posttoday

ภาคธุรกิจตั้งรับน้ำแล้ง ปลุกจิตสำนึก วางแผนประหยัด

28 มิถุนายน 2558

ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าทุกปีให้ภาคธุรกิจเริ่มตระหนักและหาแนวทางรับมือหากปัญหาเข้าประชิดตัว

โดย...ทีมข่าวธุรกิจ-ตลาด

สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าทุกปีจนอาจถึงขั้นขาดน้ำกินน้ำใช้ หากสถานการณ์ยังไม่ทุเลาเบาบางลง ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มตระหนักและหาแนวทางรับมือหากปัญหาเข้าประชิดตัว

สมชัย รัตนโอภาส กรรมการผู้จัดการ กลุ่มโรงแรมเอ-วัน ซึ่งมีโรงแรมในกรุงเทพฯ และพัทยา ระบุว่า โรงแรมจะมีบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ใช้ได้หลายวันรองรับได้ในกรณีที่เกิดภัยแล้งขึ้น และในกรณีที่เกิดปัญหาแล้งหนักจริงๆ ฝนไม่ตกยาวนาน ก็จะมีอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ คือ การซื้อน้ำจากเอกชนซึ่งก็จะส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัญหาจะไม่หนักถึงขั้นนั้น เนื่องจากในช่วงนี้ไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ปริมาณการใช้น้ำในโรงแรมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ในเดือน พ.ย.-มี.ค. นอกจากนี้ที่ผ่านมาโรงแรมในพัทยาก็ไม่เคยประสบปัญหาภัยแล้งอีกเลย ตั้งแต่มีบริษัทจัดการน้ำภาคตะวันออกมีโครงการท่อส่งน้ำขนาดใหญ่มายังภาคตะวันออก

ด้าน กงกฤช หิรัญกิจ ประธานกรรมการ โรงแรมสีมาธานี นครราชสีมา กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงแรมในนครราชสีมาก็จะประสบปัญหาน้ำแล้งไม่พอใช้เกือบทุกปี ทางแก้ปัญหาที่ทำได้ คือ การไปขอซื้อน้ำดิบจากภาคเอกชน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าจะเพิ่มต้นทุนให้กับธุรกิจ

“ปีนี้แล้งมาก อ่างเก็บน้ำที่จะส่งมายังนครราชสีมาเหลือปริมาณน้ำไม่ถึง 30% ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะรองรับการใช้น้ำได้พอเพียงไปจนถึงเดือน ส.ค.-ก.ย.หรือไม่ สิ่งที่ทำได้คือการมีมาตรการประหยัดน้ำ เช่น การมีกระบวนการนำน้ำใช้แล้วไปผ่านขั้นตอนการกรองแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น น้ำสำหรับรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น”กงกฤช กล่าว

ส่วนกรณีผู้เข้าพักใช้น้ำนั้น โดยปกติโรงแรมก็จะขอความร่วมมือผู้เข้าพักตามโครงการโรงแรมใบไม้เขียวอยู่แล้ว เช่น กรณีพักเกินกว่า 1 วัน จะขอความร่วมมือไม่เปลี่ยนผ้าปูที่นอน หรือผ้าเช็ดตัว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้เข้าพักว่าจะร่วมหรือไม่ ไม่ได้บังคับ

นอกจากธุรกิจโรงแรมที่ใช้น้ำเยอะแล้ว ในโครงการที่อยู่อาศัยทั้งบ้านและคอนโดมิเนียมก็เป็นหน่วยที่บริโภคน้ำเป็นจำนวนมากและจำเป็นต้องวางแผนรับมือเช่นกัน

สมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ บริษัทในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ กล่าวว่า บริษัทบริหารอาคารชุดชุมชนลุมพินีอยู่ 124 นิติบุคคล จำนวน 9.2 หมื่นห้องชุด หรือมีประชากรว่า 1.6 แสนคน มีปริมาณใช้น้ำต่อวันรวม 1.5 หมื่นลูกบาศก์เมตร ได้เริ่มรณรงค์ให้ผู้อยู่อาศัยประหยัดน้ำ โดยทางฝ่ายจัดการจะสำรวจปริมาณน้ำใช้ทุกวัน และทำข้อมูลสรุป เพื่อให้เจ้าของร่วมรับรู้ข้อมูลการใช้น้ำของแต่ละโครงการ

“เมื่อผู้อยู่อาศัยเห็นข้อมูลการใช้น้ำในแต่ละวัน ประกอบกับการรณรงค์ของบริษัท ก็จะทำให้เกิดการตื่นตัวในการช่วยกันประหยัดน้ำมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้น้ำที่ใช้สำหรับส่วนกลางก็จะมาพิจารณาว่าจะลดการใช้ได้อย่างไร เช่น น้ำใช้ทำ ความสะอาด รดต้นไม้ เป็นต้น” สมศรี กล่าว

ขณะที่ อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร มองว่า วิธีการที่ดีที่สุด คือ การสร้างจิตสำนึกของผู้อยู่อาศัยในโครงการให้ช่วยกันประหยัดน้ำ เพราะบ้านอยู่อาศัยจะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลมากกว่า โดยที่กรรมการและนิติบุคคลที่บริหารโครงการจะต้องช่วยกันรณรงค์ให้ร่วมมือกันประหยัดน้ำ

อีกธุรกิจที่ถูกมองว่าใช้น้ำในปริมาณมากๆ และอาจจะเกิดผลกระทบได้เมื่อปริมาณน้ำไม่เพียงพอ คือ ธุรกิจสวนน้ำ ซึ่งเรื่องนี้ วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิตี้วอล์ค ผู้บริหารสวนน้ำ สวนสนุก สวนสยาม เปิดเผยว่า แม้ธุรกิจสวนน้ำจะดูเหมือนเป็นธุรกิจใช้น้ำสิ้นเปลือง แต่ที่จริงแล้วไม่ได้ใช้น้ำมาก เพราะมีระบบการรีไซเคิลน้ำนำกลับมาใช้ใหม่ ขณะเดียวกันสวนสยามมีบึงขนาดใหญ่พื้นที่ 70 ไร่ ใช้เป็นพื้นที่สำรองน้ำอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำอื่น

“หากเป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่าฝนจะตกเดือน ส.ค. สวนสยามก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะน้ำในทะเลสาบน่าจะเพียงพอรองรับ
การใช้งานได้กว่า 40 วัน อย่างไรก็ตามบริษัทก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะมีมาตรการรณรงค์ให้พนักงานร่วมกันประหยัดน้ำและไฟมาตั้งแต่ช่วงที่เคยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน” วุฒิชัย กล่าว

ด้าน ดวงตา พงษ์วิไลย์ ผู้จัดการใหญ่การตลาด Corporate Marketing บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป กล่าวว่า มาตรการบริหารจัดการน้ำภายในสวนน้ำ แฟนตาเซีย ลากูน ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ที่มีทั้งหมด 4 สาขานั้น บริษัทมีระบบคัดกรองน้ำตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเครื่องปั๊มน้ำสูบน้ำเพื่อนำไปผ่านกระบวนการกรองน้ำ และมีการฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำทุกวัน ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน นอกจากนี้ยังมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึกและการตระหนักรู้ไปยังลูกค้า และมีการสื่อสารไปยังพนักงานให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำอีกด้วย

ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งที่ภาคธุรกิจได้เตรียมตั้งรับหากภัยแล้งปีนี้จะวิกฤตถึงขั้นขาดน้ำกินน้ำใช้ หากร่วมมือร่วมใจกันปลุกจิตสำนึกช่วยกันประหยัดปัญหาคงเบาบางลงได้มาก

นิคมอุตฯตื่น ถกแผนรับมือ

โดย...ดวงนภา ประเสริฐพงษ์

จากปัญหาภาวะภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงภาคอุตสาหกรรมและการผลิต หากฝนทิ้งช่วงยาวนานจะยิ่งกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน

จักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางและภาคตะวันออกเป็นนิคมฯ ที่มีการใช้น้ำมากที่สุดในประเทศ เนื่องจากมีการกระจายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อยู่มาก

สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออก มี จ.ระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี นิคมฯ ขนาดใหญ่ ได้แก่ มาบตาพุด ผาแดง เหมราชตะวันออก และท่าเรือมาบตาพุด ใช้น้ำเฉลี่ยวันละไม่เกิน 4 แสนลูกบาศก์เมตร เมื่อรวมชลบุรีเข้าไป ปริมาณการใช้น้ำไม่เกิน 5 แสนลูกบาศก์เมตร/วัน

ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำ มีบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรืออีสท์วอเตอร์ ดูแลจัดสรรน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรม มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ คลองใหญ่ หนองปลาไหล และดอกกราย ส่วนที่ชลบุรี คือ อ่างเก็บน้ำบางพระ และหนองคล้อ ซึ่งขณะนี้ยังมีน้ำสำรองเฉลี่ยกว่า 60%

“ถือว่าเป็นเหตุการณ์ปกติ และยังไม่มีความจำเป็นที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องชะลอการผลิต” จักรรัฐ กล่าว

สำหรับภาคกลาง มีนิคมฯ ไฮเทค บางปะอิน ใช้น้ำสูงสุด 4.5 หมื่นลูกบาศก์เมตร/วัน ขณะที่นิคมฯ สหรัตนนคร ขุดบ่อบาดาลไว้ 10 บ่อ ซึ่งอาจนำน้ำมาใช้ได้ประมาณ 6,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ใช้เป็นน้ำสำรองได้ 30% เท่านั้น

จักรรัฐ กล่าวอีกว่า หากฝนไม่ตกในระยะ 1 เดือนหลังจากนี้ หรือถึงวันที่ 10 ส.ค.นี้ กนอ.ยังรับมือได้อยู่ แต่หากฝนทิ้งช่วงมากกว่านี้คือสัญญาณร้ายของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญ เมื่อถึงจุดที่น้ำไม่พอคงต้องขอความร่วมมือภาคเอกชนลดกำลังการผลิตลง เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ได้

ทวิช เตชะนาวากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอินดัสเตรียล เอสเตท ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กล่าวว่า วันอังคารที่ 30 มิ.ย. ผู้บริหารนิคมฯ จะเรียกผู้ประกอบการในนิคมฯ มาหารือเพื่อเตรียมแผนรับมือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

เช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมบางปู ที่มีความต้องการใช้น้ำ 3 หมื่นลูกบาศก์เมตร/วัน จากการประปานครหลวง (กปน.) เป็นหลัก ซึ่งจะมีประชุมร่วมกับ กปน. วันที่ 1 ก.ค.นี้

แม้ปีนี้ภาคอุตสาหกรรมจะมีแผนรับมือภัยแล้ง แต่แน่นอนว่าสถานการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นในอนาคต อาจต้องเตรียมความพร้อมในการรีไซเคิลน้ำมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับธุรกิจของตนเอง