posttoday

ที.เอ็ม.เค.ฟู้ด ต่อยอดตลาดกัมพูชา

28 กุมภาพันธ์ 2560

ธุรกิจท้องถิ่น ที่ใช้ประสบการณ์ ความชำนาญ และสายสัมพันธ์ทางการค้ามาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น ที่ต่อยอดให้ขยายไปยังธุรกิจใหม่ในตลาดต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

 

โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล

ธุรกิจท้องถิ่น ที่ใช้ประสบการณ์ ความชำนาญ และสายสัมพันธ์ทางการค้ามาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น ที่ต่อยอดให้ขยายไปยังธุรกิจใหม่ในตลาดต่างประเทศได้เป็นอย่างดี 

จตุพัฒน์ ฤกษ์สหกุล หุ้นส่วน ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.เอ็ม.เค.ฟู้ด เล่าว่าธุรกิจเริ่มจดทะเบียนในปี 2555 โดยทำตลาดสินค้าท้องถิ่นที่มีความทันสมัยใน จ.ตราด เช่น กลุ่มผลไม้ อาหารทะเลแปรรูป ประเภทต่างๆ พร้อมพัฒนาสินค้าของฝากของที่ระลึกที่มีบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมมาออกแบบใหม่ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมด้านอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าและดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ภายใต้ตราสินค้าของตัวเอง มิสเตอร์ซี (Mr.Sea)

สำหรับสินค้าภายใต้แบรนด์ดังกล่าว มี 3 รายการ คือ ปลาแอนโชวี่อบกรอบ รสชาติดั้งเดิม (คลาสสิก) รสชาติฮอตแอนด์สไปซี่ และปลาเกล็ดขาว รสชาติคลาสสิค พร้อมเริ่มพัฒนาสินค้ารายการใหม่ๆ ออกมา ในกลุ่มผลไม้แปรรูป อย่างทุเรียนทอด หรือทอฟฟี่ผลไม้ เป็นต้น  โดยใช้ชื่อแบรนด์ เอ็นวาย สแน็ค (NY Snack)

“หลักธุรกิจ คือ ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในจังหวัดที่มีอยู่นำมาแปรรูปและใส่นวัตกรรมเข้าไปเพื่อสร้างความแตกต่างไปจากสินค้าประเภทเดียวกัน อย่างปัจจุบันทอฟฟี่ผลไม้ มี 5 ตัว คือ รสทุเรียน มังคุด กะทิ ถั่ว และมะม่วง จำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 5 สาขาในภูมิภาค” จตุพัฒน์ เสริม

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สินค้าสัดส่วนกว่า 50% ยังเข้าไปจำหน่ายประเทศต่างๆ ในอาเซียน ทั้งเวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย รวมถึงในเอเชีย ฮ่องกง และเกาหลีใต้ โดยแต่ละประเทศมีช่องทางการเข้าตลาดที่แตกต่างกัน เช่น กัมพูชา ผ่านตัวแทนกระจายสินค้า (ดิสตริบิวชั่น) ที่มีศักยภาพสูงสามารถนำสินค้าเข้าไปทำตลาดได้ในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ อิออน และลัคกี้ ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น ทำให้ผู้บริโภคท้องถิ่นเข้าถึงสินค้าแบรนด์ต่างๆ ของ ที.เอ็ม.เค.ฟู้ด ได้เป็นอย่างดี

 อย่างไรก็ตาม การทำตลาดสินค้า สแน็คในอาเซียน ค่อนข้างแข่งขันสูงในปัจจุบัน จากการตัดราคาสินค้า เช่น สิงคโปร์ จะมีปัญหาด้านแพ็เกจจิ้งไพรส์ จากตัวสินค้าที่วางจำหน่ายมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสินค้ากลุ่มเดียวกันที่ทดแทนกันได้ ทำให้กิจการต้องหันมาบริหารจัดการต้นทุนการผลิตสินค้าใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มียอดขายจากต่างประเทศลดลง ปัจจุบันมีสัดส่วน 10% 

จากแนวโน้มดังกล่าว ในปีนี้ได้มีบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศมากขึ้น พร้อมปรับแพ็เกจจิ้งสินค้าเพื่อทำตลาดในเกาหลี เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับตัวผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่ใช้มากขึ้น และขยายตลาดใหม่อย่างญี่ปุ่น ด้วย

จตุพัฒน์ เสริมว่าก่อนเข้ามาทำธุรกิจกลุ่มอาหารดังกล่าว ตัวเขาเองได้ช่วยกิจการครอบครัวด้านวัสดุก่อสร้างที่คุณพ่อเข้ามาริเริ่มตั้งแต่ปี 2526 โดยทำการค้าส่งสินค้าวัสดุก่อสร้างต่างๆ เช่น ปูนซีเมนต์ ผ่านชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา ด้วย จ.ตราด มีเส้นทางที่เชื่อมต่อกับจังหวัดโพธิสัตว์ ทำให้มีความคุ้นเคยและสายสัมพันธ์ (คอนเน็กชั่น) กับนักธุรกิจท้องถิ่นกัมพูชาได้ระดับหนึ่ง ต่อยอดให้ตัวเขาเองสามารถขยายธุรกิจอื่นๆ  อย่างการส่งออกอาหารทะเลแห้ง ที่เพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าสแน็คได้ในที่สุด

พร้อมเสริมอีกว่า ในอนาคตการค้าผ่านชายแดนระหว่าง จ.ตราด และ จังหวัดโพธิสัตว์ คาดจะมีความคึกคักอีกมากขึ้นจากโอกาสทางการสินค้าอีกหลายกลุ่มที่จะเติบโต ด้วยมีการพัฒนาเส้นทางอย่างถนนที่เข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดโพธิสัตว์ได้อย่างสะดวกขึ้น โดยเส้นทางสายนี้มีระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร คาดจะแล้วเสร็จภายในปี 2560 

โดยคาดว่าจะได้เห็นการลงทุนใหม่จากธุรกิจทั้งสองฝั่งตามมา โดย ที.เอ็ม.เค.ฟู้ด วางแผนขยายธุรกิจกลุ่มอาหารรูปแบบหน้าร้านภายใต้แนวคิด ฟาร์ม เอาต์เล็ต เป็นแห่งแรกใน จ.ตราด เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าใหม่ในอนาคต โดยในปีนี้กลุ่มธุรกิจอาหารคาดจะเติบโต 20-30%

ส่วนกลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างในกัมพูชา คาดโตประมาณ 30-40%