posttoday

อาชีวะงดรับ "เด็กสัก-ระเบิดหู" ล้าหลังละเมิดสิทธิ?

06 สิงหาคม 2558

หลากมุมมองจากหลายฝ่ายกับประเด็นร้อนสถาบันอาชีวะงดรับเด็กที่มีรอยสัก-ระเบิดหู

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด, นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ประเทศไทยปี 2015 เรื่องรอยสัก ยังเป็นประเด็นให้พูดถึง....

ล่าสุดมติจากที่ประชุมผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการวิทยาลัยเอกชนที่เปิดสอนด้านช่างอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล  ประกาศจะไม่รับนักเรียนที่มีรอยสักและระเบิดหูเข้าเรียนในปีการศึกษา 2559 เนื่องจากมองว่าเป็นการป้องกันกลุ่มบุคคลไม่พึงประสงค์แอบแฝงเป็นนักศึกษา

งานนี้เรียกเสียงวิพากวิจารณ์สนั่นบ้างก็บอกว่า เป็นมติที่ล้าหลัง และไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหาที่แท้จริง บ้างก็ว่าเด็กไทยยังไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการสัก และไปไม่ไกลเกินกว่าคำว่า “ความรุนแรง”

ฉันผิดด้วยหรือที่มีรอยสัก?

ยสกรัณย์ ศิริวิโรจน์กุล หนุ่มผู้นิยมสักลวดลายบนผิวหนัง ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวชื่นชอบในงานศิลปะ ซึ่งศิลปะของแต่ละคนแสดงออกไม่เหมือนกัน ส่วนตัวชอบงานศิลปะบนเรือนร่างมากที่สุด และการที่คนหนึ่งคนจะตัดสินใจเด็ดขาดไปสักนั้น ได้ผ่านการคิดอย่างถี่ถ้วนมาแล้วนานกว่าหลายเดือน

การที่สถานศึกษาจะไม่รับนักเรียนที่มีรอยสัก ถือเป็นการกีดกันเสรีภาพ โดยวัดคนจากภายนอก ทั้งที่เป็นความชอบส่วนบุคคล ถ้าไม่รับพวกเขาแล้วจะให้นักเรียนเหล่านี้ไปอยู่ไหน บางคนซ่อมเครื่องยนต์เก่ง บางคนเก่งทำบัญชี แต่ด้านหนึ่งคนเหล่านี้ชอบงานศิลปะพวกเขาผิดด้วยหรือ

“รอยสักไม่ได้บอกว่าคนนี้เป็นคนดี หรือไม่ดี มันอยู่ที่นิสัยของคนมากกว่า รอยสักไม่ได้ผิดอะไร บางคนชอบวาดรูปบนกระดาษ ผมแค่ชอบวาดรูปบนตัวผม คนที่มองว่าไม่ดีเป็นพวกหัวโบราณ โลกแคบเกินไปสำหรับพวกเรา สังคมต้องมองให้กว้างกว่านี้ มีมากมายที่คนมีรอยสักทำงานได้ดีกว่า”ยสกรัณย์ กล่าว
 
ขณะที่ สุนิสา หอมหวล สาวผู้ชื่นชอบรอยสัก กล่าวว่า สังคมสมัยนี้มองว่าคนมีรอยสักเป็นคนไม่ดี เป็นการมองคนจากภายนอก ทั้งที่เราชอบในงานศิลปะ ซึ่งลายสักจากในเรือนจำจะสังเกตได้ง่ายมาก เช่น ลายมังกร ลายเส้นไม่ค่อยสวยงาม แตกต่างจากงานที่สักจากร้านที่มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ หลากหลายแนวเช่น โอสคูล แม็กซิกัน เจแปนนิส และแนวสีน้ำ ซึ่งทุกวันนี้ผู้หญิงให้ความนิยมมาสักมากขึ้นด้วย
 
“ไม่อยากให้สังคมที่มักมองคนจากภายนอกตีตราว่าเป็นคนไม่ดี แต่ถ้าได้ลองพูดคุยกันแล้ว จะรู้ว่าเราก็ไม่แตกต่างหรือไม่ดีอะไร คนที่ชอบศิลปะเป็นคนอารมณ์อ่อนไหวมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่สักเสียด้วยซ้ำ”เธอระบุ

อาชีวะงดรับ "เด็กสัก-ระเบิดหู" ล้าหลังละเมิดสิทธิ?

กฎเกณฑ์เพื่อคัดกรองขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสถาบัน

ขณะที่ความเห็นอีกด้านจาก จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ก็สะท้อนถึงเหตุผลของประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

จอมพงศ์กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันและลงสัตยาบันในการดูแลพฤติกรรมนักศึกษาอย่างใกล้ชิด  3 เรื่อง คือ

1.เรื่องของการคัดกรองผู้เรียน  เนื่องจากพบว่า ปัญหาเกิดที่ขึ้นกับเด็กอาชีวะ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาส่วนบุคคลตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน และบางครั้งก็เกิดจากการที่บุคคลไม่ประสงค์ดีแอบแฝงเข้ามาเข้าเป็นนักศึกษาเพื่อกระทำเรื่องผิดกฎหมาย  จึงจำเป็นต้องมีการคัดกรองเบื้องต้น จากพฤติกรรมทั่วไปที่สามารถพบเห็นได้ชัดเจน เช่น การสัก การระเบิดหู

2.พฤติกรรมสภาพระหว่างเรียน หากพบว่ามีการพกพาอาวุธหรือยาเสพติดเกิดขึ้นไม่ว่าในหรือนอกสถาบัน จะถูกให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาทันที  รวมทั้งติดแบล็คลิสต์ เพื่อไม่ให้นักศึกษาที่มีปัญหาวนเวียนอยู่ในสถาบันอาชีวะ จนเกิดปัญหาซ้ำซาก

3.ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  โดยดำเนินการลงโทษสูงสุดตามกฎหมายต่อเยาวชนผู้ที่กระทำความผิด เพื่อให้ผู้เรียนหรือเยาวชนมีความหลาบจำและให้ผู้ปกครองมีส่วนรับผิดชอบด้วย ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายเยาวชน

นอกจากนี้เรื่องสมาคมให้ความสำคัญ คือรุ่นพี่ ทั้งที่เรียนไม่จบหรือโดนไล่ออก ซึ่งเข้ามามีบทบาทความสัมพันธ์กับรุ่นน้อง ชักจูงใปในทางที่ไม่ดี  ซึ่งทุกสถานศึกษาพร้อมให้ชื่อเหล่ารุ่นพี่ที่ต้องต้องสงสัยแก่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเฝ้าระวังต่อไป

"ทั้งหมดเป็นหลักประกันว่าเรามีการคัดกรองที่ดี เพื่อให้เขาเติบโตไปเป็นผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบวิชาชีพที่ดีในอนาคต ทั้งยังสอดคล้องกับการรับพนักงานหรือบุคคลากรของสถานประกอบการจำนวนมากที่ไม่รับผู้ที่มีรอยสักเข้าทำงาน แต่อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องดุลยพินิจของแต่ละสถาบันว่าจะนำมตินี้ไปใช้อย่างไร เพราะสมาคมไม่มีอำนาจไปสั่งสถาบันแต่ละแห่งได้"จอมพงศ์กล่าว

จอมพงศ์  ยืนยันว่า กฎเกณฑ์นี้ไม่ใช่เรื่องล้าหลัง เพราะการสักมีหลายมิติ ต้องยอมรับว่า รอยสัก ในประเทศไทยยังเชื่อมโยงไปกับความไม่ถูกต้อง และผิดระเบียบวินัย ดังเช่นเรื่องของการแต่งกายและทรงผม ผิดกับในต่างประเทศ เมื่อเมืองไทยยังมีกฎระเบียบลักษณะนี้อยู่ก็ควรทำตาม ไม่อย่างนั้นพอเกิดปัญหาความรุนแรงขึ้น สุดท้ายสังคมก็จะมองว่า สถานศึกษาทำหน้าที่ได้ไม่ดี

อาชีวะงดรับ "เด็กสัก-ระเบิดหู" ล้าหลังละเมิดสิทธิ?

ห่วงละเมิดสิทธิ-แบ่งแยกเด็ก

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ  นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า  การศึกษาในระดับ  ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ปวช. จัดอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อเนื่อง 12 ปี ที่รัฐบาลต้องจัดให้ทุกคนเรียน ฉะนั้นการไม่รับเด็กที่เจาะหูหรือสักอาจจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายได้ ขณะเดียวกัน ในแง่ของการปฎิเสธ ส่วนตัวคิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็กและเหมือนเป็นการแบ่งแยกสภาวะทางร่างกาย อย่างเช่น ในอดีตที่มีการระบุว่าไม่รับเด็กอ้วนเป็นพยาบาล

“การเลือกไม่รับเด็กที่มีรอยสักหรือเจาะหู เพราะมองว่าเป็นตัวเสี่ยงของปัญหา สรุปแบบนี้เป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง ไม่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เหมือนเป็นการแบ่งแยกเด็ก และทิ้งเด็กกลุ่มนี้ ทั้งที่ในสภาวะความเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ควรมีหน้าที่อบรม ดูแลเอาใจใส่เขา ไม่สามารถเลือกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของรัฐหรือเอกชนก็ตาม”

นักวิชาการรายนี้ให้ความเห็นต่อว่า รอยสักและการเจาะของเด็กๆ ไม่ได้บ่งบอกว่า เขาเป็นคนไม่ดี เนื่องจาก การกระทำดังกล่าว เป็นไปตามค่านิยมของสังคมที่เขาคลุกคลีอยู่ ซึ่งเป็นไปได้ที่อาจจะตัดสินใจผิดพลาด กระทำลงไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

“สังคมในภาพรวมมักจะมองคนที่สัก เจาะ หน้าตาโหดเหี้ยม ว่าเป็นพวกใช้ความรุนแรง ก่อปัญหา ซึ่งก็เข้าใจได้เนื่องจากเวลาเกิดความรุนแรงขึ้น ภาพเด็กๆ ที่สื่อฉายออกมานั้นเต็มไปด้วยแผ่นหลังที่มีรอยสัก ภาพความรุนแรงก็เลยติดหู ติดตา จนทำให้หลายคนตัดสินใจถึงคุณค่าของคนที่สักทันที ว่าพวกเขาคือกลุ่มเสี่ยง”

ศ.สมพงษ์ แนะนำว่า แนวทางที่ง่ายกว่าการจำกัดสิทธิ คือ เมื่อบทบาทของสถานศึกษามีหน้าที่ขัดเกลาให้ความรู้ คุณควรหาจุดอ่อนของเขาให้เจอตั้งแต่แรก พูดคุยเป็นที่ปรึกษาที่ดีอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เด็กถูกชักจูงไปในแนวทางที่ไม่ดี โดยเฉพาะจากรุ่นพี่

"เยาวชนเองก็ควรคิดวิเคราะห์ให้ดีในทุกการกระทำและทุกการตัดสิน เช่น รอยสัก ถามตัวเองให้ชัดว่า เราชอบและพร้อมจะอยู่กับมันไปตลอดหรือไม่"นักวิชาการรายนี้กล่าว

อาชีวะงดรับ "เด็กสัก-ระเบิดหู" ล้าหลังละเมิดสิทธิ?

กำหนดอายุผู้ที่สามารถสักได้

ด้าน ผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊ก สมาคมคนรักรอยสักแห่งประเทศไทย ให้ทัศนะว่า  เห็นด้วยในเรื่องของอายุของผู้ที่มีรอยสัก ซึ่งเด็กนักศึกษาในระดับอาชีวะยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงยังไม่สมควรที่จะมีรอยสัก แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือ คำอธิบายที่บอกว่า รอยสักเป็นชนวนเหตุอันนำไปสู่การทะเลาะวิวาท

ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากผลของรอยสัก และมั่นใจว่า คนส่วนน้อยเท่านั้น ที่มีปัญหา ซึ่งเป็นไปได้ทั้งพวกที่มีรอยและไม่มีรอย เพราะเรื่องของศักดิ์ศรีนั้นถูกปลูกฝังกันทุกคน

"เข้าใจว่ามาตราการนี้ ออกแบบมาเพื่อป้องกันผู้ที่ต้องการแอบแฝงเข้ามาศึกษา แต่ควรใช้วิธีอื่นมากกว่า เพราะสำหรับผู้ที่แอบแฝง เพียงเดือนสองเดือนแรกของการเข้ามาศึกษาเล่าเรียน ทางสถาบันก็น่าจะรับรู้พฤติกรรมได้แล้ว  หากจำกัดเด็กเข้าเรียนด้วยมาตราการนี้ คนที่มีรอยสักจะถูกผลักให้ไปอยู่ตรงไหนของสังคม ซึ่งอาจจะสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกก็เป็นได้"

เขากล่าวว่า ปัจจุบัน อาชีพช่างสัก ไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้ไม่สามารถป้องปรามกลุ่มคนที่ลักลอบสักกันเองโดยที่ไม่ได้รับมาตรฐานได้  ฉะนั้นเห็นควรว่า หากกำหนดกฎหมายรองรับ ก็จะสามารถจำกัดอายุผู้ใช้บริการ มีหลักเกณฑ์ควบคุม และลดปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยได้อีกด้วย

ด้าน นายเกียรติศักดิ์ เกตุชนก ผู้ประกอบการร้านสักลำยองแท็ททูสตูดิโอ กล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว เป็นข้าราชการ หรือพนักงานบริษัทเอกชน รวมถึงดารานักแสดงก็มาสักที่ร้าน ดังนั้นผู้ที่สนใจมาสักต้องคิดให้มากก่อนตัดสินใจ เพราะเมื่อสักแล้วมาแก้งานจะเสียหาย ซึ่งทุกวันนี้มีการตั้งชมรมช่างสักและผู้ประกอบการแห่งประเทศไทย รณรณค์ ไม่สักให้ผู้ที่เป็นโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคโลหิตจาง รวมถึงไม่สักให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก โก๋ เป็ด (Soul devil)

https://www.facebook.com/duck.demon.1?fref=ufi