posttoday

เลือกตั้งท้องถิ่น จุดเพิ่มรอยร้าว 'แดง-เพื่อไทย'

08 พฤษภาคม 2555

ผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองเชียงราย ที่ สมพงษ์ กูลวงศ์ จากพรรคเพื่อไทยพ่ายให้กับ วันชัย จงสุทธนามณี

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

ผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองเชียงราย ที่ สมพงษ์ กูลวงศ์ จากพรรคเพื่อไทยพ่ายให้กับ วันชัย จงสุทธนามณี จากพรรคภูมิใจไทยถือเป็นการหักหน้าทั้งพรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะ จ.เชียงราย ถือเป็นฐานเสียงใหญ่ ทำให้ถูกวิเคราะห์ว่ากระแสเพื่อไทยแผ่วลงหรือไม่ แม้ว่าตระกูลสุทธนามณีจะเป็นหน้าเก่า แต่ชื่อชั้นของ สมพงษ์ อดีตนายกเทศมนตรีสมัยที่ผ่านมา ซึ่งได้รับแรงหนุนจาก สามารถแก้วมีชัย สส.เชียงราย และ สส.เพื่อไทยส่วนใหญ่ ก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน

เมื่อนำผลเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองเชียงรายไปเทียบเคียงกับผลการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลายแห่งก่อนหน้านี้ ย่อมสะท้อนนัยสำคัญที่กระทบกับพรรคเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะที่ จ.ปทุมธานี สุเมธ ฤทธาคนี อดีต สส.พื้นที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งลาออกจาก สส.ไปลงสมัครแข่งกับชาญ พวงเพ็ชร์ นายก อบจ.คนเก่าจากพรรคภูมิใจไทย ก็พ่ายแพ้ไปอย่างหลุดลุ่ยเช่นเดียวกับที่ จ.กาญจนบุรีซึ่ง รังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ เอาชนะ พล.ท.มะ โพธิ์งาม จากพรรคเพื่อไทยไปกว่า 4 หมื่นคะแนน

แต่ตลอดทั้งปีนี้ไม่ได้มีเลือกตั้งท้องถิ่นแค่ 3 สนาม เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศว่าเฉพาะสนามนายก อบจ. ปีนี้มีเลือกตั้งทั้งหมดใน 76 จังหวัด เนื่องจากครบวาระ4 ปีพอดี เมื่อรวมกับสนามนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกเทศบาล นายกเทศมนตรี ที่ครบวาระเช่นกัน ปีนี้จะมีเลือกตั้งท้องถิ่นรวมกว่า 3,118 แห่งเลยทีเดียว

แม้จะเป็นเจ้าแห่งสนามใหญ่ที่มี สส. มากกว่า 265 คน และได้รับคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ 15 ล้านเสียง แต่ต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยเองไม่ได้มีฐานที่มั่นคงในสนามท้องถิ่นเสมอไป แม้แต่ในภูมิภาคที่มีความเชี่ยวชาญมากที่สุดอย่างภาคอีสาน และภาคเหนือนั้น หลายจุดยังคงวุ่นไม่รู้จบ เนื่องจากธรรมชาติการบริหารงานในพรรค ซึ่งเป็นลักษณะร้อยพ่อพันธุ์แม่ รวมศูนย์จากกลุ่มก๊วนการเมืองที่แตกต่างกัน พร้อมกับมีมวลชนจากกลุ่มเสื้อแดงที่เติบโตขึ้นในระยะหลัง เข้ามาขอแบ่งเค้กด้วย ก็ยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทยต้องพบกับความยากลำบากในการเลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้น

เลือกตั้งท้องถิ่น จุดเพิ่มรอยร้าว 'แดง-เพื่อไทย'

ถึงขั้นที่ว่าตัวแทนและผู้สมัครนายก อบจ.แต่ละคนต้องเดินทางไปหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อขอรับการสนับสนุน และคำยืนยันว่านายใหญ่เอาด้วย ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งที่ สมคิด บาลไธสง พาบุตรสาว มัณฑนา บาลไธสง ไปฝากเนื้อฝากตัวต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ลาว ให้เป็นตัวแทนลงสมัครนายก อบจ.หนองคาย

แม้ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยจะประกาศชัดแล้วว่าไม่ขอเข้าไปเกี่ยวข้องกับสนามท้องถิ่นเพื่อลดความขัดแย้งภายในสมาชิกพรรคด้วยกันแต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้ง สส.ในพรรค กลุ่มคนเสื้อแดง รวมถึงกลุ่มหัวคะแนนต่างก็อ้างความเป็นพรรคเพื่อไทย และอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับให้เป็นตัวแทน ทำให้สุดท้ายก็หนีไม่พ้นความขัดแย้งในพื้นที่อยู่ดี

ที่เห็นได้ชัดก็จากสนามการเลือกตั้งนายก อบจ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ซึ่ง “หมอแหยง” นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้สมัครที่สุภรณ์ อัตถาวงศ์ แกนนำ นปช. วิรัช รัตนเศรษฐ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย และอุบล เอื้อศรี ประธานกลุ่ม นปช.โคราชสนับสนุน กลายเป็นว่าต้องแข่งขันกันอย่างรุนแรงกับ ว่าที่ ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี อดีต รมว.ไอซีที ที่มีแกนนำและ สส.เพื่อไทยอีกปีกสนับสนุน นำโดย นพดล ปัทมะ รวมถึงเจ้าของพื้นที่เดิมอย่าง สุวัจน์ ลิปตพัลลภ หนุนอยู่ด้วย ดุเดือดถึงขั้นติดป้ายว่า “ระวังพวกแกนนำแดงอันธพาล เราไม่เอาแดงเทียม” จนสุดท้าย ว่าที่ ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ ก็เอาชนะหมอแหยงไปอย่างขาดลอย

ตัวอย่างการอ้างเป็นตัวจริงของ พ.ต.ท.ทักษิณ สายตรง นปช. รวมถึงสายตรงพรรคเพื่อไทย ยังเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง ทั้งที่ จ.ลำปาง ที่ สุนี สมมี อดีตนายก อบจ. ซึ่งลาออกจากตำแหน่งมาสมัครเลือกตั้งอีกครั้ง อ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่เริ่มเป็นนายก อบจ.เมื่อ 2 สมัยที่แล้ว และยังสนิทสนมกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอย่างดี ขณะที่คู่แข่งอย่าง ดาชัย อุชุโกศลการ อดีตสมาชิก อบจ.ลำปาง ประธานกลุ่มเสื้อแดงพลังลำปาง ก็อ้างว่าได้รับไฟเขียวจากดูไบเช่นเดียวกัน

ไม่ต่างกับที่ จ.เชียงราย ซึ่ง สลักจฤฎดิ์ติยะไพรัช ภรรยา ยงยุทธ ติยะไพรัช ที่สมัครเป็นนายก อบจ.นั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงถึงขั้นที่ว่า ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ลงไปร่วมหาเสียง ก็ต้องมาขัดแย้งกับ สฤษฏ์อึ้งอภินันท์ คู่แข่งอดีต สส.เชียงราย พรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน ซึ่งใช้ชื่อกลุ่มว่า “เพื่อไทยเชียงราย” และอ้างว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนเสื้อแดงเช่นเดียวกัน จนคนเสื้อแดงบางกลุ่มยังไม่พอใจแกนนำถึงตอนนี้

ข้ามไปที่เมืองหลวงคนเสื้อแดงที่ จ.อุดรธานี แม้จะมีข่าวว่าได้ตัวผู้ท้าชิงอย่างเป็นทางการชื่อ ประสพ บุษราคัม แล้ว แต่ล่าสุดก็เกิดความขัดแย้งขึ้นในกลุ่มเสื้อแดงอุดรฯ ด้วยกัน โดยเฉพาะระหว่าง กิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ อดีต รมช.คมนาคม ในรัฐบาล ปู 1 ที่ต้องการส่งโอปอล์ หัตถสงเคราะห์ ลูกสาวข้าม จ.หนองบัวลำภู มาลงแทน เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.สุรทินพิมานเมฆินทร์ สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทยที่อยากให้ลูกสาวลง ทำให้ สส.อุดรธานี ต้องโทร.หา พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อเคลียร์ด้วยตัวเอง จนได้ข้อสรุปจะให้ วิเชียร ขาวขำ สส.บัญชีรายชื่อลาออกมาลงสนาม อบจ. เพื่อบีบบังคับให้ทุกฝ่ายต้องยอมรับโดยดุษณี ทำให้ประสพต้องถอนตัวโดยปริยาย

ปัญหาการช่วงชิงอำนาจในสถานการณ์ที่เสื้อแดงโต และเข้ามากินทับพรรคเพื่อไทย ล่าสุดพรรคเพื่อไทยแก้ไขโดยเสนอให้ สส.แต่ละจังหวัดสร้างระบบไพรมารีโหวตเพื่อคัดเลือกผู้สมัครนายก อบจ. นัยว่าเอาใจเสื้อแดง เพราะเปิดกว้างรับฟังเสียงจากข้างล่างคือเสื้อแดง มากกว่าใช้อำนาจของพรรค และ สส.ในพื้นที่ตัดสินใจเอง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังวุ่นไม่รู้จบ เพราะทุกกลุ่มต่างก็วิ่งหา พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อเป็นยันต์กันเหนียว

ที่น่าสนใจคือหลังจากนี้พรรคเพื่อไทยจะจัดการอย่างไรกับคู่ขัดแย้งที่เป็นลูกหม้อพรรคและมวลชน ท่ามกลางการแบ่งสรรผลประโยชน์ให้ครบทุกฝ่าย เพราะหากปล่อยเป็นเช่นนี้ต่อไป จากสองขาที่เคยร่วมกันตี ย่อมลงสมัครตัดคะแนนเสียงกันเอง จนคู่แข่งอย่างพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ คว้าชิ้นปลามันไปครองอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

นี่คือบทพิสูจน์กึ๋นการแก้ปัญหาของพรรคว่า ความขัดแย้งระหว่างมวลชนกับแกนนำพรรคจะจัดการกับมวลชนอย่างไรให้ลงตัว แบ่งสรรผลประโยชน์ อำนาจ กันให้ครบในช่วง “แดงขาขึ้น”

หรือจะต้อง ตอนเสื้อแดงบางส่วนทิ้ง ไม่ก็ให้กลับมาอยู่ในระบบเพื่อไทยให้เร็วที่สุด