posttoday

"ลงทุนกับตัวผมสิครับ"เติ้งหลินเจี๋ยหนุ่มจีนผู้ระดมทุนส่งตัวเองเรียนจนจบ

24 มกราคม 2561

อุปสรรคมีไว้ฝ่าฟัน! "เติ้งหลินเจี๋ย" หนุ่มจีนผู้ขาดทุนทรัพย์ในการศึกษาต่อ จึงประกาศระดมทุนผ่านโซเชียลจนส่งตัวเองเรียนจนจบและกลับมาใช้หนี้ผู้มีพระคุณได้สำเร็จ

อุปสรรคมีไว้ฝ่าฟัน! "เติ้งหลินเจี๋ย" หนุ่มจีนผู้ขาดทุนทรัพย์ในการศึกษาต่อ จึงประกาศระดมทุนผ่านโซเชียลจนส่งตัวเองเรียนจนจบและกลับมาใช้หนี้ผู้มีพระคุณได้สำเร็จ

ในยุคโบราณ คนจีนที่อดอยากจะมักต้องขายตัวเองเป็นข้ารับใช้ให้กับคนมีเงินเพื่อที่จะเอาตัวเองให้รอด หรือบางคนมีความจำเป็นต้องใช้เงินก็อาจต้องเร่ขายตัวเองให้กับคนมีเงินเช่นกัน อย่างเช่นในนิทานหรือเรื่องแต่งบางเรื่องที่เล่าถึงลูกกตัญญูยอมขายตัวแลกเงินมาทำศพให้พ่อแม่เป็นต้น

ในยุคปัจจุบันคนจีนไม่จนแล้ว แต่ก็ยังมีบางคนขายตัวเองอยู่เหมือนกัน เช่น คนที่จำเป็นต้องหาเงินมารักษาคนในครอบครัว ก็อาจ "ขายตัว" แลกเงินมา ซึ่งอันที่จริงแล้วจีนยุคใหม่ไม่มีระบบทาสและการเป็นคนรับใช้เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยมาก การขายตัวในที่นี้จึงไม่ใช่การขายอิสรภาพ แต่เป็นการเสนอความรู้ความสามารถของตัวเองในแบบฉุกเฉินเพราะมีเรื่องทุกข์ร้อนมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้มีการเสนอขายตัวของหนุ่มคนหนึ่งที่สร้างความสนใจให้กับสาธารณชนเป็นพิเศษ เขาคนนี้มีชื่อว่า เติ้งหลินเจี๋ย หรือในเวลานี้ผู้คนรู้จักเขาในชื่อ Linjie Deng

เติ้ง เป็นหนุ่มชาวจีน เกิดที่เมืองหลินเฟิน มณฑลซานซี เมื่อปี 1992 มีความสามารถด้านศิลปะตั้งแต่ยังเล็กๆ เขาเริ่มเรียนการวาดภาพและการเขียนอักษรแบบจีนเมื่ออายุเพียงแค่ 5 ขวบ เมื่ออายุได้ 10 ขวบเขาได้รับรางวัลชนะเลิศระดับชาติด้านการวาดภาพ และเมื่ออายุได้ 18 ปี เขาเข้าศึกษาด้านมัลติมีเดียดีไซน์ที่ ม.นครปักกิ่ง

แม้ดูเหมือนจะมีโปรไฟล์ดี แต่ฐานะครอบครัวของเขาไม่ได้ดีไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ของเขาที่ต้องส่งเสียลูกเพียงลำพังหลังจากหย่ากับสามี เติ้ง เองก็ต้องกระเสือกกระสนหาเงินมาส่งตัวเองเรียน ทั้งๆ ที่เขาเองก็เป็นคนมีพรสวรรค์และน่าจะสามารถหาเงินได้จากพรสวรรค์ที่มี

"ลงทุนกับตัวผมสิครับ"เติ้งหลินเจี๋ยหนุ่มจีนผู้ระดมทุนส่งตัวเองเรียนจนจบ

ในที่สุดเขาก็เรียนจบจนได้ และในปี 2015 ได้รับโอกาสให้ศึกษาต่อที่สถาบันทัศนศิลป์ (School for Visual Arts หรือ SVA) ในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียง เพียงแต่ฐานะของ เติ้ง ไม่อำนวย แถมทางสถาบันเดิมก็ไม่สามารถสนับสนุนทุนการศึกษาได้

สำหรับค่าลงทะเบียนระดับบัณฑิตศึกษาที่ SVA สูงถึง 108,626 เหรียญสหรัฐ แต่ทุนที่ทางบ้านของ เติ้ง มีนั่นแค่ 31,036 เหรียญสหรัฐ

ถึงจะขายบ้านขายรถ ขายหมดทุกอย่างก็ยังไม่พอ แถมเมื่อไปกู้ธนาคาร ทางธนาคารก็ยังตอบกลับมาว่า ดีกรีของเขาจากสถาบันที่จบมาไม่มีเครดิตมากพอที่จะกู้เงินได้มากขนาดนั้น

แต่หนุ่ม เติ้ง ไม่คิดจะทิ้งอนาคตเพียงแค่เพราะหมดเงิน ความมุ่งมั่นของเขาได้กลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดไอเดียที่ใครก็คาดไม่ถึงขึ้นมา นั่นคือการระดมทุนด้วยวิธี Crowdfunding

ถูกต้องแล้ว เขาใช้ตัวเองเป็นสินค้าในการระดมทุนกับมหาชน!

เติ้งหลินเจี๋ย หันเข้าหาโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีผู้ใช้มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ นั่นคือ WeChat แล้วประกาศระดมทุนเพื่ออุดหนุนการศึกษาของเขา โดยมีตัวเขาเองเป็นฮาร์ดแวร์ ผลงานของเขาคือสินค้า โดยมีรายละเอียดว่า เขาจะจ่ายเงินคืนให้กับผู้ร่วมลงทุนในตัวเขาทุกคนภายในสิ้นปี 2017 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอีก 20%

ปรากฏว่าความพยายามของ เติ้ง ได้รับผลเหนือความคาดหมาย เพราะมีเงินลงทุนในตัวเขาหลั่งไหลเข้ามาถึง 80,000 เหรียญสหรัฐ เมื่อรวมกับเงินที่มีอยู่แล้ว ก็พอที่จะใช้เป็นทุนการศึกษาในสหรัฐ และเขาก็ได้ไปเรียนที่นิวยอร์กสมใจ โดยในระหว่างนั้นเขาประหยัดสุดๆ ด้วยการไปพักอยู่ที่โบสถ์ และใช้เวลาว่างทำงานอย่างแข็งขัน รวมถึงการวาดภาพและอักษรจีนขายตามท้องถนนของนิวยอร์ก และทำงานออกแบบให้กับธุรกิจต่างๆ ในเวลาเดียวกัน

"ลงทุนกับตัวผมสิครับ"เติ้งหลินเจี๋ยหนุ่มจีนผู้ระดมทุนส่งตัวเองเรียนจนจบ

นอกจากงานหาเงินแล้วเขายังมีโปรเจกต์ที่น่าสนใจด้านศิลปะและกิจกรรมเพื่อสังคม เรียกได้ว่า เขาใช้ฮาร์ดแวร์คือตัวเขาเองอย่างเต็มกำลัง และผลิต "สินค้า" ออกมาได้อย่างมีคุณภาพ

ผ่านไป 2 ปี เขาเรียนจบในที่สุด แถมยังจ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ยคืนให้ครบเกือบทุกคน ยังขาดอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่สามาถจ่ายเงินคืนได้ เนื่องจากยังตามหาตัวไม่พบ

เขาโพสต์เรื่องราวของตัวเองในเฟซบุ๊คว่า

"ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ผมทำสงครามกับตัวเองมาโดยตลอด และทุกอย่างสำเร็จลงได้ก็ด้วยสองมือของผมเอง ผมได้พิสูจน์กับทุกๆ คนแล้วว่าผมไม่ใช่พวกขี้โม้ และทำให้พวกคนเหล่านั้นหยุดพูด (ในทางไม่ดี) ผมต้องขอบคุณทุกคนที่เชื่อมั่นในตัวผมและให้โอกาสผมในการพิสูจน์ตัวเอง"

เรื่องราวของ เติ้งหลินเจี๋ย ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของคนคนหนึ่งที่ผลักดันตัวเองอย่างไม่ย่อท้อเท่านั้น แต่ยังเป็นโมเดลใหม่ในการระดมทุนเพื่อขัดเกลาทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพ แทนที่จะมุ่งไปที่ตัวสินค้าหรือบริการเท่านั้น

ภาพ Linjie Deng/facebook และ DengLinjie/weibo

ที่มา www.m2fnews.com