posttoday

อินโดนีเซียใช้บอร์ดเกมสอนเด็กๆต่อต้านคอร์รัปชั่น

23 กุมภาพันธ์ 2560

บอร์ดเกมโดยกลุ่มต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่มุ่งสร้างความตระหนักถึง และความสำคัญของการมีจริยธรรม ผ่านตัวอย่างสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน

บอร์ดเกมโดยกลุ่มต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่มุ่งสร้างความตระหนักถึง และความสำคัญของการมีจริยธรรม ผ่านตัวอย่างสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน

ที่โรงเรียนมัธยมต้น Al-Ashiri ในนคร Malassar เด็กนักเรียนทั้งหญิงและชายจำนวน 40 คนกำลังจะถูกทดสอบศีลธรรมของพวกเขาด้วยบอร์ดเกม

"Arun กำลังใช้คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่เพียงเครื่องเดียวในโรงเรียน และไม่มีอินเตอร์เน็ตไวไฟ แต่เขาไม่อยากแชร์คอมพิวเตอร์ให้คนอื่นเล่น" เด็กชายคนหนึ่งอ่านคำถามจากบอร์ดเกม "เขาขาดคุณสมบัติใด?"

บอร์ดเกมที่เด็กๆกำลังเล่นนี้มีชื่อว่า Semai เกมกระดานที่มีจุดมุ่งหมายให้ผู้เล่นเลือกสถานการณ์ให้เข้ากับคาแรกเตอร์ 9 ประการ เช่นความซื่อสัตย์ หรือความใจกว้างเป็นต้น

Semai เป็นผลิตผลจากกลุ่ม Saya Perempuan Anti-Korupsi (SPAK) หรือแปลเป็นไทยว่า "ฉันคือผู้หญิงที่ต่อต้านคอร์รัปชั่น" โดยเป็นหนึ่งในวิธีการง่ายๆ ผ่านบอร์ดเกมที่จะช่วยให้เด็กๆ และผู้ใหญ่พูดคุยกันถึงสถานการณ์คอร์รัปชั่นที่พวกเขาเผชิญในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น จะเป็นอะไรหรือไม่ถ้าผู้ปกครองจะมอบของขวัญให้แก่คุณครูของลูกสาว? หรือ ถ้ามีโอกาสคุณจะจ่ายเงินให้ตำรวจเพื่อไม่ต้องติดไฟแดงนานๆหรือไม่? ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นอะไรที่พบได้ในชีวิตประจำวัน

"การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรม" Judhi Kristantini ผู้ก่อตั้งกลุ่มมานานกว่า 2 ปี ที่มุ่งพยายามแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศกล่าว "ถ้าผู้คนหยุดให้เงินกับตำรวจ ตำรวจก็จะหยุดคาดหวังเงินจากเรา"

ในการจัดอันดับความโปร่งใสของในหลายประเทศ เมื่อปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 90 จาก 176 ประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุด อันดับดังกล่าวแย่กว่าอินเดีย และจีน แต่ก็ยังดีกว่าเพื่อนบ้านอย่างไทย และกัมพูชา ด้านประธานาธิบดีโจโค วิโดโดเคยให้คำมั่นเมื่อปี 2014 ว่าจะล้างบางปัญหาคอร์รัปชั่น แต่ปัจจุบันกระบวนการยังคงดำเนินไปอย่างล่าช้า

และผลการสำรวจโดยศูนย์การจัดอันดับนานาชาติ ในกรุงจาการ์ตา 2 ใน 3 ของผู้ถูกสำรวจจำนวน 3,900 คน รู้สึกว่าปัญหาการทุจริตในประเทศจะยิ่งเลวร้ายมากขึ้น

นั่นจึงนำมาสู่บอร์ดเกมดังกล่าว โดย SPAK ที่พวกเขาระบุว่าขณะนี้พวกเขามีการจัดเวิร์คชอป การเล่นบอร์ดเกมดังกล่าวเพื่อต้านคอร์รัปชั่นใน 34 จังหวัดทั่วประเทศ

"ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่ได้สอนผู้คนเกี่ยวกับการรับผิดชอบร่วมกัน เมื่อเกิดการคอร์รัปชั่นขึ้น คนอินโดนีเซียคิดกันว่าการทุจริตเป็นอะไรที่คนมีเงินทำกัน และโทษไปที่ระบบ แต่จริงๆแล้วปัญหานั้นอยู่ที่ตัวเรา" Kristantini กล่าว

สำหรับเด็กๆแล้วแน่นอนว่าพวกเขาชื่นชอบที่จะเล่นเกมกัน มากกว่าจะเอาเวลาไปท่องจำบทเรียน ด้วยความช่วยเหลือของ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุลาเวสีใต้ เด็กนักเรียนจำนวน 1,300 คน จากโรงเรียนมัธยม 62 โรงเรียนมีโอกาสได้เล่นเกมนี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2014 เป็นต้นมา

"เราสอนเด็กๆเกี่ยวกับคุณค่าของจริยธรรมนอกเหนือจากการเรียนในหลักสูตรปกติ" Sukma คุณครูชั้นเกรด 4 กล่าว "นี่เป็นครั้งแรกเลยที่การเรียนการสอนของเราเชื่อมโยงกับประเด็นคอร์รัปชั่น"

ในปี 2015 ประธานาธิบดีวิโดโดถูกกดันให้ถอยรายชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจคนหนึ่ง หลังพบว่าเขามีความเกี่ยวข้องกับการติดสินบน ก่อนหน้านี้ไม่นานหัวหน้าผู้พิพากษาระดับสูงของประเทศท่านหนึ่งก็เพิ่งถูกตัดสินโทษจำคุกไป จากความผิดฐานรับสินบน