posttoday

‘ฮ่องกง’ อ้าแขนรับ ผลักดันธุรกิจเพื่อสังคม

19 กรกฎาคม 2558

ไม่มีใครปฏิเสธบทบาทของ “ฮ่องกง” ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินฝั่งเอเชีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของอพาร์ตเมนต์ราคาแพง

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

ไม่มีใครปฏิเสธบทบาทของ “ฮ่องกง” ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินฝั่งเอเชีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของอพาร์ตเมนต์ราคาแพงระยับที่สุดในโลกราคา 498 ล้านเหรียญฮ่องกง (ราว 2,200 ล้านบาท) และยังเป็นแหล่งกิน ดื่ม ช็อป ชั้นนำที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ถึงปีละ 60 ล้านคน

ทว่า หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ศูนย์กลางทุนนิยมแห่งนี้ยังเป็นโอกาสของธุรกิจเพื่อสังคม (SE) ไปพร้อมกันได้ด้วย

ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ทางการฮ่องกงได้ทยอยเปิดพื้นที่ให้กับธุรกิจเพื่อสังคมมากขึ้นผ่านการสนับสนุนทางการเงินและอีกหลายด้าน เช่น การส่งเสริมคนพิการ ส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคม และส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง เนื่องจากเชื่อว่าธุรกิจ SE จะสามารถตอบโจทย์ปัญหาทางสังคมได้ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีค่าครองชีพและอัตราการแข่งขันที่สูงลิ่วอย่างฮ่องกง

จากข้อมูลของศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคม จึงพบว่า จำนวนของธุรกิจเพื่อสังคมได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 187 แห่ง ในปี 2007 เป็น 527 แห่ง ในปี 2015 ในขณะที่ทางการฮ่องกงลงทุนรวมไปแล้วเป็นเงินถึงกว่า 1,000 ล้านเหรียญฮ่องกง (ราว 4,417 ล้านบาท)

รองปลัดกระทรวงกิจการสังคม ฟลอเรนซ์ หุย กล่าวกับเว็บไซต์อีเจ อินไซต์ ว่า การให้งบประมาณสนับสนุนสตาร์ทอัพสำหรับดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมนั้น ถือเป็นการลงทุนเพื่อสังคมรูปแบบหนึ่งของรัฐเหมือนกัน และเมื่อต้นปี 2558 นี้ กระทรวงการคลังของฮ่องกงก็เพิ่งประกาศให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 150 ล้านเหรียญฮ่องกง สำหรับศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อนำไปเป็นทุนต่อยอดให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ให้สร้างธุรกิจเพื่อสังคมขึ้นมาอีก

การหันมาเน้นลงทุนในธุรกิจ SE มากขึ้น ก็เพราะทางการฮ่องกงมองว่าธุรกิจเพื่อสังคมมีการดำเนินงานเป็นธุรกิจที่ต้องบริหารจัดการการเงินเป็น ไม่ใช่รอรับเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว จึงมีการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลสำรวจของสมาคมธุรกิจเพื่อสังคมฟูลเนส พบว่า ผลตอบแทนทางสังคมที่ได้รับจากการลงทุนใน SE ที่มีการจัดการดี จะออกมาสูงกว่าการนำเงินไปช่วยเหลือสังคมในรูปแบบปกติทั่วไปถึง 7 เท่า แต่ขณะเดียวกันผลสำรวจอีกด้านของธนาคารดีบีเอสในปี 2014 ก็ย้ำด้วยว่า มีธุรกิจ SE เพียง 35% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ คือได้ทั้งช่วยคนและยังเป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้ ในขณะที่อีก 32.5% ทำได้เพียงคุ้มทุน และอีก 32.5 ต้องขาดทุน   

อย่างไรก็ตาม บางครั้งธุรกิจ SE ก็ไม่สามารถวัดความสำเร็จได้ที่กำไร-ขาดทุนเพียงอย่างเดียวเหมือนธุรกิจทั่วไป เช่น กิจการเพื่อสังคมภายใต้องค์กรการกุศลสจ๊วด ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำการกุศลประเภท Sheltered workshop หรือการจ้างผู้พิการมาทำงานเพื่อให้สามารถยืนอยู่ได้บนลำแข้งของตัวเอง 

องค์กรดังกล่าวได้จัดตั้งธุรกิจ SE ขึ้นมาเพื่อทดลองการทำงานช่วยสังคมในรูปแบบของธุรกิจ ลองหาวิธีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในราคาที่ถูกกว่า และพบว่า SE ขององค์กรสจ๊วด จำเป็นต้องใช้เงินทุนสนับสนุนเพียง 1.7 เหรียญฮ่องกงต่อทุก 1 งาน ซึ่งน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับงานการกุศลปกติของมูลนิธิ ที่ต้องใช้เงินอุดหนุนทุก 6.4 เหรียญฮ่องกงต่อ 1 งาน ดังนั้นแม้จะยังไม่สามารถทำกำไรได้ แต่ก็มีการบริหารจัดการการเงินได้ดีกว่าโดยให้ผลตอบแทนสังคมได้เหมือนกัน และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐสนใจการลงทุนในรูปแบบของ SE

ทั้งนี้ แม้การวัดผลของSE จะยากกว่าธุรกิจปกติที่วัดกันจากกำไรเป็นหลัก และปัจจุบันก็ยังไม่มีมาตรวัดความคุ้มค่าต่อการลงทุนที่ชัดเจน แต่ทางการฮ่องกงก็ยังเดินหน้าลงทุนในธุรกิจ SE มาอย่างต่อเนื่อง โดยหากเทียบกับพื้นที่และความหนาแน่นของประชากรแล้ว ฮ่องกงนับเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านนี้มากที่สุด จากการมีธุรกิจ SE มากกว่า 400 แห่ง เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่มีอยู่ราว 170 แห่ง และเกาหลีใต้ ซึ่งมีอยู่ที่ประมาณ 950 แห่ง

เพราะสังคมที่ดีต้องลงทุนให้ได้มา และคงยิ่งดีกว่าหากใช้เงินได้คุ้มค่าที่สุด