posttoday

"วิชาสู้โจรด้วยมือเปล่า" เมื่อคนธรรมดาแห่เรียนศิลปะป้องกันตัว

25 กันยายน 2559

เมื่อสังคมอยู่ยาก หลายคนหันไปเรียน"วิชาต่อสู้ป้องกันตัว" หวังพึ่งตัวเองในยามคับขัน

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล ภาพ...วิศิษฐ แถมเงิน / เฟซบุ๊ก JDT Joe Defensive Tactics

"สังคมอยู่ยากขึ้นทุกวัน"

ประโยคนี้กำลังเป็นวลีฮิตติดปาก วัดได้จากข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นรายวัน ไม่ว่าจะตีรันฟันแทง ฉกชิงวิ่งราว ปล้นฆ่าข่มขืน แม้กระทั่งขับรถปาดหน้ากันก็อาจทะเลาะวิวาทถึงขั้นเสียชีวิตได้ง่ายๆ 

สอดคล้องกับสถิติคดีอาชญากรรมปี 2558 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า คดีอาญาที่พุ่งสูงขึ้นกว่าปีก่อน ประกอบด้วยทะเลาะวิวาทฆ่ากันตาย ข่มขืนกระทำชำเรา ลักทรัพย์และชิงทรัพย์ มีมากกว่า 103,164 คดี

ท่ามกลางความหวาดหวั่นในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลให้คนกลุ่มหนึ่งหันมาเรียนวิชาศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เพื่อช่วยเหลือตัวเองในสถานการณ์คับขัน

กระแสเรียนต่อสู้ป้องกันตัวฟีเวอร์ รับมือสังคมอยู่ยาก

คลาสเรียนศิลปะต่อสู้ป้องกันตัวที่กำลังได้รับการกล่าวขวัญถึงในขณะนี้หนีไม่พ้น เจดีที (JDT:Joe Defensive Tactics) ทีมครูฝึกสอนผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดอบรมการต่อสู้ระยะประชิดให้แก่หน่วยงานทหาร ตำรวจ องค์กรภาครัฐ และบริษัทเอกชนมานานกว่า 18 ปี 

ประวัติผลงานที่ผ่านมานับว่าไม่ธรรมดา ตั้งแต่ฝึกอบรมการต่อสู้ระยะประชิด การใช้มือเปล่า และการใช้อาวุธให้แก่กองพันรบพิเศษที่ 1 ค่ายสิชล ,กองพันรบพิเศษที่ 1 พลร่มป่าหวาย ลพบุรี ,กองพันรบพิเศษที่ 1 กรมรบพิเศษที่ 5 เชียงใหม่ ,กองบังคับการตำรวจสันติบาล ,กรมสอบสวนคดีพิเศษ ฯลฯ ขณะเดียวกันยังเป็นวิทยากรให้บริษัทเอกชนชื่อดัง เช่น หลักสูตรระวังป้องกันภัยสำหรับผู้ใช้รถ บริษัทเมืองไทยประกันภัย หลักสูตรป้องกันระวังภัยสำหรับผู้หญิงให้แก่พนักงานคอลเซนเตอร์ บริษัทกรุงศรีแคลปิทอล ,พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัทการบินไทย รวมทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยหัวเฉียว เป็นต้น 

"เดิมทีสอนเฉพาะในหมู่เจ้าหน้าที่ทหารรบพิเศษ ชุดอารักขาผู้นำประเทศ ตำรวจชุดจู่โจม ต่อมาได้ขยายไปยังบริษัทห้างร้านต่างๆ กระทั่งมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งถามว่า ‘ทำไมไม่สอนให้พลเรือนบ้าง การสอนให้คนดีติดอาวุธทางความคิดก็มีส่วนช่วยทางการได้เหมือนกัน’ ประโยคนี้ทำให้เรามีความคิดที่จะเปิดสอนให้แก่คนทั่วไปที่ต้องการความปลอดภัยในชีวิต

ผู้ที่สนใจมาสมัครแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ชื่นชอบศิลปะการต่อสู้เป็นทุนเดิม อยากออกกำลังกาย แถมได้วิชาความรู้กลับไปด้วย 2.ความจำเป็นบีบบังคับ ลูกศิษย์หลายคนเป็นผู้หญิง บางคนถูกแฟนทำร้าย มีอยู่คนหนึ่งมีประสบการณ์เกือบถูกข่มขืน ครั้งแรกโชคดีมีประจำเดือน ครั้งที่สองพกมีดไปด้วยเลยรอดตัว แต่ครั้งที่สามล่ะจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครหรอกรู้ว่าภัยจะเกิดขึ้นกับตัวเราเมื่อไหร่ ดังนั้นจึงมาสมัครเรียนเพื่อความปลอดภัยของชีวิต"

คำกล่าวของ ครูโจ้-กิตติเชษฐ์ มายะการ ผู้ก่อตั้งบริษัท เจดีที เรียลลิตี้ เบส เซลฟ์ ดีเฟ้นส์ จำกัด หรือทีมเจดีที (JDT:Joe Defensive Tactics)

"วิชาสู้โจรด้วยมือเปล่า" เมื่อคนธรรมดาแห่เรียนศิลปะป้องกันตัว ครูโจ้-กิตติเชษฐ์ มายะการ ผู้ก่อตั้งบริษัท เจดีที เรียลลิตี้ เบส เซลฟ์ ดีเฟ้นส์ จำกัด หรือทีมเจดีที (JDT:Joe Defensive Tactics)

หัวใจของหลักสูตรวิชาต่อสู้ป้องกันตัว เป็นการฝึกฝนทักษะร่างกายและเผชิญสถานการณ์จำลอง เพื่อเป็นต้นทุนไว้ใช้แก้ปัญหาเมื่อเกิดเหตุขึ้น ตรงนี้เองมีส่วนสำคัญทำให้ผู้เรียนระมัดระวังตัวมากขึ้น มีสติในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งยังสามารถหลีกเลี่ยงเอาตัวรอดจากสถานการณ์รุนแรงได้ 

พูดง่ายๆ ถึงคราวคับขันไม่ยืนแข็งทื่ออย่างที่เคยเป็นมาแน่นอน

"คลาสเราไม่มีหลักสูตรตายตัว จัดการเรียนการสอนตามความต้องการของผู้เรียน คนมาสมัครมีตั้งแต่อายุ 7 ขวบจนถึง 58 ปี บางคนมาเรียนเพราะถูกรังแก บางคนอ่านข่าวแล้วกลัวเกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น ลักจี้ชิงปล้น ข่มขืน เราสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยภาคทฤษฎีจะเน้นการบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับการระวังภัยในรูปแบบต่างๆ เช่น ฝึกการสังเกตระวังภัย ฝึกประเมินความเสี่ยง วิธีหาทางออกภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ 

ภาคปฏิบัติจะฝึกแก้ปัญหาจากสถานการณ์จำลอง เช่น ทำอย่างไรหากถูกมัดมือ ฉุดแขน ล็อคคอ จิกผม ถูกคนร้ายเอามีดจี้ ปืนจ่อ ส่วนการต่อสู้ป้องกันตัว มีทั้งเทคนิคการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เช่น การใช้ท่อนแขน กระแทก ทุบ ตบ ศอก ปัดป้อง บล็อค รวมถึงการประยุกต์ใช้ของที่มีอยู่รอบตัวให้เป็นอาวุธ เช่น ปากกา ขวดน้ำ ร่ม หนังสือ เรียกว่าเป็นการฝึกแบบ ‘Reality based Concept’ สามารถใช้งานได้ในชีวิตจริง 
 
หลักการสำคัญคือ การถูกฝึกให้เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา หรือ  Situation Awareness (SA.) ยกตัวอย่างผู้หญิงคนหนึ่งเดินกลับบ้านในซอยเปลี่ยวตอนกลางคืน ตรงปากซอยมีกลุ่มผู้ชายนั่งกินเหล้าอยู่ จังหวะเดินผ่าน ผู้ชายกลุ่มนั้นมองแล้วหันมาขยิบตาให้กัน ถ้าผู้หญิงคนนั้นตื่นตัว สังเกตเห็น จะรู้ได้ทันทีว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป สุดท้ายก็มีทางเลือกตัดสินใจได้ว่าจะนั่งมอเตอร์ไซค์เข้าบ้าน หรือเรียกให้คนมารับ โอกาสที่จะป้องกันตัวได้มีสูงมาก ต่างจากคนที่อ่านสถานการณ์ไม่ออก ขาดการระวังตัว เพราะมัวแต่ก้มหน้าเล่นมือถือ"

ครูโจ้ เล่าว่า ยุคนี้คนจำนวนไม่น้อยนิยมฝึกชกมวยเพื่อออกกำลังกาย หรือลดน้ำหนักเพียงอย่างเดียว มากกว่าจะฝึกให้สามารถนำมาใช้งานได้ในชีวิตจริง ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก

"ยิมหลายแห่งสอนให้นักเรียนฝึกชกมวยแบบเน้นท่าสวย (Fancy move) แทนที่จะสอนออกอาวุธเตะต่อยอย่างถูกต้อง น่าเสียดาย ไหนๆก็ออกกำลังกายแล้วก็น่าจะได้วิชาติดตัวกลับบ้าน อย่างน้อยเวลาเกิดเหตุจะเป็นการซื้อโอกาสรอดได้มากขึ้น การเรียนต่อสู้ป้องกันตัวไม่ต่างจากการซื้อประกันภัยสักฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นประกันที่ราคาถูกที่สุดและคุ้มครองเราได้นานและยั่งยืนกว่า”

"วิชาสู้โจรด้วยมือเปล่า" เมื่อคนธรรมดาแห่เรียนศิลปะป้องกันตัว

"อ่านข่าวแล้วจะไม่เป็นข่าว"...รู้ไว้ไม่ตกเป็นเหยื่อ

ข่าวอาชญากรรมสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเพื่อนำมาป้องกันตัวเองจากภัยอันตรายได้

หลักคิดที่ทีมครูฝึกเจดีทีย้ำให้ลูกศิษย์ฟังอยู่เสมอคือ จงอ่านข่าวแล้วจะไม่เป็นข่าว 

"ข้อดีของการอ่านข่าวคือ เป็นการสมมติตัวเองว่าอยู่ในเหตุการณ์คับขัน ฝึกการประเมินสถานการณ์ การคิด วางแผน การตัดสินใจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อรับมือกับภัยคุกคามเบื้องหน้า ยกตัวอย่างข่าวชายหนุ่มมีอาการทางประสาทถือมีดไล่แทงคนย่านมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผมสอนให้นักเรียนใช้หลักเตือนภัยที่เรียกว่า ‘Colour Alert’ ซึ่งเป็นแถบสีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหน่วยปฏิบัติการพิเศษ 

อธิบายง่ายๆคือ หากคนทั่วไปเดินไปตามท้องถนน จะเกิดภาวะ Blank มองทุกอย่างที่เห็นเป็นสีขาว หมายความว่าไม่ได้คิดอะไร ไม่รู้สึกถึงภัย แต่หากมองตามหลัก ‘Colour Alert’ สีเหลืองคือ สีของการระวังภัยเบื้องต้น เหมือนเราเดินข้ามถนนแล้วมองซ้ายมองขวา สังเกตสิ่งผิดปกติรอบตัว ไม่ว่าจะการแต่งตัว การเคลื่อนไหว พฤติกรรม ท่าทางต่างๆ  ถ้ามีสิ่งผิดปกติจะเข้าสู่โหมดสีส้ม เช่น มีคนมองหน้าเราแล้วซุบซิบ มีคนสะกดรอยตาม แบบนี้ต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่โหมดระวังตัว หาทางหนีทีไล่ ส่วนระดับที่รุนแรงที่สุดคือสีแดง นั่นหมายถึงการเผชิญหน้า การต่อสู้กำลังจะเริ่มขึ้น ถึงตรงนี้ต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือแล้ว

นอกจากนี้ เมื่อเกิดเหตุคับขัน ผมสอนลูกศิษย์ว่าให้ใช้วิธี ‘เลี่ยง-ลี้-หนี-ยอม’ ขึ้นอยู่กับระยะห่างและสถานการณ์เบื้องหน้า เลี่ยงคือ สมมติเดินเข้าซอยเห็นแล้วว่าจิ๊กโก๋ยืนอยู่ สัญชาตญาณบอกว่าไม่ดีแล้ว เราก็เลี่ยงไปเดินอีกฝั่ง ไม่ก็นั่งมอเตอร์ไซค์เข้าซอย ลี้คือ เข้ามาจนใกล้ เห็นภัยมาไม่แน่ใจว่าใช่ไหม ขอลี้ดีกว่า หนีคือ เข้ามาจนประชิดตัว หนีได้หนีเลย และยอม ยอมทั้งสีหน้า ท่าทาง และการกระทำ แต่ใจต้องพร้อมสู้ หาทางออกอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายที่ผมย้ำอยู่ตลอดคือ คนร้ายมักจะเลือกเหยื่อเสมอ โดยเฉพาะเหยื่อที่ง่ายและไม่ระวังตัว ถ้าเราฝึกสังเกตสิ่งผิดปกติรอบตัว ประเมินสถานการณ์ รู้หลักการต่อสู้ป้องกันตัวที่ถูกต้อง โอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อก็ยากขึ้น

"วิชาสู้โจรด้วยมือเปล่า" เมื่อคนธรรมดาแห่เรียนศิลปะป้องกันตัว

วิชาเอาตัวรอดฉบับ"พึ่งพาตนเอง"

จุฑามณี ธนานุภาพไพศาล พนักงานบริษัทเอกชน หญิงสาวร่างเล็ก เธอเข้าคอร์สศิลปะป้องกันตัวมาได้ 3 เดือนแล้ว เหตุผลที่มาเรียนคือ ต้องการช่วยเหลือตัวเองได้หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น

"สาเหตุที่มาเรียนเป็นจังหวะที่เราอ่านข่าวมาตลอด เห็นอันตรายของการใช้ชีวิตในสังคมนี้มากขึ้น ที่สำคัญนิสัยส่วนตัวชอบไปไหนมาไหนคนเดียว หากเกิดเรื่องก็จะคาดหวังความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ยาก เพราะโดยปกติโจรส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และมักมองผู้หญิงอย่างเราเป็นเหยื่ออยู่แล้ว วิธีเอาตัวรอดเดียวคือ ต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ในยามฉุกเฉิน"

ความเปลี่ยนแปลงที่้เกิดขึ้นหลังได้เรียนศิลปะป้องกันตัว เธอบอกว่า เวลาเดินทางไปไหนจะระมัดระวังตัวมากขึ้น 

“เวลาไปเที่ยวห้าง สมัยก่อนเน้นเดินดูของ เดี๋ยวนี้ดูของและดูรอบตัวเราด้วย มีสติ รู้จักประเมินสถานการณ์ ต่างจากเมื่อก่อนที่ไม่เคยสนใจอะไรเลย ข้อดีคือ ประมาทน้อยลง มั่นใจในการไปไหนมาไหนคนเดียวมากขึ้น ลูกผู้หญิงจำเป็นต้องเรียนค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้สังคมน่ากลัวขึ้นทุกวัน ทุกคนต่างเอาตัวรอด คาดหวังคนจะมาช่วยคงยาก"

สยามฤทธิ์ สุภาวะกุล นักศึกษาหนุ่ม มองว่า กฎหมายบ้านเราหละหลวม ความช่วยเหลือมาถึงช้า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ระดับหนึ่ง

"มาเรียนได้ 6 เดือนแล้วครับ เรียนป้องกันตัวด้วยมีด เรียนการต่อสู้ด้วยมือเปล่า ทำให้มั่นใจขึ้นเวลาไปสถานที่เสี่ยง สาเหตุที่มาเรียนไม่ใช่ว่าทำให้เราต่อยตีเก่ง แต่ทำให้บุคลิกเราเข้มแข็งขึ้น ระมัดระวังตัวขึ้น และมั่นใจในการเอาตัวรอดมากขึ้น รู้ว่าสถานการณ์แบบไหนเสี่ยง สถานการณ์แบบไหนอันตราย” 

ณภพ พงศาธนโชติ อดีตนักเรียนศิลปะป้องกันตัว ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยครูฝึกสอนทีมเจดีที ผ่านประสบการณ์เรียนรู้วิชาศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวมานานกว่า 6 ปี

"สมัยก่อนเล่นยูโดครับ แต่ศิลปะต่อสู้ป้องกันตัว (Self defend) มันต่างจากกีฬาทั่วไป เพราะไม่มีการแข่งขัน ไม่มีกฎกติกา มันอาจเกิดขึ้นกับเราได้ทุกที่ทุกเวลา การเรียนทำให้เราสามารถนำไปใช้ได้จริง มีความรู้ในการรับมือภัยคับขันในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การต่อสู้ด้วยมือเปล่าในที่แคบอย่างลิฟท์ ทางหนีไฟ รถยนต์ หรือทำยังไงเมื่อถูกโจรใช้มีดจี้ ถูกแทง ถูกปืนจ่อ และอื่นๆอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

นอกจากวิชาป้องกันตัวที่ได้ สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สำคัญสุดคือ วิธีคิดเปลี่ยนไป มีสติมากขึ้น ประเมินสถานการณ์เป็น สมัยก่อนไม่ระวังตัวเลย ชอบพาตัวไปสถานที่เสี่ยง สถานที่อโคจร เช่น กินเหล้าสำมะเลเทเมา นั่งเล่นโทรศัพท์หน้าเซเว่นตอนดึกๆ เดี๋ยวนี้สุขุมรอบคอบ ใจเย็น นิ่ง รับมือกับสถานการณ์คับขันได้ดีขึ้น"

ในวันที่ผู้คนหวั่นเกรงภัยจากโจรผู้ร้าย การเรียนศิลปะป้องกันตัวแบบที่ใช้งานได้จริง ไม่ใช่แค่เน้นท่าสวย จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังอาจช่วยให้เราเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉินได้ด้วย ดีกว่ามานั่งรอขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเพียงฝ่ายเดียว

หมายเหตุ- สามารถเข้าไปเยี่ยมชมผลงานของทีมผู้ฝึกสอนการต่อสู้ป้องกันตัว เจดีที (JDT:Joe Defensive Tactics) ได้ที่เฟซบุ๊ก JDT Joe Defensive Tactics https://www.facebook.com/JDTpage/?fref=ts

"วิชาสู้โจรด้วยมือเปล่า" เมื่อคนธรรมดาแห่เรียนศิลปะป้องกันตัว

 

"วิชาสู้โจรด้วยมือเปล่า" เมื่อคนธรรมดาแห่เรียนศิลปะป้องกันตัว