posttoday

โลว์คอสสยายปีก ถึงยุคเอเชียบินถูก

09 กุมภาพันธ์ 2553

เปิดน่านฟ้าเอเชีย โลว์คอสต์สยายปีก ถึงยุคบินถูกของจริง

เปิดน่านฟ้าเอเชีย โลว์คอสต์สยายปีก ถึงยุคบินถูกของจริง

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส ถึงจุดจบประกาศล้มละลายไปเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่สายการบินแบบฟูลเซอร์วิสให้บริการเต็มรูปแบบอีกหลายสายในเอเชียต่างต้องดิ้นเอาตัวรอดด้วยการลดต้นทุน ลดรูปแบบให้บริการลง เป็นผลจากภาวะขาดทุนสืบเนื่องจากสารพัดวิกฤตในช่วงปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางวิกฤตของสายการบินราคาแพง แต่ทว่าสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำนั้น ได้กลับแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวท่ามกลางยุควิกฤตนี้

โลว์คอสสยายปีก ถึงยุคเอเชียบินถูก

นักวิเคราะห์และบรรดาผู้บริหารสายการบินทั้งหลาย ต่างเห็นพ้องกันในเวทีแสดงทัศนะในงานสิงคโปร์ แอร์โชว์ว่า จากเทรนด์รูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวแบบประหยัดที่กำลังเติบโตขึ้นในเอเชียประกอบกับเครือข่ายการบินที่เปิดกว้างมากขึ้นจากการเปิดเสรีน่านฟ้าในเอเชียนั้น ยิ่งจะทำให้อุตสาหกรรมการบินของสายการบินต้นทุนต่ำจะยิ่งสดใสมากขึ้นในระยะยาว

หลายความเห็นต่างฟันธงถึงการคาดการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะตลาดการบินเอเชียที่มีผู้โดยสารหลักพันล้านเป็นเดิมพัน

ยิ่งไปกว่านั้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้สายการบินต้นทุนต่ำยิ่งมีเพดานบินสูงขึ้นในธุรกิจนี้มากขึ้นไปอีก

ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว อุตสาหกรรมการบินโลกเจอกับผลกระทบโดยรวมจากวิกฤตเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นักท่องเที่ยวหยุดเดินทาง สายการบินต้องยกเลิก หรือประกาศเลื่อนใบสั่งเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ กันไม่หยุด

แต่ปรากฏว่าภายในงานสิงคโปร์ แอร์โชว์ ที่เพิ่งปิดม่านลงไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานั้น กลับกลายเป็นว่าได้มีการจรดน้ำหมึกในสัญญาการซื้อขายเครื่องกันเป็นมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

แม้ว่าจะมีมูลค่าน้อยกว่าเมื่อปี 2008 แต่ก็ถือว่าน่าพอใจ ที่การเติบโตเริ่มเห็นสัญญาณกลับมา

ทั้งแอร์บัส และโบอิ้ง สองบริษัทผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำของโลกต่างเห็นพ้องกันว่า เอเชียจะเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของธุรกิจการบินโลกในอีก 20 ปีข้างหน้านี้ และปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวผลักดันให้การบินเอเชียเดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่งก็คือ “การเดินทางอย่างประหยัด”

สายการบินต้นทุนต่ำถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่สำหรับชาวเอเชีย ที่ทำให้ชนชั้นกลาง และชนขั้นล่างมีโอกาสที่จะเหินฟ้าไปเที่ยวกันทั้งครอบครัวได้เพราะความ “ถูก” ของการเดินทาง และสายการบินราคาจับต้องได้เหล่านี้ยังเปิดให้บริการไปยังจุดหมายปลายทางที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ถือเป็นยุคแห่งการสิ้นสุดของการครอบงำของบรรดาสายการบินแห่งชาติราคาแพงในอุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยวเอเชียอย่างสิ้นเชิง

จนถึงในปัจจุบันนี้ เอเชียมีสายการบินต่างๆ ถึง 45 สายการบิน ไล่ตั้งแต่ญี่ปุ่น ไปจนถึงปากีสถาน ถือเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วต่างจากสายการบินแบบฟูลเซอร์วิส ที่ส่วนใหญ่ตกอยู่ในภาวะต้องเอาตัวรอดกันทั้งนั้น

ตัวอย่างของการเติบโตเห็นได้จากสายการบินไทเกอร์ แอร์เวย์ส สายการบินราคาประหยัดภายใต้ร่มเงาของสายการบินยักษ์ใหญ่อย่างสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ที่ประกาศขอรับฝูงบินใหม่ให้เร็วขึ้นเป็นเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ320 อีก 4 ลำ ในปีหน้า จากเดิมในปี 2016 ไทเกอร์ แอร์เวย์ส เริ่มสยายปีกครั้งแรกในปี 2004 ขณะนี้ได้รับส่งผู้โดยสารไปแล้ว 12 ล้านคน

ส่วนทางด้านนายเอเมียร์สยาห์ สตาร์ ประธานและซีอีโอของสายการบินการูด้า สายการบินแห่งชาติอินโดนีเซีย ก็ประกาศแผนพิจารณาเริ่มให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำเช่นเดียวกัน

จอห์น เลียฮี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการฝ่ายดูแลลูกค้าของแอร์บัส ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่จากฝั่งยุโรปได้เปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้ว แม้ว่าจะเป็นปีที่ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ แต่สายการบินราคาถูกในเอเชีย ได้บินรับส่งผู้โดยสารคิดเป็นระยะทางรวมกันแล้วเฉลี่ย 1,800 กิโลเมตรต่อเที่ยว เชื่อมต่อสนามบิน 576 แห่ง เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากเมื่อปี 2001 ซึ่งอยู่ที่ 700 กิโลเมตรต่อเที่ยว ไปยังสนามบิน 48 แห่งเท่านั้น

“หากนำตัวเลขเหล่านั้นมาเฉลี่ย และเปรียบเทียบกัน คุณจะเห็นว่าอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบ 40% ต่อปี”

โลว์คอสสยายปีก ถึงยุคเอเชียบินถูก

ยิ่งไปกว่านั้น การเติบโตของสายการบินราคาถูกยังได้กองหนุนจากการเปิดตลาดเสรีการค้า ซึ่งนำไปสู่การเปิดเส้นทางการบินที่เสรีมากกว่าเดิม โดยเฉพาะเส้นทางที่เป็นจุดหมายรองที่เชื่อมต่อระหว่างจีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดประวัติศาสตร์การบินหน้าใหม่ที่ราคาถูกกว่าให้กับภูมิภาคนี้
“การบินเอเชียจะไม่สามารถเติบโตขึ้นไปถึงศักยภาพที่แท้จริงได้เลยถ้าหากสายการบินต่างๆ ยังทำธุรกิจแบบโบร่ำโบราณกันอยู่” จิโอวานนี บิซิกเนียนี ผู้อำนวยการสมาพันธ์การเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) กล่าว

ทั้งนี้ จีนและสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะสรุปการเจรจากันในปีนี้ถึงการเปิดตลาดเสรีการบินระหว่างการ นั่นคือตลาดการบินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย ขณะที่สำหรับภายในภูมิภาคอาเซียนเองนั้น 10 ประเทศสมาชิกก็น่าจะเปิดเสรีในด้านนี้ได้ในราวปี 2015 ด้วย

ด้านนักวิเคราะห์และบรรดาผู้บริหารสายการบินในเอเชียยังชี้ประเด็นด้วยว่า ปัจจัยจากความย่ำแย่ของระบบคมนาคมของแต่ละประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองนั้นไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถยนต์ และการเดินทางทางเรือที่ไม่สะดวก ยิ่งจะทำให้การเดินทางด้วยสายการบินต้นทุนต่ำจะยิ่งน่าดึงดูดผู้โดยสารใหม่ๆ มากขึ้น

อีกทั้งอาเซียนมีประชากรรวมกันราว 3,000 ล้านคน นั่นหมายถึงปริมาณมหาศาลที่น่าจะเพียงพอสำหรับส่วนแบ่งตลาดของสายการบินแต่ละแห่ง และยิ่งเปิดเที่ยวบินมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้ราคาบัตรโดยสารถูกลงมากขึ้นเท่านั้น

“เมื่อคุณเปิดน่านฟ้า นั่นหมายถึงการเปิดเสรีมากขึ้น และเป็นการเปิดสนามแข่งขันขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง” แรนดี ทินเซ็ธ ประธานฝ่ายการตลาดของโบอิ้งกล่าว