posttoday

หนี้ครัวเรือนสหรัฐพุ่งทุบสถิติ

19 พฤษภาคม 2560

หนี้ครัวเรือนสหรัฐพุ่งทำลายสถิติปี 2008 หวั่นฉุดเศรษฐกิจ แม้หนี้บ้านยังต่ำกว่าระดับวิกฤต

หนี้ครัวเรือนสหรัฐพุ่งทำลายสถิติปี 2008 หวั่นฉุดเศรษฐกิจ แม้หนี้บ้านยังต่ำกว่าระดับวิกฤต

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยว่า ปริมาณหนี้ครัวเรือนสหรัฐซึ่งยังไม่คำนวณอัตราเงินเฟ้อและจำนวนประชากรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 12.73 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 445 ล้านล้านบาท) ทำลายสถิติเดิมที่ 12.68 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 443 ล้านล้านบาท) ในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยเมื่อปี 2008

ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เกิดจากการกู้ยืมเพื่อการศึกษาและซื้อรถยนต์ ขณะที่หนี้อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008-2009 ยังคงอยู่ระดับต่ำกว่าช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว เช่นเดียวกับระดับหนี้บัตรเครดิต โดยผู้กู้อสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นผู้มีระดับความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้สูงคิดเป็นสัดส่วน 61% เมื่อเทียบกับปี 2008 ที่ 36%

รายงานระบุว่า แม้การก่อหนี้จะแสดงให้เห็นถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นส่วนช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ปริมาณหนี้ครัวเรือนสูงในส่วนของการกู้ยืมเพื่อการศึกษา อาจเป็นส่วนกดดันการใช้จ่ายและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ขึ้นให้การกับสภาคองเกรสเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รับตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการขึ้นให้การกับคณะกรรมการธนาคารของวุฒิสภาในประเด็นนโยบาย ที่รวมถึงการยกเลิกกฎหมายกำกับดูแลธนาคารดอดด์-แฟรงก์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นเพื่อควบคุมสถาบันการเงินจากกรณีขายสินทรัพย์เสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ

มิตช์ แมคคอนเนลล์ ประธานเสียงข้างมากของสภาเซเนทจากพรรครีพับ ลิกัน เปิดเผยว่า กฎหมายดอดด์-แฟรงก์ สร้างผลกระทบต่อธนาคารรายย่อยของประเทศอย่างไม่ได้ตั้งใจและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

อย่างไรก็ตาม พรรครีพับลิกันครองเสียงส่วนใหญ่ทั้งสองสภาไม่มาก จึงจำเป็นต้องเจรจากับสมาชิกพรรคเดโมแครต ซึ่งต่อต้านการแก้กฎหมายดอดด์-แฟรงก์ เนื่องจากกังวลจะทำให้สถาบันการเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และกฎหมายใหม่ที่พรรครีพับลิกันเสนอก็จำกัดอำนาจของหน่วยงานดูแลผู้บริโภค