posttoday

สหรัฐเผยร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ในรอบกว่า30ปี

17 ธันวาคม 2560

รีพับลิกันเผยแผนปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้าย หั่นภาษีเอกชนครั้งใหญ่ ด้านสองสภาลงมติสัปดาห์หน้า

รีพับลิกันเผยแผนปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้าย หั่นภาษีเอกชนครั้งใหญ่ ด้านสองสภาลงมติสัปดาห์หน้า

พรรครีพับลิกันเปิดเผยรายละเอียดร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้าย หลังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐเสร็จสิ้นการรวมร่างกฎหมายดังกล่าว 2 ฉบับเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยหากร่างขั้นสุดท้ายผ่านการลงมติจากทั้งสองสภาในสัปดาห์หน้า จะเป็นการปฏิรูปภาษีครั้งยิ่งใหญ่สุดของสหรัฐนับตั้งแต่ปี 1986

สำหรับร่างฉบับล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการปรับลดภาษีนิติบุคคล โดยจะลดจาก 35% เหลือ 21% แตกต่างจากร่างฉบับก่อนหน้าที่ 20% รวมถึงจะเลื่อนการบังคับใช้มาตรการปรับลดดังกล่าวมาเป็นปี 2018 เร็วกว่าร่างฉบับวุฒิสภาที่จะมีผลปี 2019 ขณะที่จะยังคงการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ แต่จะมีผลบังคับชั่วคราวไปถึงปี 2026

ขณะเดียวกัน ภายใต้ร่างฉบับใหม่ บริษัทสหรัฐจะได้รับการยกเว้นภาษีที่เก็บจากกำไรนอกประเทศ ต่างจากกฎหมายปัจจุบันที่เอกชนสหรัฐต้องเสียภาษีเมื่อมีการถ่ายโอนกำไรนอกประเทศกลับมา ซึ่งทำให้บริษัทสหรัฐเสียเปรียบบริษัทข้ามชาติจากประเทศอื่นๆ ในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนทั้งจากภาษีในต่างประเทศที่ต้องเสียให้รัฐบาลประเทศนั้นๆ และภาษีจากการโอนกำไรกลับ

อย่างไรก็ดี บลูมเบิร์กรายงานว่า ร่างดังกล่าวเสนอให้เก็บภาษีแบบครั้งเดียวกับบริษัทสหรัฐที่ยังเก็บรายได้ไว้ในต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นทั้งหมดประมาณ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 100 ล้านล้านบาท) ที่อัตรา 15.5% กับสินทรัพย์ที่เป็นเงินสด และ 8% กับสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินสด

นอกจากนี้ ร่างดังกล่าวเสนอให้ธุรกิจประเภทพาสทรู (Pass-Through) เช่น บริษัทหุ้นส่วนหรือธุรกิจที่มีเจ้าของคนเดียว สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 20% จากรายได้ก้อนแรก 3.15 แสนดอลลาร์ (ราว 10 ล้านบาท) โดยภาษีของธุรกิจดังกล่าวจะเก็บจากรายได้ของผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการที่มาจากผลกำไรของบริษัท

ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะลงมติเกี่ยวกับร่างปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้ายในวันที่ 19 ธ.ค. จากนั้นจะส่งต่อไปยังวุฒิสภา

แม้ว่าพรรครีพับลิกันมีเสียงในวุฒิสภามากกว่าพรรคเดโมแครตเพียงเล็กน้อย แต่ร่างดังกล่าวคาดว่าจะผ่านการลงมติ โดยล่าสุด บลูมเบิร์กและรอยเตอร์สรายงานว่า วุฒิสมาชิก 2 รายจากพรรครีพับลิกัน คือ มาร์โค รูบิโอ จากรัฐฟลอริดา และบ๊อบ คอร์เกอร์ จากรัฐเทนเนสซี ซึ่งคัดค้านร่างฉบับวุฒิสภาก่อนหน้านี้ ให้คำมั่นว่าจะลงคะแนนผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีดังกล่าว

ด้านคณะกรรมาธิการร่วมด้านภาษีของสภาคองเกรส คาดการณ์ว่า ร่างปฏิรูปภาษีฉบับใหม่จะทำให้สหรัฐขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 1.46 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 47 ล้านล้านบาท) ในอีก 10 ปีข้างหน้านี้

ภาพ เอเอฟพี