posttoday

อุดรฯเสนอตั้งสถานีรถไฟที่‘หนองแด’ เอื้อยุทธศาสตร์คอนเทนเนอร์ยาร์ด

08 กันยายน 2558

ผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

โดย...ยุทธพงษ์ กำหนดแน่

ผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ข้อสรุปว่า แนวเส้นทางรถไฟทางคู่ความเร็วปานกลางช่วงที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย นั้นจะขนานไปกับรางเก่า โดยตัวสถานีตลอดเส้นทางมีเพียง 6 จุด ประกอบด้วย นครราชสีมา บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ซึ่งการสร้างสถานีนั้นจะเตรียมรองรับการพัฒนาเป็นรถไฟความเร็วสูงในอนาคต

จ.อุดรธานี นั้นได้เตรียมพร้อมรองรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นหลังการเปิดใช้เส้นทางรถไฟสายนี้

ณรงค์ พลละเอียด รักษาการ ผวจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า อุดรธานีได้เสนอให้สร้างสถานีรถไฟที่ “หนองแด” ริมถนนอุดรธานี-หนองคาย เพราะเห็นว่ามีพื้นที่จำนวนมาก ไม่ไกลจากตัวเมืองอุดรธานี และรองรับแผนพัฒนาหนองแด เป็นที่ตั้งศูนย์ประชุมภูมิภาค ศูนย์วัฒนธรรมและสนามกีฬา แต่เมื่อ สนข.ยืนยันจะใช้บริเวณสถานีเดิมในตัวเมือง ที่ประชุมยอมรับฟังเหตุผลไม่คัดค้าน แต่ขอให้เสนอไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการศึกษารถไฟทางคู่ราง 1 เมตร ให้สร้างสถานีย่อยที่หนองแด เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต“เมื่อสถานีรถไฟทั้งทางคู่มาตรฐานและทางคู่ 1 เมตร มารวมอยู่บริเวณสถานีเดิม ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองอุดรธานี มีศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ตลาด และชุมชนเมือง ซึ่งมีปัญหาด้านการจราจรอยู่แล้ว ก็เห็นควรว่าทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน วางแผนรองรับการจราจรในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องของระบบขนส่งมวลชนที่ขณะนี้ก็มีอยู่หลายรูปแบบ ให้สามารถนำผู้โดยสารเดินทางมา และออกไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว ไม่ใช่ต้องเดินทางมาด้วยรถส่วนตัว หรือรถรับจ้างเท่านั้น รวมทั้งระบบโครงข่ายถนนรอบนอก” รักษาการ ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า จะขอให้ สนข.ศึกษาเพิ่มเติม จัดทำแผนแม่บทการจราจรเมืองอุดรธานี รองรับการสร้างสถานีรถไฟในเมือง ซึ่งในพื้นที่ จ.ขอนแก่น สนข.ก็ทำการศึกษาเช่นกัน

“จ.อุดรธานี มีแผนจะย้ายการรับส่งสินค้าออกไปที่สถานีรถไฟหนองตะไก้ ต.โนนสูง อ.เมือง โดยมีพื้นที่และสร้างเป็น ‘คอนเทนเนอร์ยาร์ด’ ซึ่งปัจจุบันมีการขนส่งยางแท่งด้วยรถไฟไปยังท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรม ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกอยู่แล้ว”

การขับเคลื่อนในเรื่องสถานที่ จุดที่ตั้งสถานีนั้นคงยังมีต่อไป แน่นอนว่า การกำหนดจุดที่แน่นอนย่อมมีผลในหลายด้าน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคิดให้รอบคอบคือประโยชน์สูงสุดในการพัฒนา