posttoday

กกต.คลายสงสัยประชามติ อะไรทำได้-ทำไม่ได้

20 พฤษภาคม 2559

"ประชามติถ้าผ่านก็ไปออกกฎหมายลูก ถ้าไม่ผ่านก็ไปร่างใหม่ใช้เวลาไม่นาน ดังนั้นประชามติไม่ใช่เรื่องใหญ่โต "

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การประชุมชี้แจงเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชน” วานนี้ ที่สโมสรทหารบก สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ รวม 5 ฝ่ายเข้าร่วม ประกอบด้วย ผู้แทนจากฝ่ายคณะรัฐมนตรี ​คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และตัวแทนจากพรรคการเมือง รวม 133 คน จาก 77 พรรคการเมือง

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากการออกเสียงประชามติวันที่ 7 ส.ค. จะเกิดอะไรขึ้นก็มีความเป็นไปได้ดังนี้ กรณีแรก สมมติร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แต่คำถามประกอบไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ใน 30 วัน จากนั้น กรธ.ทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ ​โดยต้องเร่งทำ​ 4 ฉบับที่สำคัญเพื่อให้เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน สนช.พิจารณาภายใน 2 เดือน ถ้า สนช.แก้ไขต้องส่งกลับ กรธ.ไปพิจารณาใหม่ ตั้งกรรมาธิการร่วมใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ตีว่าประมาณ 1 เดือน เมื่อเสร็จครบ 4 ฉบับ ก็ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน

กรณีที่ 2 ร่างรัฐธรรมนูญผ่านและคำถามพ่วงผ่าน ต่อจากนั้นต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ 1 เดือน ให้เข้ากับคำถามพ่วงและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา 1 เดือน จากนั้นก็เดินไปตามกรณีแรก และกรณีที่ 3 รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แต่คำถามพ่วงผ่าน หรือกรณีที่ 4 รัฐธรรมนูญไม่ผ่านและคำถามพ่วงไม่ผ่าน ก็จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือเมื่อไม่ผ่านรัฐบาลต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อจะได้ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป

จากนั้นจึงเปิดให้ตัวแทนพรรคการเมืองได้ซักถาม เริ่มจาก อภิสิทธิ์​ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ​ควรเปิดให้แสดงความเห็นเหมือนปี 2550 ผู้เห็นด้วยหรือผู้ไม่เห็นด้วยสามารถรวมตัวเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี แต่ปัจจุบันยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันในเนื้อหาในกฎหมายเรื่องการชี้นำ รณรงค์ อย่างข้อห้ามใน พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ มาตรา 61 ห้ามพูดเท็จ ไม่ก้าวร้าว ไม่หยาบคายรุนแรง ปลุกระดม ตีความอย่างไร ยกตัวอย่าง จะมีบุคคลสวมหรือขายเสื้อที่มีข้อความระบุรับหรือไม่รับ​ร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

อีกทั้งวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า หากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วกระบวนการจะเป็นอย่างไร ซึ่งฟังจากที่ชี้แจงวันนี้ บอกว่าจะไม่ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) แต่วันก่อนคนในรัฐบาลบอกว่าจะตั้ง ตัวอย่างประเทศนิวซีแลนด์ทำประชามติเรื่องธง ยังทำ 2 รอบ หาธงใหม่มาแข่งกับธงเก่า ดังนั้น โรดแมป บอกไม่ผ่านก็แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่โรดแมปไม่ได้ห้ามให้แก้ตั้งแต่วันนี้ ควรที่จะให้ประชาชนเจ้าของประเทศรู้ทางเลือกที่แท้จริง และจะทำให้ประชามติมีความหมาย อยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขประกาศคำสั่งที่ 57 เพื่อปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้

ปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตรา 61 มีความไม่ชัดเจน ขอให้กกต.อธิบายให้ชัดเจน และขอถาม กรณีที่ตนเองเดินทางไป จ.พิษณุโลก ไปดูการขุดลอกคูคลองขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก แล้วมีคนมาชูป้ายว่า No Corruption แล้วถูก กกต.จังหวัดบอกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง เชิญให้ไปชี้แจง ขอยืนยันว่าไม่เกี่ยวและไม่ไปชี้แจง การใช้คำว่า No ไม่ได้มีแค่เรื่องประชามติเท่านั้น และไม่เห็นจะมีพิษมีภัยต่อการทำประชามติในมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติไม่มีความชัดเจน ขอให้สร้างความชัดเจน

สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวชี้แจงว่า ​ กกต.ไม่ได้เขียนกฎหมายกว้างๆ ให้ไปตีความเอาเอง เพราะมีการพูดชัดในประกาศเรื่อง 6 ทำได้  8 ทำไม่ได้ และในส่วนของสิ่งที่ทำได้นั้นมีคำว่าเช่นเพราะมีสิ่งที่ทำได้มากกว่าที่ยกตัวอย่าง แต่สิ่งที่ทำไม่ได้นั้นกำหนดห้ามทำดังต่อไปนี้เท่านั้น 8 ข้อ ส่วนถามว่าอย่างไหนเป็นเท็จ เท็จก็คือเอาสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ หรือดัดแปลงความจริงอย่างนี้เท็จแน่นอน ส่วนการคาดการณ์ในอนาคต ไม่มีใครบอกว่าเป็นเท็จ เช่น ใช้รัฐธรรมนูญแล้วดี หรือใช้แล้วเป็นปัญหาอย่างนี้พูดได้

สมชัย กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์หยาบคาย ก้าวร้าวรุนแรง นั้นใช้มาตรฐานชนชั้นกลางว่าพูดแบบนี้หยาบคายหรือไม่ กูมึง ไม่หยาบคายสำหรับคนชั้นกลาง ​ส่วนการขายเสื้อก็ไม่ถือว่าผิด แต่ต้องดูต่อไปว่าหากการขายเสื้อแล้ว​นำไปสู่การรณรงค์ปลุกระดมหรือไม่ หรือการแจกจ่ายในแบบที่เป็นการรณรงค์​ ถือว่าเป็นความผิดคล้ายกับการซื้อเสียง เข้ามาตรา 67 ทำไม่ได้ ส่วนเรื่องการใส่เสื้อ Yes หรือ No ใส่ได้ไม่เป็นปัญหา แต่อย่าใช้ปลุกระดม

อย่างไรก็ตาม หากดูแล้วพบหลักฐานชัดเจนก็จะมีความผิด​ก็จะเข้าสู่กระบวนการทางอาญา
แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของ กกต. เพราะคนในประเทศทุกคนสามารถฟ้องร้องได้ จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการทางอาญา ตำรวจจะรับร้องทุกข์หรือไม่ อัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ ศาลจะชี้ว่าผิดหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ กกต.

จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้หลักเกณฑ์เรื่องชนชั้นกลางตีความเรื่องหยาบคาย อย่างไรก็ตามหลักใหญ่เวลานี้เพราะกลัวแพ้ประชามติ สนช.ไปเขียนกติกาที่เป็นนามธรรม ทั้งเรื่องห้ามก้าวร้าว หยาบคาย ทั้งที่กฎหมายควรเขียนให้เป็นรูปธรรม มีการเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งครู ก ข ค หน่วยงานราชการ รวมแล้วกว่าล้านคน แต่คนอื่นจะไปเคาะประตูบ้านพูดข้อเสียกลับไม่ได้ การที่ กรธ. สนช. สปท. ลงพื้นที่ชี้แจงจะเป็นการชี้แจงฝ่ายเดียว เหมือนการเอากระบี่ไปฟันต้นกล้วย แล้วบอกว่าเป็นเจ้ายุทธจักร ดังนั้น กกต.ควรเปิดกว้างให้แสดงความเห็น​

วิษณุ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ​ส่วนตัวไม่มีอำนาจปลดล็อกคำสั่ง คสช. ที่ 57 คสช. แต่หากผู้ที่มีอำนาจได้ยินก็คงไปพิจารณา การผ่อนคลายกฎระเบียบเป็นเรื่องธรรมดาแต่ต้องดูสัญญาณ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงล่อแหลมอาจทำให้เกิดความขัดแย้งได้อีก ต้องระมัดระวังและละเอียดอ่อน

“ประชามติถ้าผ่านก็ไปออกกฎหมายลูก ถ้าไม่ผ่านก็ไปร่างใหม่ใช้เวลาไม่นาน ดังนั้นประชามติไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เพราะทุกท่านทุกสีทุกกลุ่มมีประชามติอย่างหนึ่งในใจ คือมีฉันทามติ หรือเรียกอีกอย่างว่าสยามานุสติ คือ อยากเห็นประเทศมีความสงบสุขเรียบร้อย อยากเห็นความเป็นประชาธิปไตยคืนกลับมาเร็วที่สุด ตรงนี้เป็นประชามติที่ไม่ต้องกาบัตร เป็นฉันทามติ สยามานุสติ ผมเชื่อโดยสุจริตว่าทุกคนคิดอย่างนั้น ประชามติเป็นเกม เป็นกติกา ก็ปล่อยไป ไม่ผ่านก็ไม่ยืด ไม่ต่อเวลา” วิษณุ กล่าว

ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวปิดการประชุมว่า กรณีที่มีความไม่สบายใจเรื่อง 5 ลักษณะต้องห้าม ทั้งห้ามหยาบคาย ก้าวร้าว ปลุกระดม ที่มีเรื่องร้องเรียนมากนั้น กกต.จึงได้มีการตั้งที่ปรึกษาด้านกฎหมายขึ้นมาเพื่อคัดกรองความชัดเจนก่อนจะถึงมือ กกต. จำนวน 10 คน ​ซึ่ง​มี สุรินทร์​ นาควิเชียร ​อดีตรองประธานศาลฎีกา เป็นประธาน