posttoday

ถอดบทเรียน "ชาวนาญี่ปุ่น" เข้มแข็ง

13 พฤศจิกายน 2559

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาชีพชาวนาและเกษตรกรอาจสร้างรายได้เฉลี่ยต่อปีในหลักล้านบาท

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

“ชาวนา” ไม่ใช่คำจำกัดความสากลของอาชีพยากจนต้องกัดก้อนเกลือกินในหลายประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น สหรัฐ และประเทศที่พัฒนาแล้ว อาชีพชาวนาและเกษตรกรอาจสร้างรายได้เฉลี่ยต่อปีในหลักล้านบาท อันเป็นผลมาจากรากฐานของการปฏิรูปที่ดิน การสนับสนุนของรัฐบาล ไปจนถึงการมีนโยบายอุดหนุนการเกษตรที่ช่วยคุ้มครองชาวนาจากการแข่งขันอย่างรุนแรงในยุคการค้าเสรี 

ชาวนาญี่ปุ่นอาจนับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากกว่าหากจะเทียบกับในสหรัฐ ที่มีความแตกต่างกันทั้งขนาดพื้นที่ประเทศและสภาพภูมิอากาศ ชาวนาญี่ปุ่นเคยเป็นชนชั้นที่ต่ำต้อยและยากจนภายใต้ระบบขุนนางผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ทว่าการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเข้ามาปกครองญี่ปุ่นในระยะหนึ่งของสหรัฐ ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการ “ปฏิรูปที่ดิน” ในปี 1946 โดยการบังคับให้เจ้าของเดิมขายที่ดินให้ ก่อนจะนำมาแบ่งขายในราคาถูกให้ชาวนาได้มีที่ดินทำกินของตัวเองเป็นครั้งแรก ขณะที่รัฐบาลยังได้กำหนดราคากลางสินค้าเกษตร เพื่อไม่ให้ชาวนาได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดและสภาพดินฟ้าอากาศมากเกินไป จนถือได้ว่าเป็นช่วงการวางรากฐานเริ่มต้นที่สำคัญอย่างมาก

หลังจากที่ผ่านช่วงแรกของการปฏิรูปมาได้แล้ว อาจกล่าวได้ว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ชาวนาญี่ปุ่นพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ได้ก็คือ “การสนับสนุนอย่างเป็นระบบของรัฐบาล” และ “การรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งของชาวนาเพื่อสร้างพลังต่อรอง” โดยมีจุดเชื่อมโยงที่ “ข้าว” ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่อาหาร แต่ยังเป็นจิตวิญญาณที่สะท้อนความเป็นชาตินิยมของญี่ปุ่นอย่างแรงกล้า และยังหมายถึงฐานเสียงจำนวนมากทางการเมืองด้วย

สิ่งสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายอุดหนุนชาวนามาจนถึงปัจจุบันก็คือ การรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะกลุ่มสหกรณ์ชาวนา Japanese Agricultural Cooperatives หรือ JA ที่มีสมาชิกอย่างเป็นทางการราว 4.6 ล้านคนทั่วประเทศ บริหารสหกรณ์ 694 แห่งทั่วประเทศ และเป็นพลังต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาลมาตลอด โดยถือเป็นฐานเสียงที่สำคัญของพรรคแอลดีพีมาตั้งแต่ปี 1995 และทำให้ข้าวกลายเป็นสินค้าการเมืองที่ได้รับการปกป้องมากที่สุด ภายใต้การตั้งกำแพงภาษีข้าวนำเข้าจากต่างประเทศถึง 778% ขณะที่ชาวนาญี่ปุ่นได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลค่อนข้างมาก เช่น หลังหมดฤดูทำนา จะได้เงินช่วยเหลือ 1.5 แสนเยน/เฮกเตอร์

อย่างไรก็ตาม สินค้าการเมืองและการปกป้องจากรัฐบาลนั้นก็ยังไม่อาจต้านทานการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โลกาภิวัตน์ และการค้าเสรีได้ ปัญหาประชากรศาสตร์ทำให้อาชีพชาวนามีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับการบริโภคข้าวที่ลดลงเช่นกัน

ญี่ปุ่นยังเผชิญแรงกดดันอื่นๆ อาทิ การต้องยกเลิกกฎหมายห้ามนำเข้าข้าวจากต่างประเทศในทศวรรษ 80 และความเสี่ยงที่ต้องเปิดเสรีตลาดข้าวมากขึ้นภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งรัฐบาลจะทยอยลดการอุดหนุนชาวนา และจะยกเลิกอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2019 ซึ่งหากยกเลิกจะกระทบต่อข้าวญี่ปุ่นที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าข้าวจากสหรัฐมาก เนื่องจากสหรัฐมีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าจึงใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนได้มากกว่า แม้อนาคตของทีพีพีจะไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้งของสหรัฐ แต่ญี่ปุ่นก็ไม่อาจปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงของโลกและแรงกดดันที่อาจมีขึ้นในอนาคตได้

ปัจจุบันชาวนาญี่ปุ่นต้องปรับตัวและหันไปทำอาชีพอื่น เพราะการทำนาจะยุ่งเพียงแค่ช่วงปลูกและเก็บเกี่ยว ที่ดินเกษตรบางแห่งเริ่มปรับตัวโดยร่วมมือกับบริษัทเอกชนนำแผงโซลาร์เซลล์มาผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะที่บริษัทเอกชนตามเมืองใหญ่ ซึ่งรวมถึงกรุงโตเกียว ก็เริ่มโครงการทดลองปลูกข้าวตามอาคารหรือในเมือง เพื่อผลักดันเกษตรแนวใหม่ในเมือง ขณะที่ชาวนาดั้งเดิมนั้นก็ยังต้องอยู่ระหว่างการปรับตัวรับกับโลกยุคใหม่ที่ไร้พรมแดนมากขึ้น ต้องรับมือการแข่งขันและเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ได้พึ่งการอุดหนุนเพียงอย่างเดียว

ภาพ...เอเอฟพี