posttoday

โลกเข้าสู่ยุคสูญพันธุ์ครั้งใหม่! เอเชียใต้เจอหนักสุด

12 กรกฎาคม 2560

นักวิทยาศาสตร์ชี้โลกกำลังเข้าสู่ยุคการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 เหตุจากฝีมือของมนุษย์ล้วนๆ

นักวิทยาศาสตร์ชี้โลกกำลังเข้าสู่ยุคการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 เหตุจากฝีมือของมนุษย์ล้วนๆ

นักวิทยาศาสตร์ชี้โลกกำลังเข้าสู่ยุคการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 จากน้ำมือมนุษย์และจะส่งผลกระทบร้ายแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังจากเผชิญหายนภัยครั้งล่าสุดเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว โดยเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสี่ยงรับผลกระทบหนักสุด

การศึกษาของ ม.สแตนฟอร์ดของสหรัฐและมหาวิทยาลัยแห่งชาติเม็กซิโกซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences พบว่า 1 ใน 3 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์เลื้อยคลานกว่า 27,600 สปีชีส์มีจำนวนและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยยังพบว่าในช่วงปี 1900-2015 เกือบครึ่งหนึ่งของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 177 สปีชีส์ต้องเผชิญภาวะจำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว

งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า การลดลงอย่างฮวบฮาบภายในระยะเวลากว่าศตวรรษของสัตว์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า โลกกำลังจะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในพื้นที่แถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่สูญเสียพื้นที่การแพร่กระจายตามภูมิศาสตร์ไปถึง 80% โดยสัตว์ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์ อาทิ เสือชีตาห์ ลิงอุรังอุตังบนเกาะบอร์เนียวและสุมาตราของอินโดนีเซียที่เหลือไม่ถึง 5,000 ตัว หรือสิงโตแอฟริกาที่มีจำนวนลดลงเกือบครึ้งในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา

 

โลกเข้าสู่ยุคสูญพันธุ์ครั้งใหม่! เอเชียใต้เจอหนักสุด เสือชีตาห์

ยุคสูญพันธุ์ทั้ง 5 ครั้งก่อนหน้านี้ล้วนเกิดจากปัจจัยธรรมชาติ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติ การปะทุครั้งใหญ่ของภูเขาไฟ หรืออุกกาบาตพุ่งชนโลก เป็นต้น ทว่า การวิจัยครั้งล่าสุดระบุว่า สาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 นั้นกลับเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การล่าสัตว์ ภาวะโลกร้อน จำนวนประชากรที่เพิ่มอย่างต่อเนื่องและความต้องการบริโภคที่เพิ่มตามกันมา

ผู้วิจัยสรุปว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพครั้งใหญ่จะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และสังคม สุดท้ายแล้วปัญหาเหล่านี้ก็จะย้อนกลับมายังมนุษยชาติผู้เป็นต้นตอของภัยพิบัติ

เกราร์โด เซบาโญส หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า ระยะเวลาเพียง 100 ปีที่ผ่านมาสัตว์มีกระดูกสันหลังกว่า 200 สปีชีส์ได้หายไปจากโลก ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นเดิมโดยที่ไม่ได้รับการแก้ไข การสูญเสียครั้งใหญ่อาจเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาเพียง 10,000 ปีเท่านั้น ในขณะที่การสูญพันธุ์ 5 ครั้งที่ผ่านมาเกิดห่างกันหลายสิบล้านปีไปจนถึงหลักร้อยล้านปี

ภาพ : เอเอฟพี

ที่มา www.m2fnews.com