posttoday

เงินเฟ้อมาแล้ว

06 เมษายน 2554

เงินเฟ้อมาแล้ว

เงินเฟ้อมาแล้ว

กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเอเชียมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาในปีนี้ ที่ทั่วภูมิภาคเอเชียแม้ว่าเศรษฐกิจจะคึกคักขึ้น

แต่ภาวะเงินเฟ้อก็กำลังสร้างความลำบากใจให้กับทุกประเทศกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก อย่างจีนที่ดูว่าจะหนักหนาสาหัสกว่าใครเพื่อน

เอเชียเจอแล้ว จีนยิ่งเจอหนัก รายต่อไปอาจจะต้องจับตาไปที่สหรัฐครับ ปัญหาเงินเฟ้อกำลังทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มหันมาให้ความสนใจแบบตาไม่กะพริบ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในขณะนี้อยู่ที่ 2.1% ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐย้ำมาตลอดว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหา อยู่ในระดับที่คุมได้ แต่มาถึง ณ วันนี้ เริ่มจะไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว

ปัจจัยเสี่ยงอย่างแรกที่โผล่มาให้โลกเสียวกันเล่น ก็คือราคาน้ำมัน ที่เจอแรงดันแบบสุดโต่งจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ราคาป้วนเปี้ยนไต่ขึ้นมาเรื่อยๆ เรียงๆ ครับ จนขณะนี้ใกล้แตะ 110 เหรียญสหรัฐเต็มที่

ปัจจัยต่อมา ก็คือเงินทุนจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะจากสหรัฐที่เริ่มทยอยพาเหรดออกจากตลาดเอเชีย และกลับไปที่ตลาดสหรัฐกันมากขึ้นอันเป็นผลมาจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐเริ่มฟื้นตัวเรื่อยๆ กระแสทุนยิ่งไหลกลับสู่แผ่นดินลุงแซม ยิ่งสร้างความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อมากขึ้นไปอีก

เท่านั้นยังไม่พอ อย่าลืมว่าธนาคารกลางสหรัฐออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบหลายขนานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการผ่อนปรนเชิงนโยบาย หรือคิวอี2 มูลค่ากว่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเสี่ยงทำให้เม็ดเงินในสหรัฐเฟ้อตัวหนัก

ประกอบกับอย่าลืมว่า เฟด ยังคงรั้งอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0% มานานจะ 3 ปีแล้ว ตรงนี้แหละครับที่จะทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะอันตรายมากขึ้น

ส่วนญี่ปุ่น แม้ว่าในขณะนี้จะฟุบตัวลงไปหลังจากประสบกับแผ่นดินไหว และสึนามิ แต่หลังจากนี้ญี่ปุ่นจะเร่งทุ่มแบบเต็มที่เพื่อฟื้นฟูประเทศ และเศรษฐกิจครั้งใหญ่น่าจะทำให้ราคาสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับภาคการก่อสร้าง ตลอดจนเชื้อเพลิงและน้ำมันจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น และราคาจะยิ่งโดดไปมากขึ้นครับ

และเมื่อสหรัฐและญี่ปุ่นที่ปกติจะเจอกับภาวะเงินฝืด กลับมาประสบกับวิกฤตเงินเฟ้อรุมเร้าขึ้นบ้าง ก็น่าจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเดินเข้าสู่ห้วงภาวะข้าวยากหมากแพงอย่างเต็มตัว

อาหารก็แพง น้ำมันก็แพง ราคาสินค้าก็แพง !

กลายเป็นปัญหาท้าทายครั้งใหม่ อันเป็นผลกระทบจากการเร่งกระตุ้นกันแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าขวานเมื่อช่วงเศรษฐกิจฟุบลงไปก่อนหน้านี้ครับ