posttoday

ฉากร้ายภัยแล้ง งดทำนา 1 ปีเต็ม

28 มิถุนายน 2558

ภัยแล้งที่เกิดขึ้นครั้งนี้อาจกินเวลายาวนานนับปี และอาจหนักหน่วงรุนแรงยิ่งกว่าที่ประเทศไทยเคยเผชิญมา

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นยังไม่มีสัญญาณในเชิงบวก แต่ข้อมูลจากหลายฝ่ายชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้นครั้งนี้อาจกินเวลายาวนานนับปี และอาจหนักหน่วงและรุนแรงยิ่งกว่าที่ประเทศไทยเคยเผชิญมา

ปัจจุบันน้ำในเขื่อนเหลือใช้การได้เพียง 5% ปัจจุบันระบายเพื่อรักษาระบบนิเวศวันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ดังนั้นหากไม่ปรับการระบายให้ลดลง คงเหลือใช้ได้อีกไม่เกิน 40 วัน หรือจนถึงต้นเดือน ส.ค.เท่านั้น

อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า และอดีตกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ระบุว่า ปีนี้จะย่างเข้าสู่ฤดูฝนประมาณเดือน ส.ค. และตกในปริมาณน้อย

เช่นเดียวกับ เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเมื่อ 1 ปีก่อนหน้านี้ได้คาดการณ์เอาไว้แล้วว่า ปีนี้ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับภาวะเอลนินโญ และเสี่ยงที่จะประสบภัยแล้งแบบหนักสุดๆ ในปีนี้ เสรีที่ชี้ให้เห็นว่าโอกาสที่พายุจะเข้าประเทศไทยน้อยมาก ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนหลักที่ดูแลคน 22 จังหวัดในลุ่มเจ้าพระยาและแม่กลอง

อานนท์ อธิบายเพิ่มว่า จากนี้จนถึงเดือน ส.ค.จะยังร้อนและแล้งอยู่ หลังจากเดือน ส.ค.เป็นต้นไปฝนจะเริ่มดีขึ้น เพราะอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนินโญจะผ่อนคลายลง เมื่อรวมผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ต่อปริมาณฝนแล้ว คาดการณ์ปริมาณฝนในภาคเหนือและกลางตอนบนซึ่งเป็นพื้นที่เหนือเขื่อน ในเดือน ก.ค.จะมีฝน 150 มม. จากค่าปกติ 150 มม. เดือน ส.ค. 190 มม. จากค่าปกติ 220 มม. เดือน ก.ย. 320 มม. จากค่าปกติ 350 มม. เดือน ต.ค. 115 มม. จากค่าปกติ 120 มม. และเดือน พ.ย. ภาพรวมของฝนเท่ากับค่าปกติที่ 50 มม.

อย่างไรก็ตาม อานนท์แสดงความกังวลว่า หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาดก็เป็นไปได้ว่าอาจจะวิกฤตกว่าภัยแล้งจากภาวะเอลนินโญในปี 2540 เพราะการใช้น้ำในปัจจุบันสูงกว่าปี 2540 มาก

“กรมชลประทานคาดการณ์จะมีน้ำในเขื่อน ณ วันที่ 1 พ.ย.นี้ประมาณ 3,500 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคและดูแลระบบนิเวศหรือการผลักดันน้ำเค็มไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2559” อานนท์ ระบุ 

จะเห็นได้ว่าแผนการจัดการน้ำของกรมชลประทานที่ว่านี้ ไม่มีการระบุถึงการใช้เพื่อเกษตรกรรมเลย

สุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน อธิบายว่า น้ำใช้การที่คาดการณ์ไว้ว่าจะได้ 3,500 ล้าน ลบ.ม. นั้นต้องสงวนไว้สำหรับภารกิจหลักประกอบด้วย น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,100 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ 1,400 ล้าน ลบ.ม. น้ำสำหรับใช้ช่วงต้นฤดูฝนและฝนทิ้งช่วง 1,000 ล้าน ลบ.ม. หากมีปริมาณมากกว่านี้ จะพิจารณาว่าจะมีการช่วยเหลือน้ำเพื่อการปลูกข้าวนาปรังหรือไม่ เพราะสิ่งสำคัญคือน้ำกิน น้ำใช้ และการไล่น้ำเค็มป้องกันความเสียหายของระบบประปา

อย่างไรก็ตาม เสรีได้อธิบายให้เห็นถึงสถานการณ์อีกด้านหนึ่ง ซึ่งช่วยให้เข้าใจเหตุผลว่าเหตุใดแผนจัดการน้ำจึงไม่มีการระบุถึงการใช้เพื่อเกษตรกรรม

“พายุ 1 ลูกจะได้น้ำประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. ถ้าเป็นดีเปรสชั่นจะได้ 50 ล้าน ลบ.ม. แต่ขณะนี้จากสภาวะอากาศแล้งเดือน ก.ค.ฝนทิ้งช่วง และเดือน ส.ค.-ก.ย.คาดว่าจะมีพายุเข้ามาประมาณ 1 ลูก ก็จะได้น้ำประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. กรณีมี 2 ลูกได้ 200 ล้าน ลบ.ม. แต่เมื่อดูน้ำต้นทุนขณะนี้ที่เหลือประมาณ 800-900 ล้าน ลบ.ม. จะทำให้สิ้นฤดูฝนเราจะมีน้ำใช้การได้ประมาณ 1,200 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งดูแล้วน่าใจหาย”

ความ “น่าใจหาย” ที่เสรีพูดถึงก็คือ หากทำนาปรังตั้งแต่เดือน พ.ย. 2558 ในจำนวน 5 ล้านไร่เหมือนที่ผ่านมาจะใช้น้ำประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม.

“ผมถามว่าจะเอาน้ำมาจากที่ไหน และต้องแบกความเสี่ยงรอฝนทิ้งช่วงในเดือน ก.ค. 2559 อีก”

ในภาวะเช่นนี้ เสรีเสนอว่ารัฐบาลต้องสงวนน้ำเพื่อรักษาประเทศและไปเริ่มกันใหม่ในปีหน้าประชาชนทุกคนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต้องช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อให้ประเทศไทยฝ่าพ้นวิกฤตภัยแล้งอันหนักหน่วงครั้งนี้

“ถึงเวลาที่รัฐบาลและ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ต้องเลิกกลัวเสียหน้าและบอกความจริงต่อประชาชน เพราะเกษตรกรรออยู่ว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรต่อไป ตอนนี้ให้เขาชะลอ แล้วสิ้นเดือน ก.ค.หากไม่มีฝน ประกาศอีก แต่ชาวนาลงเงินทุนแล้ว หากแล้งเสียหายรัฐชดเชย 1,000 บาท ในขณะที่น้ำต้นทุนก็ต้องเสียไป กลายเป็นประเทศเสียสองด้าน ดังนั้นรัฐบาลควรประกาศให้เกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดในเขตชลประทาน 7 ล้านไร่ ซึ่งมีการปลูกไปแล้ว 3.44 ล้านไร่ ว่าที่ปลูกแล้วจะดูแลให้ดีให้มีผลผลิตออกมา ส่วนที่เหลืออีก 3.45 ล้านไร่ ขอให้เลิกปลูกเพื่อสงวนน้ำไว้ทั้งหมด และงดทำนาปรัง 58/59 ทั้งหมด เพราะหากน้ำต้นทุนน้อยปีหน้าจะยิ่งแย่กว่านี้”

สอดคล้องกับ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งติดตามสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เสนอให้รัฐบาลพูดความจริงกับประชาชน

“หากมองจากปัจจัยทั้งหมด ประเด็นสำคัญตอนนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องของหน้าฝนที่จะมาถึง แต่ต้องมองยาวไปถึงหน้าแล้งปีหน้าที่อาจจะมีปัญหาการขาดแคลนน้ำที่หนักหนาสาหัสกว่าทุกปี จนควรจะตั้งคำถามว่า เราจะเตรียมการอะไรเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 9 เดือนข้างหน้า และผ่านมันไปได้อย่างไร”ศศิน กล่าว

เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อน หลายพื้นที่เพาะปลูกยังคงไม่มีน้ำ ไม่มีฝน เขื่อนสำคัญหลายเขื่อนน้ำแห้งขอดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ข้อมูลที่รัฐบอกกับประชาชนยังมีท่าทีว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะเชื่อข้อมูลการพยากรณ์อากาศ ซึ่งก็อาจจะเชื่อได้ แต่ไม่ได้เผื่อว่า หากฝนตกน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้จะมีมาตรการรับมือล่วงหน้าอย่างไร

“ถึงเวลาต้องประกาศความชัดเจนถึงมาตรการรับมือกับความแห้งแล้งให้ตระหนักร่วมมือในการใช้น้ำอย่างจำกัด” ศศิน กล่าว

ด้านกลุ่มเกษตรกรซึ่งถือว่าได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งมากที่สุดก็มองว่ามาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลโดยการพักหนี้นั้นไม่เพียงพอ รัฐบาลควรจ่ายเงินชดเชยการงดทำนา เพื่อให้ชาวนาประคองชีวิตไปได้ในช่วงไม่มีรายได้จากการทำนา

เสมียน หงส์โต ประธานเครือข่ายชาวนาภาคกลาง เห็นว่าการพักชำระหนี้นั้นไม่มีผล เพราะชาวนากู้มาหลายอย่างไม่ใช่ ธ.ก.ส.เพียงอย่างเดียว ยังมีสหกรณ์ และกู้นอกระบบอีก การยืดการทำนาออกไปอีกก็ต้องกู้หนี้ก้อนใหม่

ด้าน พรม บุญมาช่วย ประธานสภาเกษตรกรสุพรรณบุรี เสนอว่า การจ่ายเงินชดเชยคือทางออกเดียว การพักชำระหนี้หรือให้กู้
เพิ่มก็คือการก่อหนี้ใหม่สะสมไปเรื่อยๆ สุดท้ายผลเสียก็ตกอยู่กับชาวนาอยู่ดี