posttoday

อนาคอนด้าในไทยมี 100 ตัว! ไร้กม.เอาผิดคนลอบเลี้ยง

25 สิงหาคม 2559

กรมอุทยานแห่งชาติกำลังแก้กฎหมายให้มีบทลงโทษการครอบครองสัตว์ต่างประเทศให้รัดกุมยิ่งขึ้น

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

หลังจากกรณี นสพ.ทวีศักดิ์ อนันต์ศิริวัฒนา สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์คลองหลวง จ.ปทุมธานี และทีมสัตวแพทย์ของโรงพยาบาล ผ่าตัดรักษาอาการเนื้องอกในหัวใจงูอนาคอนด้าของนักเลี้ยงงูรายหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ อย่างเป็นผลสำเร็จกลายเป็นข่าวดังที่สร้างความตื่นตะหนกว่า เหตุใดเจ้างูยักษ์อนาคอนด้า ซึ่งเคยสร้างความน่าสะพรึงกลัวจากที่หลายคนเคยได้เห็นในโลกภาพยนตร์และสารคดีต่างๆ จึงนำมาครอบครองได้ ราวกับเป็นสัตว์เลี้ยงที่ซื้อหาได้ทั่วไป

เมื่อสำรวจในโลกออนไลน์ เว็บไซต์บางแห่งมีการระบุกระทั่งราคาขายของลูกงูยักษ์ สนนราคาอยู่ที่เพียงตัวละ 6,500 บาท

อดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า เรื่องของจำนวนงูอนาคอนด้าและสัตว์นำเข้าหลายชนิดที่มีการลักลอบนำเข้ามายังมีตัวเลขที่ไม่ชัดเจนเพราะไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครองของไทย แต่จัดอยู่ในบัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส จัดเป็นสัตว์ป่าที่ยังไม่ถึงกับสูญพันธุ์ จึงอนุญาตให้ค้าในเชิงพาณิชย์หรือนำเข้า

ทั้งนี้ ได้เร่งตรวจสอบเพื่อหาเจ้าของงู โดยติดต่อไปยังสัตวแพทย์ที่ทำการผ่าตัดงู แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิ จึงเร่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหาผู้ครอบครอบงูตัวนี้ให้ได้ ว่ามีการนำเข้าอย่างถูกต้องหรือไม่หรือไปซื้อต่อมาจากใคร หากได้มาอย่างไม่ถูกต้องจะมีบทลงโทษตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

นอกจากนี้ ยังได้สั่งให้ไล่ย้อนกลับไปหาข้อมูล ผู้ทำเรื่องนำเข้างูชนิดนี้ในไทย ส่วนใหญ่เป็นเอกชน หรือพ่อค้า คนพวกนี้รู้จุดอ่อนของกฎหมายที่ประกาศใช้อยู่ตอนนี้ ว่าต่อให้ผิด ไม่มีหลักฐาน กรมอุทยานฯ ก็ไม่มีสิทธิยึดสัตว์ของกลาง จับหรือปรับ เพราะสัตว์ที่นำเข้ามานั้นอยู่นอกเหนือกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าของไทย

"งูอนาคอนด้าตัวดังกล่าวอาจนำเข้ามาอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ถูกก็ได้ แต่ก็ยอมรับว่าตรวจสอบได้ยากเพราะผู้นำเข้ามาจะนำไปจำหน่ายต่อหรือเพาะพันธุ์อย่างไร เป็นการยากจะไปตรวจสอบต้นตอที่มา หลายกรณีมักจะอ้างว่าซื้อต่อมาจากพ่อค้า"

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า เมื่อไล่เรียงสติถิงูอนาคอนด้าในไทย เริ่มมีครั้งแรกตั้งแต่ปี 2543 จำนวน 4-5 ตัว ในปี 2547 มีผู้ขออนุญาตเป็นขององค์การสวนสัตว์นำเข้า 17 ตัว และในปี 2549 อีกประมาณ 50 ราย เป็นของเอกชนที่ทำเรื่องมาเพียงรายเดียว ขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่สืบหาข้อมูลที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ เอกชนเพื่อตรวจสอบว่ายังเลี้ยงดูได้ดี ถูกต้อง รัดกุม หรือปล่อยสัตว์ส่งต่อไปยังที่ใด เพราะหลังข่าวแพร่ออกไปมีประชาชนเริ่มหวาดกลัวว่าจะงูอนาคอนด้าจะหลุดในธรรมชาติซึ่งคนกลัวกันมาก

อดิศร กล่าวอีกว่า ขณะนี้เรากำลังแก้กฎหมายให้มีบทลงโทษการครอบครองสัตว์ต่างประเทศให้รัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งหากประกาศใช้ก็สามารถเอาผิดผู้ที่มีสัตว์ประเภทนี้ในครอบครองได้ แต่จากที่ติดตามข่าวมาตลอดหลายสิบปียังไม่มีการพบ หรือรายงานข้อมูลว่าพบงูชนิดนี้ในผืนป่าธรรมชาติไทย ซึ่งงูชนิดนี้ ลักษณะนิสัยจะเหมือนกับงูเหลือม งูหลามที่พบในไทย เพียงแต่จะมีลักษณะตัวใหญ่ สีเข้มคล้ำกว่า ตัวโตสุดเส้นผ่าศูนย์กลางจะใหญ่กว่า 30 เซนติเมตร ถ้าดูจากจำนวนที่นำเข้ามา หากมีการเพาะพันธุ์ งูอนาคอนดาทุกชนิดจะออกลูกเป็นตัว ครั้งละประมาณ 20-40 ตัว หรือมากกว่านั้น ก็คาดว่าน่าจะมีงูอนาคอนด้าในไทยไม่ต่ำกว่า 100 ตัวแล้ว

เตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ตลาดสัตว์นำเข้าหลายชนิด ซื้อขายได้เพราะการตรวจจับเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก งูเป็นสัตว์ที่ลักลอบนำเข้ามาได้ง่าย เพราะ ผู้ค้าใช้วิธีรมยาสลบงูและจับกดไว้ในกล่องพันเทปกาวซุกรวมกับสินค้าอื่น ๆ ก็รอดพ้นสายตาจากภาพเอ็กซ์เรย์เล็ดลอดเข้ามาในประเทศได้ง่าย หรือบางชนิดก็นำเข้ามาตั้งแต่ยังเป็นไข่ นำมาฟักเอง หรือยังเป็นลูกสัตว์ที่ขนส่งง่าย

ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ผู้ค้าทราบดีว่าการขออนุญาตนำเข้าสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ที่เป็นอันตราย มีพิษ เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก มีขั้นตอนตรวจสอบประเทศต้นทาง ทั้งเรื่องการจัดจำหน่ายอย่างถูกต้อง การตรวจโรค ตรวจสอบด้านสาธารณสุข ที่มีค่าใช้จ่ายมากมาย ต้องติดต่อกับประเทศปลายทางขออนุญาตผ่านด่านศุลกากร รวมถึงต้องระบุชัดเจนว่าจะนำไปเลี้ยงที่ไหน กรณีที่เป็นสัตว์ที่มีอันตราย มีมาตรการดูแลความปลอดภัยไม่ให้กระทบต่อคนอื่นแค่ไหนอย่างไร เมื่อเห็นอย่างนี้ ก็คิดว่า การเสี่ยงลักลอบเข้ามาขายอย่างอิสระคุ้มกว่า ที่สำคัญ คือ เรื่องนี้บังคับใช้กฎหมายยาก เพราะกฎหมายเอาผิดได้เฉพาะผู้ค้าในฐานะลักลอบนำเข้าได้แต่เอาผิดผู้ครอบครองไม่ได้