั้นมาจากการเช่าที่ดิน การเช่าโรงงาน และการจัดการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ โดยบริษัทมักจะเช่าที่ดินอุตสาหกรรม มีสัญญาระหว่าง 30-50 ปี โดยในช่วงเริ่มต้น SSEZ มีผู้เช่า 20 หรือ 30 รายที่เช่าโรงงาน เนื่องจากไม่ต้องการใช้ความเสี่ยงมากนัก แต่หลังจากนั้นผู้ประกอบการได้เช่าที่ดินและสร้างอาคารของตัวเอง

เกา กล่าวว่า SSEZ วางเป้หมายมีผู้ประกอบการกิจการราว 300 รายที่เข้ามาอยู่ในเขตเศรษฐกิจแห่งนี้ ที่พร้อมอำนวยความสะดวกสบายทั้งด้านแรงงานและที่พักอยู่อาศัยได้ราว 8 หมื่น-1 แสนราย โดย SSEZ จะเร่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งที่จะเป็น “เสิ่นเจิ้น” ของกัมพูชา