posttoday

คสช.ทำประเทศถอยหลัง เสี่ยงขัดแย้งซ้อนขัดแย้ง

29 พฤษภาคม 2559

"การที่ คสช.​มองอะไรเหมือนคนตาบอด ฟังแต่เสียงคน ใกล้ชิดอำนาจ ไม่ฟังเสียงคน แล้วมีผลประโยชน์ทับซ้อน มันไม่ใช่จะทำให้ประเทศชาติถอยหลังเพียงอย่างเดียว แต่จะสร้างความขัดแย้ง ในอนาคตที่ไม่สามารถปรองดองได้อีกเลย ถ้ายังมีอำนาจต่อไป"

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม, ธนพล บางยี่ขัน

กว่า 2 ปีกับการบริหารของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมีให้ได้ยินอย่างต่อเนื่อง กว้างขวางและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ร้อนจนองค์กรนานาชาติต้องหันมาจับตาเป็นพิเศษ โจทย์ใหญ่อย่างเรื่อง “ปรองดอง” นอกจากไม่ก้าวหน้าแล้วยังอาจกำลังจะถอยหลัง

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ วิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญแสดงความเป็นห่วงต่อท่าทีของ คสช.ในเวลานี้หลายเรื่อง

ไกรศักดิ์ มองว่า ในช่วงที่ คสช.ตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ มีนายพลนั่งอยู่ในนั้น 3 คน เขามีโอกาสไปพูดคุยด้วยในฐานะกรรมการสิทธิฯ ร่วมกับ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ โดยเสนอว่าไม่ควรสร้างความขัดแย้งเพิ่มจากการรัฐประหาร ไม่ควรใช้ทหารในรูปแบบที่ดูเหมือนเข้าข้างฝ่ายผลประโยชน์ บริษัทขุดเหมือง ขุดทอง แต่ควรจะเป็นฝ่ายปกป้องชาวบ้านจากการใช้ความรุนแรง

ทว่า หลังจากที่กรรมการชุดนั้นพอจะเริ่มเข้าใจก็ไปยุบ นายพลที่เข้าใจก็ขับออกไปหมด เหลือแต่คนที่ใกล้ชิด แล้วไม่ส่งข่าวร้ายให้ สิ่งนี้ทำให้ความปรองดองในประเทศล้มเหลว สิ่งที่ควรจะทำได้ ประสบการณ์ จากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.​) คนเก่าๆ รู้ดี ​แต่กลับไปเอาตำรวจ ทหารเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่หมด สิ่งที่เคยศึกษาก็หายไป นอกจากไม่สามารถปรองดองได้แล้วยังจะเกิดความขัดแย้งเชิงซ้อนขึ้นมาอีก ​

“ที่ผ่านมาความขัดแย้งแบ่งง่ายๆ ระหว่างเสื้อเหลือง เสื้อแดง ซึ่งลงเอยกันไม่ได้ เพราะไม่มีความยุติธรรม แต่ละฝ่ายบอกไม่มีความยุติธรรมแล้วจะสร้างความยุติธรรมยังไง เหตุการณ์​ที่ร้ายที่สุดก็ไม่เดิน คอร์รัปชั่นก็ไม่เดิน รัฐประหารบอกว่า 8 แสนล้านบาทหายไปเพราะจำนำข้าว ตอนนี้กลายเป็น 5 แสนล้านบาท กลายเป็น 2.5 แสนล้านบาท ลดไปทุกวัน คดีก็ไม่เดิน

“ถ้าเราสามารถเร่งความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม เพื่อให้เห็นว่าเรามีรูลออฟ ลอว์ มันจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นธรรมในการรัฐประหาร แต่ที่ผ่านมาไม่เกิดขึ้น เด็กออกมาประท้วงไม่กี่คนก็จับทันที ดคี 112 ก็ขึ้นศาลทหารทันที ใครจะมาพูดเชิงลบเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ก็ออกกฎหมายมาลงโทษ”

ไกรศักดิ์ ประเมินว่า ภาพพจน์ที่แย่ที่สุดคือ กรณีอุยกูร์ที่รัฐบาลอนุญาตให้ตำรวจ กองทัพจาก ประเทศจีน เข้ามาในประเทศไทยหลายร้อยคน มาจับกุมชาวอุยกูร์ จับใส่กุญแจ ครอบหัวไอ้โม่งดำขึ้นเครื่องบินส่งไปประเทศจีน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ประเทศ​ไทย

ผู้ลี้ภัยจากเขมรเป็นแสน จากลาวเป็นหมื่น ก็ต้องเปิดประตูให้อยู่ไม่เคย​อนุญาต​ให้ทหารเมียนมาจับกลุ่มกะเหรี่ยง หรือส่งกลับ

สาเหตุที่เราตัดสินใจเช่นนี้เพราะเราจะเป็นพันธมิตรกับจีน สะท้อนว่าคนที่ใกล้ชิดรัฐบาลนี้ไม่ค่อยมีปฏิภาณ​ในระบบสากลเพียงพอ ทำอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะตลาดที่ใหญ่สุดของเราอยู่ที่สหรัฐ ยุโรป การท่องเที่ยวอาศัยตะวันตกเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์​มีจีนแบ่งไปสามสิบเปอร์เซ็นต์ในตอนนี้

อีกมุมที่ต้องจับตาคือ ยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะต้องย้อนไปถาม คสช.ว่า หมายความว่าอย่างไร ทั้งการลดภาษีเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทต่างๆ การตั้งประชารัฐให้บริษัทยักษ์ใหญ่ผูกขาดมาเป็นตัวแทน ซึ่งบริษัทเหล่านี้คุ้นเคยต่อการบริหารในรูปแบบการกอบโกยกำไร จนเราเห็นว่าป่าหายหมดแล้วกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพื่อไปทำอาหารสัตว์​

“บริษัทใหญ่คุณไม่ต้องไปอุ้มมันหรอกเพราะเขาอยู่ได้อยู่แล้ว ทุกยุคสมัยเข้าไปประคับประคองจนจะลอยฟ้า มิหนำซ้ำ จากข้อมูลที่เขาได้บริษัทผูกขาดเหล่านี้จะไปเปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ​ใน 10 กว่าจังหวัด โดยประกาศไปแล้วที่ จ.ตาก ว่าจะเอาประชากรออกหมดจะเอาพื้นที่ทำมาหากินของคน 3-4 ชั่วอายุคน ​ไปทำเป็นเขตอุตสาหกรรมให้ต่างชาติมาลงทุน ​แล้วใช้แรงงานถูกจากเมียนมา แล้วส่งสินค้าไปเมียนมา

“...ผมว่าไม่มีเหตุผลเลยถ้าทำอีกที่ จ.สระแก้ว ทำอีกที่อื่นๆ จนกระทั่งให้ครบ 10 จังหวัด​ 8 แสนไร่ทั้งหมด ผมว่าเป็นประเด็นแรกที่จะสร้างความขัดแย้งในระดับชาติ​ ลงไปภาคใต้ก็ลุกเป็นไฟ ไม่ว่าไปที่ไหน สงขลา ก็ไปกดดันชาวบ้าน ใช้ระบบกดดันชาวบ้านเสียจนไม่กล้าประชุมต่อต้านโรงไฟฟ้า ถึงแม้จะไปตั้ง 2 โรงที่นั่น โรงละ 600 เมกะวัตต์”

ต่อเนื่องด้วยการจะสร้างท่าเรือ​ออกไป 4 กม. เพื่อขนถ่านหินจากอินโดนีเซียเข้ามา เช่น เดียวกับที่ จ.กระบี่ สตูล ที่ทำท่าเรือน้ำลึก ซึ่งจะไปทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างเสร็จเมื่อไหร่ชาวบ้านก็เจ๊งเมื่อนั้น วิถีชีวิตเขาจะสลายตัวอย่างสิ้นเชิง พื้นที่ที่จะไปจับปลาทำมาหากินก็จะน้อยลง

​สำหรับ จ.สตูล ขณะนี้ มี 2-3 หมู่บ้านบอกว่าต้องเตรียมย้ายออกเพราะจะทำรถไฟทางคู่เพื่อเป็นแลนด์บริดจ์​ 2 เมตรผ่านหน้าบ้าน เวนคืนแค่ตารางวาละ 125 บาท เขาบอกย้ายมาอยู่ร้อยกว่าปี นี่จะไปล้มภูเขาสองลูก เอาดินหินมาทำท่าเรือน้ำลึกสตูล

ไกรศักดิ์ กล่าวว่า จ.สตูล ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982 รับรองโดยยูเนสโก ​แต่กลับมีการอนุมัติสร้างท่าเรือน้ำลึกไปแล้วห่างจากมาเลเซีย 2 กม.เท่านั้น ​ตรงนี้ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมนโยบายที่จะมีทั้งโรงเผาขยะถ่านหินเกือบ 8 โรง ที่เชื่อว่าอาจจะลงสุราษฎร์​ โดยเข้าใจว่าผู้นำแถวนั้นอาจจะต้องการ ตรงนี้ไม่แน่ใจ และยังมีโรงเผาขยะที่จะทำทุกจังหวัดอย่างน้อย 50 กว่าจังหวัด โดยไม่ต้องผ่าน EIA ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว  

“ตรงนี้คือยุทธศาสตร์ที่คิดกันใหญ่โตที่พิจารณาใหม่ไม่ได้แล้วหรือ จะต้องเอายุทธศาสตร์นี้ไปให้สำหรับวุฒิสมาชิกเดินต่อ บังคับทุกรัฐบาลให้เดินตามนี้หรือเปล่า”

อีกทั้งยังเห็นมีการออกกฎหมายว่าต้องไปสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินที่ จ.นราธิวาส เพื่อให้ชาวบ้านมีความสุข จะได้ไม่มีความขัดแย้ง​ ซึ่งต้องถามกลับว่าได้ไปถามชาวบ้านหรือยังว่าต้องการโรงไฟฟ้าหรือเปล่า อ.เทพา ห่างจาก จ.ปัตตานี แต่ที่มหาวิทยาลัยปัตตานียังเดินขบวนต้านเพราะควันไปถึง

“ผมคิดว่าทุกยุทธศาสตร์ ถ้าไม่มีการมีส่วนร่วมทางวิชาการ นักธุรกิจของทั้งกลุ่มขนาด​ใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ​นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม ​พรรคทางเลือกใหม่ ที่สามารถล็อบบี้เสียงตัวเอง ชุมชนที่ได้รับผลกระทบกระเทือนโดยตรง คุณจะบอกว่าเป็นยุทธศาสตร์ได้ไง”

ไกรศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่จะเกิดขึ้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งอีกขั้น เป็นความขัดแย้งที่ซ้อนไปอีกชั้น ซ้ำเติมปัญหาเดิมในอดีตที่ยังแก้ไม่ได้ กลายเป็นความขัดแย้งที่ลงไปในระดับพื้นที่ที่รุนแรงกว่าเดิม

สิ่งที่เขาประสบความสำเร็จที่สุดคือเขาพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ ถ้าเขามีสิทธิ ยกตัวอย่าง จ.กระบี่ ไม่เอาถ่านหิน แต่ว่าเขามีทางเลือกดีกว่าถ่านหิน ​ได้ประโยชน์​สำหรับพื้นที่ คือไฟฟ้าจากชีวมวล โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม สามารถผลิตเป็นรายได้ท้องถิ่น และสามารถส่งไปขายที่ จ. นราธิวาส นครศรีธรรมราช และจังหวัดอื่นๆ ​แต่เขาให้ทำแค่ 37% ทั้งที่เขามีความพร้อมที่จะทำ 170 -200% ถ้าให้เขาได้ทำ รวมทั้งผลิต จากแสงอาทิตย์​ก็อยากทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าทำได้และไม่มีมลพิษมาทำลายสิ่งแวดล้อม ​

“พล.อ.ประยุทธ์​ พล.อ.ประวิตร จะรู้ไหมเรื่องนี้ เพราะความคิดเห็นของเขามาจากกระทรวงพลังงาน มาจากปลัดที่นั่งอยู่ในบอร์ดของอีแกต ที่มีการลงทุนถ่านหินอยู่ที่อินโดนีเซียแล้วขายไม่ออก ก็มาผลักดันให้ชาวบ้านรับเรื่องนี้”

ไกรศักดิ์ กล่าวอีกว่า นโยบายหลายเรื่องดูเหมือนจะไปเอาอกเอาใจนายทุนขนาดใหญ่เพื่อให้เขาเข้าข้างตัวเอง เพื่อหลุดออกจากความหวังว่าต้องไปพึ่งทักษิณอีก ​​เช่น อยากได้ที่ดินหรือ เอาไปเลย 99 ปี เดี๋ยวให้เลย อยากเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ เดี๋ยวไปไล่คนออกเอง ไปเวนคืน ไม่ต้องไปซื้อด้วย  

“ผมเป็นห่วงว่าประวัติศาสตร์มันไม่ซ้ำรอย โครงสร้างเหมือนดูคล้ายกันมาก เราก็ประเมินได้ว่าปัญหาที่จะตามมาคืออะไร คือ ประชาธิปไตยท้องถิ่นหรืออำนาจของประชาชน มันหายไปในพริบตา แต่คุณจะกระทำอะไรต่อประชาชนเหมือนในอดีตโดยที่เขาไม่ฟ้องร้อง ไม่โวย หรือไม่ต่อสู้ก็ไม่ได้อีกแล้ว วันนั้นที่จับคนใส่ถัง คุณไปทำท่าเรือน้ำลึกที่ชลบุรี มาบตาพุด คนยังไม่รู้สิทธิของตัวเองด้วยซ้ำ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่อย่างนั้น แต่วิธีคิดของผู้นำยังเป็นอย่างนั้น”

ไกรศักดิ์ ประเมินว่า คสช.ยังคิดไม่ทะลุ อย่างเงื่อนไขต่างประเทศจะไปอยู่กับรัสเซีย เศรษฐกิจรัสเซียก็ล่มจม ถามว่าคุณจะเอาเศรษฐกิจรัสเซียมาแบกตลาดแค่ตลาดปลากระป๋องอย่างเดียว แทนสหรัฐหรือจีนได้ไหม ก็ไม่ได้ จีนก็เป็นคู่แข่งขันกับเราอยู่แล้ว

“เขาคิดไม่ทะลุ ขาดนิดเดียวคือเอาคนจากป๋าเปรม เอามีชัยมาร่างรัฐธรรมนูญ เอาคนจากอดีตมาคละกันอยู่ เดินแทบจะชนกัน เอาทหารหนุ่มที่ไม่เคยทำอะไรมาก่อนมาเดิน ธุรกิจก็ไปเอาพวกตัวเองเข้ามา เอาลูกชายธุรกิจยักษ์ใหญ่เข้ามาได้แค่นี้หรือ ​มันก็คือการสร้างการขัดแย้งอีกชั้น”

ไกรศักดิ์​ มองว่าท่ามกลางความมืดก็ยังมีแสงสว่าง อย่างการที่รัฐบาลยกเลิกสัมปทานเหมืองทองคำ แม้จะเป็นเพียงแค่นโยบาย ที่ยังไม่เห็นโครงสร้างที่แท้จริง แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิที่จะแก้ปัญหาเหมือนสมัยทักษิณ คือ ใครโผล่มาฆ่าเรียบก็ไม่เกิดขึ้นเหมือนสมัยนั้น”

“ผมเป็นห่วงว่าถ้าเดินต่อไปเรื่อยๆ ในแนวนี้ จะต้องใช้การเผด็จการสูงขึ้นเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ของตัวเองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ดังนั้นควรจะต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ วิธีเดียวก็คือต้องให้คนมีปากมีเสียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เองอาจไม่ต้องลงมา เพราะไม่ค่อยฟังคนอยู่แล้ว แต่อาจต้องมีกลไกให้คนได้แสดงความคิดเห็นบ้าง กลไกที่ว่าก็คือรัฐสภา”

ไกรศักดิ์​ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการรวมศูนย์อำนาจทางการเมือง ทำให้ประชาชนยอมตายออกมาประท้วงเกิดพฤษภาทมิฬ จนต่อมามีการคลี่คลายให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เศรษฐกิจอาจจะยังอยู่ที่ กทม. แต่ปัจจุบันกลับมีการรวบอำนาจการเมืองกลับคืนมาแถมบอกห้ามกระจายอีก

“นี่หรือคือการปฏิรูป เป็นการถอยหลังมากกว่าคำว่าปฏิรูป หมายถึงการหมุนเวียนไปข้างหน้า แต่ดู คสช.ยังไม่สามารถหาคำว่าปฏิรูปได้เจอในพจนานุกรมของ คสช.

“...การที่ คสช.​มองอะไรเหมือนคนตาบอดฟังแต่เสียงคนใกล้ชิดอำนาจ ไม่ฟังเสียงคน แล้วมีผลประโยชน์ทับซ้อน มันไม่ใช่จะทำให้ประเทศชาติถอยหลังเพียงอย่างเดียว แต่จะสร้างความขัดแย้งในอนาคตที่ไม่สามารถปรองดองได้อีกเลย ถ้ายังมีอำนาจต่อไป”ไกรศักดิ์กล่าวสรุป

คสช.ทำประเทศถอยหลัง เสี่ยงขัดแย้งซ้อนขัดแย้ง

แก้ภาคใต้...ซ้ำรอยทักษิณ วัฏจักรแห่งความรุนแรง

ไกรศักดิ์ วิเคราะห์ว่า ในภาพเปิดการละเมิดสิทธิมีความรุนแรง​มาก ​รัฐบาลปัจจุบันมาจากการรัฐประหาร สิทธิเสรีภาพบางอย่างถูกยกเลิกเพื่อปฏิรูป ปรับโครงสร้าง แต่​การกระทำที่ผิดกฎหมายที่ผ่านมาอย่าง ปราบม็อบ ใช้ความรุนแรงจนมีการล้มตาย ควรเดินเรื่องนี้ไปถึงที่สุด ประชาธิปัตย์เคยเดินเรื่องนี้ แต่ต่อมาถึงรัฐบาลเพื่อไทยกลับไม่มีการเคลื่อนไหวเต็มที่ การตายของคนกลายเป็นการสร้างปรปักษ์ขึ้นมาทันที​

ทั้งนี้ นักสิทธิมนุษยชนยังหวังอยู่ว่าคดีต่างๆ ​ทั้งการฆ่าคนนับสามพันเรื่องยาเสพติด กรือเซะ สะบ้าย้อย ตากใบ ในช่วงรัฐบาลทักษิณ น่าจะมีการสอบสวน ดำเนินการให้ความเป็นธรรม ​คดีต่างๆ เหล่านี้ ไม่อยู่ในบัญชีของ คสช.เลย ​แต่อยู่ในบัญชีหลังการรัฐประหาร 2549 มีการตั้งคณะกรรมการชุด คณิต ณ นคร ขึ้นมาสอบสวน แต่ลืมไม่ได้ให้อำนาจสั่งฟ้องศาล

“เขาถึงมีปัญหากับสากล ​กับรัฐบาลตะวันตก ที่มองเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิพื้นฐาน โดยเฉพาะการฆ่าคน การใช้อำนาจรัฐเพื่อปลิดชีวิตคน ถ้าเรื่องนี้เดินขึ้นมาเมื่อไหร่ รัฐบาลสหรัฐ ไม่สามารถเปิดปากวิจารณ์ได้ เพราะตัวเองเคยทำให้คนตายในอิรักมากกว่า 2 ล้านคน เกิดความปั่นป่วนจากสงคราม ทำให้คนตายไม่รู้กี่แสนในภูมิภาค ในศตวรรษนี้การไม่คำนึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนคุณก็อยู่ไม่ได้”

​​อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าการไปเข้าค่าย 2-3 วัน ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิร้ายแรง เพราะไม่ได้ขังตาย ทุบตี ทรมาน แค่เอาไปขู่เฉยๆ ​แต่ถ้าเรานำเรื่องการละเมิดสิทธิในสมัยรัฐบาลประชาธิปไตย มาเป็นเหตุผลสำคัญอันหนึ่งในการรัฐประหาร รัฐบาล คสช.นี้ก็จะมีความชอบธรรมสูงขึ้นด้วย แต่ในเวลาเดียวกันรัฐบาลนี้กลับเลือกที่จะใช้ศาลทหาร ในการดำเนินคดีทางการเมือง โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ทั้งที่หลายคดีไม่ควรขึ้นศาลทหารเพราะเป็นศาลที่มีเจตนาเพื่อลงโทษกันเองของทหารที่ติดอาวุธ

​“ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ที่สุดที่ทั่วโลกมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ คสช.​เขาไม่เข้าใจ หรือทำเป็นไม่เข้าใจ หรือเพราะตัวเองไปยุ่งเกี่ยวด้วยกับการกระทำของศาลทหาร หลายคนก็อยู่กับทักษิณ ด้วยความอบอุ่น หรือเปล่า กลัวมันจะย้อนกลับมาเข้าตัวเอง แต่ว่าทำไม พล.อ.สุรยุทธ์ ​สมัยนั้นทำได้ ลงไปภาคใต้ไปขอโทษชุมชน ผู้นำชุมชนสองครั้ง​

…รัฐบาลนี้ไม่ทำ กลับทำตรงกันข้าม คล้อยตามเส้นทางที่ทักษิณวางไว้หมด ยกตัวอย่าง คนอื่นอาจไม่พูดถึง แต่เรื่องนี้สำคัญมาก สามจังหวัดภาคใต้สำคัญมาก ก็ตามเส้นทางทักษิณไง ทักษิณเดินเรื่องนี้กับนาจิบ ราซัค นายกฯ มาเลเซีย จัดให้ บีอาร์เอ็น มาเจรจากับรัฐบาลไทย แต่เป็นบีอาร์เอ็นที่สถาปนาขึ้นมาเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบีอาร์เอ็น ไปบังคับ ฮาซัน ให้เป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็น ไปจัดตั้งการเจรจาที่กัวลาลัมเปอร์ วันนั้นเกิดระเบิดวันเดียว 50 จุด มันก็น่าจะเห็นอยู่แล้วมันไม่ใช่ เป็นการประท้วงโดยผ่านระเบิด ความรุนแรง”

ไกรศักดิ์ อธิบายว่า ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารแล้วไปขอโทษในพื้นที่ก็จะเป็นเรื่องดี แล้วจะบอกได้ว่า สิ่งที่ทักษิณทำไม่ได้เรื่อง ไม่ใช่ของแท้ ไม่ตั้งใจ ถึงต้องทำรัฐประหาร คสช.มีจุดประสงค์​เพื่อยุติการใช้ความรุแรง แต่เมื่อเดินรอยตามทักษิณทุกวันนี้ก็ยังเจรจา มันก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่เจรจากับตัวจริง ดังนั้นต้องกลับไปมองตัวเอง ว่าเป็นความผิดของตัวเองด้วยหรือเปล่าที่เดินตามทักษิณ​

น่าแปลกไหมที่ทุกปี แม่ทัพภาคที่ 1 รวมกับทั้งกองทัพภาคที่ 1 จะลงไปภาคใต้ อีก  6 เดือน กองทัพภาคที่ 2 ก็จะลงไป อีก 6 เดือน ภาคที่ 3 ภาคที่ 4 ก็จะลงไปหมุนเวียน แล้วเมื่อไหร่ กองทัพไทยจะคุ้นกับการพัฒนาประเทศในรูปแบบสันติวิธี แล้วเมื่อไหร่ กองทัพ จะเป็นกองทัพที่สามารถทำเรื่องหลากหลาย นอกจากเรื่อง​ปราบปรามประชาชน นอกเหนือจากทรมาน ระเบิด การใช้ความรุนแรง เป็นกองทัพที่ทันสมัยจริงๆ

อีกทั้งสมัยทักษิณ ​รัฐตำรวจก็มาจากการใช้อำนาจนอกกฎหมาย โดยใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามฝ่ายค้าน ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ ทำไมไม่ปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องแรก ตามมาด้วยปฏิรูปกองทัพ แต่กลับกลายเป็นการเดินตามทักษิณไป อดทำให้เรานึกไม่ได้ว่าเขาอาจจะชอบรักษาความรุนแรงภาคใต้เพื่อใช้งบประมาณด้านความมั่นคง โดยไม่ต้องตอบคำถาอะไรมากมายหลายแสนล้านบาทหรือเปล่า

“มันก็ไม่จบเป็นวัฏจักรของความรุนแรง การเอาทหารที่ผ่านการสู้รบภาคใต้มาสดๆ ร้อนๆ เอา ขึ้นไปภาคอีสาน ก็ไปไล่กระทืบชาวบ้าน ไม่ได้มองว่าเป็นมนุษย์ที่​มีสิทธิพื้นฐาน แต่กลายเป็นศัตรู ผู้ประท้วงเรื่องเหมือง เรื่องสิ่งแวดล้อม เจ็บป่วยจากผลกระทบมลพิษ  แทนที่จะไปช่วยเป็นตัวแทนชาวบ้าน กลับไปเป็นฝ่ายปราบปรามอย่างสิ้นเชิง น่าอนาถที่สุด ที่แม่ใหญ่ภาคอีสาน ต้องก้มลงไปกราบรองเท้าบู๊ต”

คสช.ทำประเทศถอยหลัง เสี่ยงขัดแย้งซ้อนขัดแย้ง

ทหารจะตั้งพรรคเหมือน "บิ๊กสุ" แต่ พท.ชนะได้เสียงข้างมาก

นับจากนี้กับอีกหนึ่งปีที่เหลืออยู่ของ คสช. ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ หนึ่งในทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก สมัยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ วิเคราะห์ว่าประวัติศาสตร์ดูเหมือนจะซ้ำรอย แต่ไม่ได้ก็อบปี้มาแบบตรงๆ เพียงแค่คล้ายๆ แต่ในรายละเอียดอาจจะมีแตกต่างไปบ้าง 

เริ่มจากนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอาจจะเป็นทหารก็เป็นได้ คสช.คงต้องมองหาคนที่คนส่วนใหญ่เคารพนับถืออย่าง “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ ซึ่งมีอำนาจพิเศษ นอกเหนือจากผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ​แล้วยังมีคุณธรรมด้วย เป็นคุณธรรมที่เกือบจะศักดิ์สิทธิ์ และสามารถปกครองได้ท่ามกลางความขัดแย้งสูงมากในกองทัพ

ปัจจุบันสภาพการแข่งขันไม่รุนแรงเหมือนในอดีต เพราะ “บูรพาพยัคฆ์” เหมือนจะสามารถดูแลได้ทั้งกองทัพ ทหารชาวบ้านไม่มีสิทธิเป็นใหญ่เป็นโต แม้จะทำงานรับใช้อยู่แนวหน้า ชายแดน ดังนั้นความไม่พอใจก็มีอยู่ แต่ว่าจะออกมารัฐประหารซ้อนก็หมดยุคนั้นไปแล้ว

“บูรพาพยัคฆ์สามารถถ่ายทอดอำนาจจากรุ่นตัวเองไปสู่อีกรุ่นเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ความขัดแย้งออกมานิดหน่อยตอนตั้ง ผบ.ทบ. มีการรื้อประติมากรรมบางจุด มีการกล่าวหาเรื่องราชภักดิ์​แต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้ แสดงว่าก็มีความขัดแย้งอยู่เหมือนกัน แต่เขาสามารถเกลี้ยกล่อม มีกลไก คงผ่านท่านรองนายกฯ​ เพราะคงเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมาขัดแย้งกันเอง เพราะศัตรูหลักคือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะมาขัดแย้งตัวเองก็ต่อเมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหายไปหมดแล้ว ความขัดแย้งกันเองถึงจะผุดขึ้นมาก็อาจเป็นไปได้ คุณจะให้ความเป็นธรรมภายในกองทัพยังไง นี่อาจเป็นความขัดแย้งอีกขั้น”

ไกรศักดิ์ วิเคราะห์ว่า ความเข้มแข็งของกองทัพจะทำให้นักการเมืองที่จะเข้ามาในอนาคตไม่ต่างจากอดีตคือรีบ “กอบโกย” เพราะตัวเองไม่มีอำนาจทำอย่างอื่น แถมไม่จำเป็นต้องหาเสียงประชานิยม เพราะทหารคุมอยู่ สมัยก่อนพรรคกิจสังคม ชาติไทย หรือพรรคอื่น จะทำอะไรได้อย่างไรหากไม่ได้รับอนุญาตจากป๋าเปรม ดังนั้นสภาพัฒน์ก็จะเป็นตัวชี้นำให้ทำนู่นทำนี่

อย่างไรก็ตาม สถาบันต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากยุคป๋าเปรม ที่เคยผูกพันทั้งกองทัพ สถาบันกษัตริย์ ข้าราชการ ศาล ป๋าเปรมได้การสนับสนุนจากตรงนี้หมด สมัยนั้นทำอะไรได้ยากหากไม่ได้รับการสนับสนุนจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ เป็น รมต.​ประจำสำนักนายกฯ ​เกือบถาวร ส่วนกระทรวงมหาดไทย กลาโหม คลัง นั้นทหารเข้าไปคุมหมด

​ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดพรรคทหารขึ้นมาเหมือนในอดีต ​ไกรศักดิ์ มองว่า คงหนีไม่พ้นเหมือนสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่มีการตั้งพรรคสามัคคีธรรม ครั้งนั้นต้องอาศัย พล.อ.ชาติชาย ให้ไปรวบรวมคน ทั้งๆ ที่รัฐประหารล้มรัฐบาล พล.อ.ชาติชายไปแล้ว ก็ยังขอให้มาช่วยตั้งพรรคลับๆ

“ถ้าไปถาม พล.อ.สุจินดา ว่าอะไรที่ทำแล้วคิดว่าทำผิดมากที่สุด เขาคงจะตอบว่า การตั้ง อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าผมพูดไม่ผิด เพราะเขาทำรัฐประหารเสร็จ อานันท์ก็ตั้งเทคโนแครตขึ้นมาทุกตำแหน่ง เขาไม่ได้อะไรเลยสักตำแหน่ง แล้วครั้งนี้จะเป็นทำนองเดียวกันหรือเปล่า แล้วเขาจะยอมหรือ ทุกวันนี้ทำสารพัดอย่าง ไม่มองหน้ามองหลัง มองซ้ายมองขวาเลย ลุยทำนโยบายต่างๆ​”

ไกรศักดิ์ มองไปหลังการเลือกตั้งว่า พรรคเพื่อไทยก็คงได้เสียงข้างมาก และเพื่อไทยเขาคงอยากทำให้การรัฐประหารไม่เกิดขึ้นอีกก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็แก้ยาก แต่โลกนี้มีวัฏจักร ดูอย่าง สหรัฐอเมริกาแนวขวาจัด เหยียดสีผิว เหยียดทางเพศ ก็มีคนเชียร์กันหูดับตับไหม้แต่ก็ยังมีกระแสต่อสู้อยู่ อีกด้าน ฟิลิปปินส์ ดูเตอร์เต ​นี่บอกว่าจะฆ่าคนเป็นหมื่นแล้วไปทิ้งทะเล ไม่ว่าจะผิดถูกยังไงก็มีคนชอบ ไปด่าพระ ด่าบาทหลวงเป็นลูกโสเภณี ​คนก็ยังนิยม

ทั้งนี้ ประชาธิปไตย ไม่ได้สร้างวัฒนธรรมใหม่แต่สร้างวัฒนธรรมซ้อน ไม่ใช่เสรีภาพแบบบริสุทธิ์ แต่เป็นเสรีภาพแบบลำเอียงเกิดขึ้นมาประชาชนเลยสับสน

คสช.ทำประเทศถอยหลัง เสี่ยงขัดแย้งซ้อนขัดแย้ง

ไกรศักดิ์​ ยังเปรียบเทียบว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับป๋าเปรม หรือบางคนบอกเหมือนสมัย พล.อ.ถนอม กิตติขจร ด้วยซ้ำ เพราะวุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง ไม่มีสิทธิชุมชน มีแต่เขียนบันทึกไว้เฉยๆ แต่ไม่มีข้อปฏิบัติ

ขณะที่โครงสร้างการเมือง ถ้ารัฐบาลหน้ามาจากการเลือกตั้งแล้วได้เสียงข้างมากสามารถตั้งนายกฯ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมวุฒิสภาได้ เพราะวุฒิสภาแต่งตั้งโดยการรัฐประหาร สุดท้ายมันจะเกิดขึ้นเหมือนสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งวุฒิสภาเกือบครึ่งแต่งตั้งโดยป๋าเปรม ทำให้หลายเรื่องที่ สว.ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ก็ทำอะไรไม่ได้ เช่นการจะไปผูกมิตร ยุติสงครามกับเขมร หรือการมีกฎหมายเพื่อยกเลิกการเซ็นเซอร์สื่อก็ทำไม่ได้ รวมทั้งทำให้ข้าราชการประจำวิ่งไปพึ่งวุฒิสภา ไปพูดใส่ร้ายป้ายสี ให้ข้อมูลผิดๆ ถูกๆ เพื่อให้ถล่มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ไกรศักดิ์ อธิบายว่า ต่อมาหลังวุฒิสภาหมดวาระไปครึ่งหนึ่งทำให้รัฐบาลสามารถตั้งคนขึ้นไปทำหน้าที่ มีทั้งเอ็นจีโอ อาจารย์ หัวหน้าแรงงาน สหภาพแรงงาน ถึงทำให้สามารถผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการยกเลิกคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 (ปร.42) ได้ 

ดังนั้น ต่อไปสมมติว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อาจอึดอัดถ้ามีความเห็นขัดแย้งกับ สว. และต้องเถียงกันไปไม่จบ กฎหมายก็ผ่านไม่ได้ กฎระเบียบธรรมดาก็อาจไม่ผ่าน ความขัดแย้งในสภาก็จะยืดเยื้อแน่นอน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มีหลายเรื่องที่ดีกว่าฉบับมีชัยมาก คสช. น่าจะนำฉบับนี้มาบังคับใช้