posttoday

'เช็ก' สแกนเนื้อสัตว์นำเข้าจากเยอรมนี ยุโรปยังมึนต้นตออีโคไล

08 มิถุนายน 2554

วิกฤตอีโคไลยังไร้ทางออก “เช็ก” สอบเข้มเนื้อวัวหมูนำเข้าจากเมืองเบียร์

วิกฤตอีโคไลยังไร้ทางออก “เช็ก” สอบเข้มเนื้อวัวหมูนำเข้าจากเมืองเบียร์

หวั่นแบคทีเรียมรณะ ด้านเยอรมนีสุดตัน หาต้นตอวิกฤตไม่ได้

แจน วานา ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขของสาธารณรัฐเช็ก ประกาศเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ว่า กรมปศุสัตว์ของทางการได้เริ่มตรวจสอบเนื้อวัวและเนื้อหมูนำเข้าจากเยอรมนีแล้ว ภายหลังจากที่มีการพบการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียอีโคไลสายพันธุ์ลึกลับ ซึ่งคร่าชีวิตชาวยุโรปไปแล้ว 22 คน และล้มป่วยทั่วยุโรปอีกกว่า 2,330 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน

“เราเพิ่งเริ่มปฏิบัติการพิเศษในการสุ่มตรวจเนื้อหมูและเนื้อวัวตัวอย่าง และคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้” วานา กล่าว พร้อมเสริมว่า เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขมีข้อมูลว่า มีโรงฆ่าสัตว์ราว 6 แห่ง ตลอดจนโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์อีกหลายแห่งในประเทศที่นำเข้าเนื้อวัวจากเยอรมนีตั้งแต่เดือน พ.ค.

สำหรับความคืบหน้าในการสืบหาต้นตอการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียมรณะนั้น ล่าสุดทางการเยอรมนียังคงมืดแปดด้าน และดูเหมือนจะสับสนต่อแหล่งที่มาของการระบาดของเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ยิ่งกว่านั้นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐยังเรียกการสืบสวนหาต้นตอการระบาดครั้งนี้ว่า “หายนะ” เมื่อทุกอย่างกลับไปเริ่มต้นที่จุดเดิมเป็นสัปดาห์ที่สอง

'เช็ก' สแกนเนื้อสัตว์นำเข้าจากเยอรมนี ยุโรปยังมึนต้นตออีโคไล

เอพี รายงานว่า ในตอนแรกทางการเยอรมนีพุ่งเป้าสงสัยไปที่แตงกวานำเข้าจากสเปน และต่อมาได้หันมาสงสัยถั่วงอกจากฟาร์มเกษตรออร์แกนิกทางตอนเหนือของประเทศ ว่าน่าจะเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไล

กระทั่งล่าสุด เกิร์ด ลินเดอร์มานน์ รัฐมนตรีเกษตรของรัฐโลเวอร์ แซ็กโซนี เปิดเผยว่า จากการสุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ 23 จาก 40 ชนิด น้ำ ระบบระบายอากาศ และการทำงานของคนงาน พบว่ามีผลเป็น “ลบ” หรือไม่มีสิ่งใดเป็นต้นเหตุของเชื้ออีโคไล

การกลับลำครั้งนี้มีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่รัฐมนตรีเกษตรของรัฐโลเวอร์ แซ็กโซนี ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า ถั่วงอกจากฟาร์มออร์แกนิกดังกล่าวน่าจะเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียมรณะในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ทางการเยอรมนียังคงยืนยันว่า แม้ผลทดสอบดังกล่าวจะออกมาในทางบวก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อสงสัยในเบื้องต้นจะผิดพลาด

อิลซา แอกเนอร์ รัฐมนตรีเกษตรของเยอรมนี เปิดเผยว่า ทางการยังคงออกคำเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วงอก มะเขือเทศ ผักกาดหอม และแตงกวา โดยเฉพาะที่มาจากทางตอนเหนือของประเทศ จนกว่าจะสามารถระบุถึงต้นตอของเชื้อแบคทีเรียมรณะได้

ทั้งนี้ กระบวนการสืบสวนจะยังคงดำเนินต่อไป พร้อมทั้งการตรวจสอบระบบการเพาะปลูกและการขนส่งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ท่ามกลางวิกฤตอีโคไลที่ยังไร้ทางออก ในวันเดียวกันนี้ รัฐมนตรีสาธารณสุขของกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ได้เข้าร่วมประชุมฉุกเฉินที่ลักเซมเบิร์ก โดยประเด็นหลักที่จะมีการหารือ คือ การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถขายผลผลิตได้ เนื่องจากความหวาดกลัวของผู้บริโภคต่อการแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไล รวมถึงข้อเสนอให้ทบทวนถึงระบบการเตือนความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อรับประกันว่าการประกาศเตือนภัยใดๆ ต้องมีข้อพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ก่อนเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ

จอห์น ดัลลี คณะกรรมาธิการกิจการนโยบายสาธารณสุขแห่งอียู เปิดเผยว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการเสนอโดยสเปน เนื่องจากสเปนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเตือนที่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดของเยอรมนีว่าแตงกวาจากฟาร์มออร์แกนิกในสเปนเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไล

ทั้งนี้ เอเอฟพี รายงานว่า สเปนประกาศจะเรียกร้องค่าชดเชยจากเยอรมนี หลังคำเตือนดังกล่าวทำให้ผลผลิตในสเปนได้รับผลกระทบ โดยสมาคมส่งออกผักและผลไม้ของสเปน (FEPEX) คาดการณ์ว่าสเปนสูญรายได้ไปราว 225 ล้านยูโรต่อสัปดาห์ (ราว 9,900 ล้านบาท) นับตั้งแต่เกิดวิกฤตขึ้น

“เราได้แจ้งกับเยอรมนีว่าต้องชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น และถ้าหากยอมจ่ายเงินชดเชยครบ 100% ตามที่เราต้องการ เรื่องนี้ก็จะจบลง แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะต่อสู้ทางกฎหมาย” รัฐมนตรีเกษตรของสเปน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเอเอฟพีรายงานอ้างคณะกรรมาธิการกิจการนโยบายสาธารณสุขแห่งอียู ว่า จะเสนอให้อียูมอบเงิน 150 ล้านยูโร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่หนังสือพิมพ์ทากเกสชปีเกลของเยอรมนี รายงานอ้างผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ว่า แบคทีเรียอีโคไลสายพันธุ์มรณะนี้ ส่วนใหญ่พบในคนมากกว่าสัตว์

โลธาร์ บอยทิน ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันประเมินความเสี่ยงในเยอรมนี กล่าวว่า อีโคไลสายพันธุ์อีเออีซี ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงนี้ จะไม่พบในระบบทางเดินอาหารของปศุสัตว์ แต่มักพบในคน เนื่องจากจุลชีพดังกล่าวสามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบในร่างกายของมนุษย์ได้ดี โดยบอยทินเชื่อว่าเป็นไปได้ที่เชื้อแบคทีเรียนี้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการใช้ปุ๋ยคอกแบบเหลว

นอกจากนี้ ยังย้ำว่าแบคทีเรียชนิดดังกล่าวเป็นอันตรายต่อมนุษย์ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียจะเกาะตัวอยู่บริเวณลำไส้ และผลิตพิษที่รู้จักกันในชื่อ “ชิกาทอกซิน” (Shiga Toxin)