posttoday

เปิดตำนานเจ้าพ่อซาเล้ง "สมเกียรติ-เจเคซีไบค์"

11 กุมภาพันธ์ 2559

กว่าจะมาเป็นเจ้าพ่อซาเล้งได้ ต้องผ่านหลุมบ่ออุปสรรคต่างๆ มากมาย เพราะเส้นทางนี้ไม่โด้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

โดย...สุกัญญา สินถิรศักดิ์

เปิดตำนาน "เจเคซี ไบค์" ผู้ผลิตจักรยานรายแรกในประเทศไทย เจ้าของสมญา "เจ้าพ่อซาเล้ง" ซึ่งในเวลานี้ สมเกียรติ อนันต์สรรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคซี ไบค์ อินดัสตรี ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานภายใต้แบรนด์ "ไอโคนิค" (Iconic) ถือเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ที่เข้ามารับช่วงต่อกิจการผลิตรถจักรยานของครอบครัว โดยใครเลยจะคิดว่ากว่าจะเป็น "เจเคซี" ผู้ผลิตจักรยานที่แข็งแกร่งได้อย่างทุกวันนี้ ครอบครัวอนันต์สรรักษ์จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคมามากเพียงใด

สมเกียรติ ทายาทรุ่นสองของ เจเคซี ไบค์ อินดัสตรี กล่าวว่า รุ่นคุณพ่อเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจจักรยาน โดยคุณพ่อเป็นชาวจีนมาจากแผ่นดินใหญ่ มาอาศัยอยู่ในเมืองไทย ตอนนั้นยากจนมาก อาศัยนอนในโบสถ์คริสต์ จนได้พบรักกับสาวชาวเวียดนาม ซึ่งได้นำจักรยานสามล้อจากเวียดนามเข้ามา คุณพ่อก็เริ่มเรียนรู้วิธีผลิต จนพัฒนาสู่จักรยานรุ่นท่าเรือ ซึ่งได้กลายเป็นขวัญใจผู้ใช้แรงงาน ขนบรรทุกสินค้าและน้ำแข็ง หลังจากนั้นได้ต่อยอดพัฒนาเป็นรถจักรยานเพื่อการบรรทุกหรือ "รถซาเล้ง" ไว้ขนน้ำแข็งและเตาถ่านหุงต้ม ฯลฯ เร่ขายได้ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในหมู่คนจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย และเข้ามาทำมาค้าขาย คุณพ่อทำรถซาเล้งมายาวนานมาก

จนกระทั่งราวปี 2502 ที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 1 (ในยุคเริ่มแรกเรียกว่ากีฬาแหลมทอง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อซีเกมส์ในปี 2520) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นต้องการให้บ้านเมืองมีภาพลักษณ์ที่มีความเจริญต่อสายตานานาชาติ จึงได้สั่งห้ามผลิตรถจักรยานซาเล้งอีก

เปิดตำนานเจ้าพ่อซาเล้ง "สมเกียรติ-เจเคซีไบค์"

เวลานั้นเรียกว่าครอบครัวล้มละลายเลย เพราะเท่ากับว่าต้องปิดกิจการไปโดยปริยาย หลังจากซวนเซอยู่นานถึง 2-3 ปี คุณพ่อก็เริ่มกลับมาตั้งตัวได้ใหม่ หยิบยืมเงินจากญาติพี่น้องได้ ก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง แต่หันไปผลิตรถจักรยาน 26 นิ้วกุญแจคอ ซึ่งถือว่าเป็นที่นิยมมากในช่วงเวลานั้น

"เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ถ้าบ้านไหนมีรถจักรยาน 26 นิ้วกุญแจคอ ถือว่าเท่มาก หรูหรา เพราะราคากว่า 1,000 บาทในยุคนั้นถือว่าแพงมาก แต่ก็ขายดิบขายดี ผลิตไม่ทัน ตอนนั้นคุณพ่อก็บังคับให้ช่วยผลิตด้วย เลยรู้สึกไม่ชอบ เพราะผลิตยากมาก แต่ทุกวันนี้ต้องขอบคุณคุณพ่อที่สอนให้มีวิชา และอดทนทำในสิ่งยากๆ ได้สำเร็จ ทำให้รู้สึกรักในสิ่งที่ทำและทำให้เติบโตจนถึงวันนี้"

ในช่วงที่เริ่มพัฒนารถจักรยานทั้งรุ่น 26 นิ้ว 27 นิ้ว และ 28 นิ้วมาต่อเนื่อง ซึ่งยุคนั้นยังไม่ได้เน้นเรื่องการสร้างแบรนด์ โดยจักรยานเหล่านี้ถูกเรียกว่า “สแตนดาร์ด สปอร์ต” แต่ระยะหลังๆ ก็เริ่มใช้แบรนด์ “นิว ไลอ้อน” โดยคุณพ่อทำตลาดรถจักรยานสแตนดาร์ด สปอร์ต มาได้ราว 15 ปี ก็เริ่มมีคู่แข่งทั้งแบรนด์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ หรือจากผู้ผลิตในไทย ซึ่งช่วงเวลานั้นยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ เพราะยังมองไม่เห็นว่าสำคัญ แต่ก็ต้องปรับตัวรับการเข้ามาของคู่แข่ง

จังหวะนั้น เจนสองอย่าง “สมเกียรติ” ก็เริ่มเข้ามาสานต่อ หลังจากช่วยงานด้านการผลิตจักรยานจากคุณพ่อมายาวนาน โดยได้แตกไลน์มาทำจักรยานเสือภูเขาหรือเอ็มทีบี และจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ ซึ่งเป็นช่วงที่จักรยานทั้งสองประเภทเป็นกระแสที่มาแรงมาก และได้รับความนิยมในหมู่คนไทย โดยในช่วงเวลานั้นใช้แบรนด์จากัวร์ และอีเกิ้ล ซึ่งพอจะทำตลาดจริงจังและอยากจดลิขสิทธิ์ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะแบรนด์ดังกล่าวถูกจดลิขสิทธิ์ในสินค้าประเภทอื่นไปแล้ว

หลังจากนั้นก็เริ่มหันมาปั้นแบรนด์อื่น โดยจักรยานผู้ใหญ่ ภายใต้ชื่อเพรสซิเด้นท์ และทอร์นาโด และจักรยานเด็ก ภายใต้แบรนด์ โกสท์ และไดโนเสาร์ ซึ่งปัจจุบันแบรนด์เพรสซิเด้นท์ไม่ค่อยได้ทำตลาดแล้ว ส่วนแบรนด์ทอร์นาโด เน้นแถบอีสาน และฝั่งชายแดน เช่น ลาว เวียดนาม โดยตลาดจักรยานที่ใหญ่ในไทยจะอยู่แถบอีสาน ส่วนล่าสุดก็มีแบรนด์หลัก คือ ไอโคนิค ทำตลาดในวงกว้าง เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,500 บาท จนถึงหลักหมื่นบาท

ธุรกิจเจเคซี ไบค์ อินดัสตรี ยุคเจน 2 สมเกียรติ เล่าว่า เจเคซี ไบค์ ยังคงดำเนินธุรกิจด้านผลิต และจัดจำหน่ายรถจักรยานในประเทศไทย และรับจ้างผลิตโออีเอ็ม เพื่อรองรับกระแสความนิยมทั้งด้านสุขภาพ และรักษ์โลก โดยมีโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่ศาลายา บนพื้นที่กว่า 3 ไร่ ใช้เงินลงทุนร่วม 100 ล้านบาท เป็นค่าที่ดิน เครื่องจักร-อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยการผลิตเต็มที่แบ่งเป็นจักรยานทั้งคัน 1.8 แสนคัน/ปี ส่วนจักรยานซีเคดี 2.4 แสนคัน/ปี

โรงงานแห่งนี้ทำการผลิตตัวถังจักรยาน และชิ้นส่วนต่างๆ เช่น ตัวถัง ตะเกียบ บังโคลน บังโซ่ ปลอกมือ แฮนด์ อานนั่ง ฯลฯ และสามารถผลิตรถจักรยานได้ทุกขนาด และทุกประเภท ตั้งแต่วงล้อขนาด 12 นิ้ว ไปจนถึง 28 นิ้ว ควบคู่ไปกับการผลิตทั้งแบรนด์ของตัวเอง คือ แบรนด์ “ไอโคนิค" รวมไปถึงการรับจ้างผลิตโออีเอ็ม และผลิตจักรยานนวัตกรรมตามแบบที่ลูกค้ากำหนดด้วยการคัดสรรทุกชิ้นส่วน เน้นควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ดูแลด้านการส่งมอบสินค้าที่สมบูรณ์ถึงมือลูกค้าทุกชิ้น

ในด้านการตลาดนั้น สมเกียรติ กล่าวว่า เพื่อรองรับกระแสความนิยมการใช้จักรยาน ตลอดจนรองรับสภาวะการแข่งขัน เจเคซี ไบค์ จึงใช้กลยุทธ์การพัฒนาสินค้าใหม่ๆ โดยมีแบรนด์ไอโคนิคเป็นเรือธง เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ ประกอบด้วย พัฒนาจักรยานรุ่นใหม่ๆ ตามสมัยนิยม เช่น จักรยานเสือหมอบ และเสือภูเขา จักรยานพรีเมียมที่เจาะตลาดองค์กรที่เน้นนโยบายด้านซีเอสอาร์ และจักรยานแบบโมดิฟาย (Modify) เพื่องานด้านโฆษณา-ประชาสัมพันธ์ที่มีความต้องการมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่การพัฒนารุ่นพิเศษ สำหรับคนที่มีปัญหาทางร่างกายให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดียิ่งๆ ขึ้น โดยได้นำเข้าจากประเทศไต้หวัน มีจุดเด่น คือ เป็นระบบไฟฟ้า มีราคาประมาณ 3 หมื่นบาท จัดจำหน่ายผ่านช่องทางขายตรง และช่องทางโรงพยาบาลทั่วประเทศ

เปิดตำนานเจ้าพ่อซาเล้ง "สมเกียรติ-เจเคซีไบค์"

ปัจจุบันภาพรวมตลาดรถจักรยานทุกประเภทมีจำนวนกว่า 2 ล้านคัน โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เจเคซี ไบค์ มีอัตราการเติบโต 25% ต่อเนื่อง เป็นผลจากกระแสความนิยมในการขับขี่จักรยาน และยิ่งในปีที่ผ่านมามี 2 กิจกรรมใหญ่ภายใต้ชื่อโครงการ bike for MOM และ BIKE FOR DAD ทำให้ตลาดรถจักรยานโดยภาพรวมในปีที่ผ่านมาคึกคักอย่างยิ่ง และความนิยมในรถจักรยานที่มากขึ้น การเลือกรถจักรยานที่ได้มาตรฐาน ถือว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากความนิยมในการใช้จักรยานมีแนวโน้มสูงขึ้น นับเป็นโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมนี้ที่ภาครัฐจะหันมาให้ความสำคัญ

สมเกียรติ กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนให้ผู้มีบทบาทด้านนี้ เช่น สมาคมส่งเสริมจักรยานทั้งภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ ให้การสนับสนุน ด้วยการออกเครื่องหมาย มอก. ในรูปแบบสติ๊กเกอร์รับรองคุณภาพให้กับสินค้า และโรงงานผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานผลิตสินค้าคุณภาพ ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ และชิ้นส่วนนำเข้า เพื่อรับประกันคุณภาพ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และพัฒนาอุตสาหกรรม โดยมองว่าสติ๊กเกอร์รับรองคุณภาพ มอก. ช่วยยกระดับ และพัฒนาอุตสาหกรรมจักรยานในประเทศไทยให้เทียบชั้นระดับสากลได้

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโต คือ สภาวะการแข่งขัน การถูกบีบเรื่องราคาจากพ่อค้าปลีกรายใหญ่ ลูกค้าที่สั่งสินค้าจำนวนมากกดราคา ทำให้หลายโรงงานลดสเปกให้อยู่ในระดับราคาที่พอรับได้ สินค้าจากต่างประเทศมีราคาถูกกว่า จากต้นทุนค่าแรงที่ถูกกว่า การดัมพ์ราคากันในช่วงหน้าฝน ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่น และไม่สามารถทำราคาได้ดีเท่าที่ควรในช่วงปลายปีและเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ วันเด็ก ตรุษจีน และสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูการขาย จึงทำให้อุตสาหกรรมนี้ไม่สามารถเติบโตเท่าที่ควร

ภาพรวมทั้งหมดจึงสะท้อนให้เห็นว่า กว่าจะมาเป็นเจ้าพ่อซาเล้งได้ ต้องผ่านหลุมบ่ออุปสรรคต่างๆ มากมาย เพราะเส้นทางนี้ไม่โด้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่มีหนามซ่อนไว้ให้เจ็บๆ คันๆ ตลอด

เปิดตำนานเจ้าพ่อซาเล้ง "สมเกียรติ-เจเคซีไบค์"

น้อมรำลึกปั่นเพื่อพ่อ

แม้ว่ากระแสรักสุขภาพด้วยการปั่นจักรยานจะเกิดขึ้นมาได้ประมาณ 2-3 ปีแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าในปีที่ผ่านมาเป็นปีที่กระแสปั่นจักรยานมาแรงสุดๆ ด้วย 2 กิจกรรมใหญ่ภายใต้ชื่อโครงการ bike for MOM และ BIKE FOR DAD ทำให้ความต้องการจักรยานใหม่เพิ่มขึ้น หรือจักรยานเก่าก็ถูกปัดฝุ่นนำมาซ่อม และนำมาปั่นใหม่อีกครั้ง ซึ่งกลุ่มเจเคซีฯ ก็มีโอกาสร่วมในทั้งสองกิจกรรม

สมเกียรติ อนันต์สรรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคซี ไบค์ อินดัสตรี กล่าวว่า ในกิจกรรม BIKE FOR DAD ช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เจเคซี ไบค์ อินดัสตรี ได้เริ่มโครงการ “ซ่อมเพื่อพ่อ” เป็นโครงการจิตอาสา เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มจักรยานจิตอาสา 10 กว่าท่าน และ เจเคซี ไบค์ อินดัสตรี ด้วยความสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดิน และสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเห็นว่าผู้คนจำนวนมากที่ต้องการร่วมโครงการ “ปั่นเพื่อพ่อ” แต่ด้วยความไม่พร้อมในด้านตัวจักรยาน เช่น เก่า เสียหาย ไม่รู้ว่าจะซ่อมที่ไหน รวมถึงไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซม ทำให้ไม่สามารถร่วมถวายความจงรักภักดีในการร่วมโครงการนี้ได้

ทั้งนี้ โครงการซ่อมเพื่อพ่อในช่วงเวลานั้น จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการซ่อมฟรี ไม่คิดค่าแรง คิดเฉพาะค่าอะไหล่ในราคาต้นทุน พร้อมทั้งเชิญชวนนักปั่นจิตอาสาร่วมซ่อมและแนะนำการดูแลปรับแต่งจักรยานด้วยตนเอง โดยในระยะแรกเน้นให้บริการชุมชนตลอดแนวเส้นทางปั่นเพื่อพ่อ แต่ก็มีการวางแผนขยายบริการต่อไปยังชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งยังมีแผนการตั้งกลุ่มจักรยานชุมชน สำรวจข้อมูลชุมชน หากยังมีความต้องการใช้บริการดูแลและซ่อมแซมจักรยานก็จะมีการพิจารณาความเป็นไปได้ในการทำให้เป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาวในภายหลัง เช่น การดึงจักรยานเข้ามาสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม ที่รวมชุมชนทั่วกรุงเทพฯ ที่ทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนด้วย

นอกจากนี้ หนึ่งในเทรนด์ที่กำลังมาแรงที่กลุ่มเจเคซีฯ กำลังแนะนำเข้าสู่ตลาด นั่นคือ จักรยานโมดิฟาย จับกระแสการใช้จักรยานเพื่อการตลาดด้านโฆษณา-ประชาสัมพันธ์ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเป็นที่นิยมสำหรับการโฆษณา-ประชาสัมพันธ์เฉพาะพื้นที่นั้นๆ ที่เป็นระยะใกล้ๆ โดยเฉพาะโครงการหมู่บ้านจัดสรรใหม่ๆ และคอนโดมิเนียมใหม่ๆ ที่ต้องการโปรโมทให้ผู้สนใจเยี่ยมชมโครงการได้เห็น หรือสร้างสีสันด้วยขบวนรถจักรยานโปรโมทโครงการ ซึ่งเจเคซีฯ ได้รับการติดต่อจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ให้ผลิตรถจักรยานเพื่อการโฆษณา-ประชาสัมพันธ์ล็อตใหญ่แล้ว

เปิดตำนานเจ้าพ่อซาเล้ง "สมเกียรติ-เจเคซีไบค์"

"ก่อนหน้านี้ โครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ จะใช้คนในการโบกธงเข้าโครงการ แต่เมื่อหาคนในการโบกธงยากขึ้น และค่าใช้จ่ายสูง โครงการที่อยู่อาศัยใหญ่ๆ บางแห่งก็เริ่มนำแนวคิดรถจักรยานเพื่อการโฆษณา-ประชาสัมพันธ์โครงการหมู่บ้านและคอนโดมิเนียมมาใช้ ซึ่งช่วยสร้างสีสันในการประชาสัมพันธ์โครงการได้มากขึ้น รวมถึงการที่องค์กรชั้นนำหลายองค์กรมีโครงการเพื่อสังคมหรือซีเอสอาร์ในลักษณะบริจาคจักรยานให้กับเด็กๆ ในต่างจังหวัด ยิ่งทำให้การผลิตจักรยานเพิ่มขึ้น"

กลุ่มเจเคซีฯ ยังมีโครงการพิเศษ รับจ้างผลิตจักรยานนวัตกรรมได้ตามต้นแบบ เช่น มีผู้สั่งผลิตจักรยานจากเฟรมไม้ไผ่ ซึ่งได้รับรางวัลด้านการออกแบบ แต่คู่แข่งใหม่ๆ ที่เข้าสู่ตลาด ทำให้การแข่งขันสูง จำเป็นต้องพัฒนาทักษะด้านการผลิตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเดินทางไปดูงานที่จีน ไต้หวัน ดูสเปก ดรอวิ่งที่ผู้ผลิตเหล่านั้นทำส่งออก เช่น ท่อแป๊บ ฯลฯ พัฒนาบุคลากร ปลูกจิตสำนึกให้ “รัก” ให้ทำงานด้วยใจ รักสินค้า ถนอมสินค้า จนถึงมือลูกค้าในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ภายใต้แนวคิด งานไม่ดี ไม่มีออร์เดอร์ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน รวมถึงอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ นั่นคือ รับประกันสินค้าสำหรับชิ้นส่วนที่ผลิตจากโรงงานโดยตรง เช่น เฟรม และตะเกียบรับประกัน 3 ปี ชิ้นส่วนที่ชำรุด จะทำการซ่อม และเปลี่ยนคืนให้ภายใน 1 เดือน