posttoday

เทปโคอ่วมหุ่นดิ่งเหวต่ำสุดในรอบ 60 ปี

06 เมษายน 2554

วิกฤตนิวเคลียร์ญี่ปุ่นซึมลึก พบน้ำทะเลปนเปื้อนเกินเกณฑ์ 7.5 ล้านเท่า ด้านหุ้นเทปโคดิ่งหนัก แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

วิกฤตนิวเคลียร์ญี่ปุ่นซึมลึก พบน้ำทะเลปนเปื้อนเกินเกณฑ์ 7.5 ล้านเท่า ด้านหุ้นเทปโคดิ่งหนัก แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

บริษัท โตเกียวอิเล็กทริก เพาเวอร์ (เทปโค) แถลงว่า ตัวอย่างน้ำทะเลที่เก็บมาจากน้ำทะเลใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ไดอิชิ ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากภัยพิบัติครั้งรุนแรงสึนามิแผ่นดินไหว จากการนำตัวอย่างไปตรวจสอบเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น พบการปนเปื้อนของรังสีไอโอไดด์มากกว่าที่กฎหมายกำหนดถึง 7.5 ล้านเท่า

อย่างไรก็ตาม เทปโคยังคงยืนยันว่า แม้น้ำที่ตรวจพบจะมีการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีในระดับสูง แต่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างฉับพลัน พร้อมเสริมว่าทางบริษัทกำลังดำเนินการเพื่อหยุดยั้งการรั่วไหลของรังสีให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

เทปโคอ่วมหุ่นดิ่งเหวต่ำสุดในรอบ 60 ปี

ทั้งนี้ การตรวจวัดค่ารังสีครั้งล่าสุด มีการตั้งจุดตรวจที่ใกล้กว่าครั้งก่อนๆ เนื่องจากมีการเพิ่มจุดตรวจวัดใหม่ ภายหลังพบว่าอุโมงค์คอนกรีตใกล้เตาหมายเลข 2 เกิดการแตกร้าว ขณะที่หน่วยวัดรังสีอีกจุดหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าไปหลายร้อยเมตร พบว่าปริมาณการปนเปื้อนของรังสีลดลงและอยู่ในระดับที่เกินจากที่กฎหมายกำหนด 1,000 เท่า

สำหรับสาเหตุที่ผลการตรวจวัดรังสีมีการเผยแพร่ล่าช้านั้น เป็นผลจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วระบบการวัดรังสีของเทปโคถูกตั้งข้อสงสัยถึงความแม่นยำ ขณะที่สำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นสั่งให้เทปโควิเคราะห์ผลการตรวจสอบการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีอีกครั้ง

ผลพวงจากการตรวจพบการปนเปื้อนรังสีครั้งมโหฬารนี้เอง ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นริเริ่มกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยเรื่องการปนเปื้อนของรังสีในปลาทะเลเป็นครั้งแรก

ยูคิโอะ เอดาโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลกำหนดให้ปลาทะเลมีการปนเปื้อนของไอโอไดด์ได้สูงสุด 2,000 เบกเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎคุมเข้มการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีในปลา

“ที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารทะเล เช่น ปลา ดังนั้นรัฐบาลจึงตัดสินใจนำมาตรฐานที่ใช้กับผักมาใช้กับปลาชั่วคราว” เอดาโนะ กล่าวในการแถลงข่าว

ส่วนความคืบหน้าปฏิบัติการปล่อยน้ำเปื้อนรังสี จำนวน 11,500 ตันลงสู่ทะเล ซึ่งตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของรังสีสูงถึง 4,000 เท่า เพื่อสำรองพื้นที่ว่างในบ่อกักเก็บน้ำเสียที่การปนเปื้อนรังสีในระดับค่อนข้างสูงนั้นคงดำเนินต่อไป

พร้อมกันนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ขอความช่วยเหลือไปยังรัสเซีย โดยขอให้ส่งเรือที่เคยถูกใช้ในการขนถ่ายขยะนิวเคลียร์เหลว จำนวน 1 ลำ มาช่วยกู้วิกฤตนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญในขณะนี้

ขณะที่บีบีซี รายงานว่า เจ้าหน้าที่ในจังหวัดฟูกุชิมาได้เริ่มโครงการฉุกเฉิน เพื่อตรวจวัดระดับกัมมันตรังสีตามสนามของโรงเรียนและเนิร์สเซอรีกว่า 1,400 แห่ง โดยจะเริ่มทำการทดสอบในอีกสองวันข้างหน้า หลังจากพ่อแม่ของเด็กๆ แสดงความวิตกต่อกัมมันตรังสีที่รั่วออกมาจากโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความกังวลต่อการปนเปื้อนรังสียังลุกลามไปถึงสิงคโปร์ ซึ่งล่าสุด สำนักงานอาหารเกษตรและสัตวแพทย์ของสิงคโปร์ (เอวีเอ) ออกแถลงการณ์ระงับการนำเข้าผลไม้และผักจากญี่ปุ่นเพิ่มอีก 1 แห่ง คือ จังหวัดเฮียวโก ภายหลังตรวจพบว่ากะหล่ำปลีที่ถูกส่งมาจากจังหวัดดังกล่าวมีการปนเปื้อนของรังสีในระดับที่สูงกว่าปกติ โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์ได้สั่งห้ามนำเข้าอาหารจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงจังหวัดฟูกุชิมาและกรุงโตเกียว

นอกจากนี้ เอเอฟพีรายงานว่า หุ้นเทปโคร่วงลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในการซื้อขายที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ปัจจัยหลักเป็นผลจากการที่เทปโคยังไม่สามารถยุติอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ครั้งรุนแรงที่สุดในโลก นับตั้งแต่เหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดเมื่อปี 2529

หุ้นเทปโคดิ่งลงถึง 18.10% หรือ 80 เยน ลงมาอยู่ที่ 376 เยน ในการซื้อขายระหว่างวัน ซึ่งต่ำกว่าระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 393 เยน เมื่อเดือน ธ.ค. 2493 ท่ามกลางความกังวลว่าเทปโคจะต้องจ่ายเงินชดเชยก้อนใหญ่ ในฐานะเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ไดอิชิ ซึ่งล่าสุดจำต้องปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีนับหมื่นตันลงทะเลเพื่อกู้วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

“นักลงทุนยังคงเทขายหุ้นของเทปโค เนื่องจากความไม่แน่นอนของวิกฤตนิวเคลียร์ โดยเฉพาะหลังจากเทปโคตัดสินใจปล่อยน้ำที่มีการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลยิ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุน” คูซูฮิโระ ทากาฮาชิ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จากไดวา เอสเอ็มบีซี ซีเคียวริตี กล่าว

ในวันเดียวกัน โฆษกของเทปโค กล่าวว่า ทางบริษัทตัดสินใจเลื่อนการแถลงผลประกอบการประจำปีงบการเงิน 2553 ที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค. ซึ่งเดิมมีกำหนดจะแถลงในวันที่ 28 เม.ย. ทว่าเทปโคยังไม่ระบุว่าจะเสนอรายงานดังกล่าวเมื่อใด

ด้านหนังสือพิมพ์โยมิอูริ รายงานว่า เทปโคตัดสินใจจะเสนอจ่ายค่าเสียหายชาวบ้านและเกษตรกรใกล้โรงไฟฟ้าฟูกุชิมา ไดอิชิ ในเบื้องต้น ก่อนจะมีการประเมินตัวเลขความเสียหายอย่างเป็นทางการ

ขณะที่ โยชิฮิโกะ โนดะ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น ระบุว่า ญี่ปุ่นวางแผนจะขอความร่วมมือจากกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (จี7) ต่อไปในการประชุม รัฐมนตรีคลัง จี7 ที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐ ในวันที่ 14 เม.ย. ภายหลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว กลุ่ม จี7 และญี่ปุ่นได้ร่วมมือกันแทรกแซงค่าเงินเพื่อสกัดการแข็งค่าของค่าเงินเยนหลังเหตุภัยธรรมชาติครั้งใหญ่

“หลังจากร่วมมือกับกลุ่ม จี7 เพื่อแทรกแซงตลาดค่าเงิน ผมอยากแสดงความขอบคุณ และขอความร่วมมือจากกลุ่มจี 7 ต่อไป” โนดะ กล่าวในงานแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี

ขณะที่แหล่งข่าวจากกลุ่ม จี7 กล่าวกับรอยเตอร์ส ว่า รัฐมนตรีคลังจากกลุ่มชาติ สมาชิกจะชูประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องจากหายนะจากแผ่นดินไหว สึนามิ และวิกฤตนิวเคลียร์ญี่ปุ่นเป็นวาระสำคัญ