posttoday

ถอดบทเรียนไต้หวัน อยู่อย่างสันติบนความขัดแย้ง

11 ตุลาคม 2557

ไต้หวันสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านได้อย่างสันติ ทั้งๆ ที่ยังคงมีความขัดแย้งระหว่างกัน

ไต้หวันสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านได้อย่างสันติ ทั้งๆ ที่ยังคงมีความขัดแย้งระหว่างกัน

การที่จีนหันมาดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวต่อกรณีปมปัญหาเขตแดนพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้ขมวดให้ปมความขัดแย้งเข้มข้นขึ้น จนทางออกอย่างสันติวิธีใกล้ริบหรี่เต็มที

ในทางตะวันออกจีนกำลังมีปัญหากับญี่ปุ่นเรื่องกรณีพิพาทหมู่เกาะเซนกากุหรือเตี่ยวหยู โดยทางการจีนได้ประกาศขยายเขตป้องกันภัยทางน่านฟ้า (เอไอดีแซด) ที่ไปครอบคลุมหมู่เกาะดังกล่าวในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พร้อมย้ำให้เครื่องบินทุกลำที่บินผ่านน่านน้ำดังกล่าวต้องทำการขออนุญาตรัฐบาลจีนก่อน มิฉะนั้นรัฐบาลจีนจะจัดการขั้นเด็ดขาด

นอกจากนี้ จีนยังมีความยัดแข้งกับหลายชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เรื่องเส้นเขตแดนในทะเลจีนใต้ ซึ่งทางการจีนได้ยั่วยุชาติอาเซียนเหล่านี้หลายครั้ง เช่นการส่งแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปปฏิบัตการในหมู่เกาะพาราเซลซึ่งเป็นหมู่เกาะข้อพิพาทกับทางเวียดนาม จนส่งผลให้ชาวเวียดนามที่ไม่พอใจก่อจราจลเผาทำลายโรงงานของจีน จนเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางบรรยากาศของความขัดแย้งที่ร้อนระอุ ไต้หวันซึ่งตั้งอยู่บนจุดตัดระหว่างความขัดแย้งทางตะวันออกและความขัดแย้งทาง กลับสามารถอยู่ร่วมกับประเทศดังกล่าวได้อย่างสันติ

ทั้งนี้ ไต้หวันเองก็มีสถานะเช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอื่นๆ คือมีปัญหาเรื่องเขตแดนพิพาทเช่นเดียว แต่กระนั้นแทนที่จะตอบโต้ด้วยความรุนแรงไต้หวันกลับเลือกที่จะใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา

ในประเด็นข้อพิพาทเกาะเตี่ยวหยูหรือเซนกากุ ไต้หวันนับเป็นหนึ่งชาติที่อ้างสิทธิเหนือเกาะดังกล่าวเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นกีดกันชาวประมงชาวไต้หวันไม่ให้เข้าไปหาปลาบริเวณหมู่เกาะเตี่ยวหยู แต่แทนที่ไต้หวันจะตอบโต้ด้วยความรุนแรงหรือใช้การยั่วยุ ไต้หวันกลับเลือกที่จะใช้วิธีเจรจากับญี่ปุ่นที่จะใช้ประโยชน์จากน่านน้ำบริเวณหมู่เกาะดังกล่าวร่วมกัน 

ข้อตกลงดังกล่าว ส่งผลให้ชาวประมงจากทั้งไต้หวันและหมู่เกาะริวกิวของญี่ปุ่นมีเสรีในการเข้าไปจับปลาในบริเวณเกาะดังกล่าวได้ ซึ่งทำให้ชาวประมงจากทั้งประเทศทำกำไรได้อย่างงดงามจากการจับปลาทูนาครีบน้ำเงินซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจในแทบนั้น

นอกจากนี้ ทางการกรุงไทเปยังใช้วิธีการหารือกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ในกรณีเหตุการณ์ยามชาวฝั่งไต้หวันจับเรือประมงของไต้หวันไป  โดยทั้งสองฝ่ายสามารถทำข้อตกลงที่จะไม่ให้เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายใช้ความรุนแรงในการบังคับใช้กฎหมาย และจะต้องมีการแจ้งก่อนการบังคับใช้กฎหมายในทะเล และต้องมีการปล่อยเรือประมงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ถอดบทเรียนไต้หวัน อยู่อย่างสันติบนความขัดแย้ง

ล่าสุด ประธานาธิบดี หม่าอิงจิ่ว ของไต้หวันเพิ่งได้รับรางวัลไอเซนฮาวร์สาขาสันติภาพประจำปี 2014 เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยถือเป็นประธานาธิบดีไต้หวันคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติดังกล่าว จากการเสนอแผนสันติภาพในทะเลจีนตะวันออกเพื่อแก้ไขความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้

ฉะนั้น หากจะมีแบบแผนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คงจะหนีไม่พ้นแบบแผนของไต้หวันผู้สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติได้ท่ามกลางความขัดแย้ง อย่างแน่นอนทีเดียว