posttoday

วิกฤตินิวเคลียร์ลากยาว เทปโคกระเป๋าฉีก คาด2ปี่เสียหายพุ่งเฉียด 4 ล้านล้าน

01 เมษายน 2554

เมอร์ริล ลินช์ คาดเทปโคต้องจ่ายค่าเสียหายถึง 4 ล้านล้านบาท ฐานเป็นต้นตอวิกฤตครั้งเลวร้าย หนำซ้ำเจอมูดี้ส์หั่นเครดิตรวด 3 ขั้น

เมอร์ริล ลินช์ คาดเทปโคต้องจ่ายค่าเสียหายถึง 4 ล้านล้านบาท ฐานเป็นต้นตอวิกฤตครั้งเลวร้าย หนำซ้ำเจอมูดี้ส์หั่นเครดิตรวด 3 ขั้น

นักวิเคราะห์ของธนาคารเมอร์ริล ลินช์ ประเมินว่าบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เทปโค) ผู้ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ไดอิชิ ที่กำลังมีปัญหาอาจต้องจ่ายค่าเสียหายสูงถึง 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (3.9 ล้านล้านบาท) หรือสูงกว่ามูลค่าหุ้นของเทปโคถึง 4 เท่า หากวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดของญี่ปุ่นยืดเยื้อถึง 2 ปี ท่ามกลางกระแสการคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้มาตรการขั้นต่อไปในการรักษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแห่งนี้เอาไว้

ด้านนักลงทุนต่างทวีความวิตกกังวลถึงอนาคตของเทปโคมากขึ้น ภายหลังจากที่มาซาตากะ ชิมิซึ ประธานบริษัทความดันขึ้นจนต้องหามส่งโรงพยาบาลเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 30 มี.ค. เทปโค ระบุว่า เงินกู้ฉุกเฉินมูลค่า 2 ล้านล้านเยน จากธนาคารรายใหญ่ของญี่ปุ่นอาจไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย

วิกฤตินิวเคลียร์ลากยาว เทปโคกระเป๋าฉีก คาด2ปี่เสียหายพุ่งเฉียด 4 ล้านล้าน

“ผมคิดว่าสถานการณ์ในขณะนี้ รัฐบาลมีตัวเลือกน้อยมาก” ราวี คริสนาสวามี รองประธานด้านพลังงานของบริษัท ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน ประจำภูมิภาคแปซิฟิก ในสิงคโปร์ กล่าวพร้อมเสริมว่า “ความรู้สึกชาตินิยมอาจไม่ใช้เรื่องดีนักสำหรับผู้ถือหุ้น แต่ในท้ายสุดหากรัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ อย่างน้อยก็ช่วยให้บรรดาเจ้าหนี้วางใจได้ว่าหนี้จะไม่สูญ

ด้านยูซูกิ ยูเอดะ นักวิเคราะห์จากเมอร์ริล ลินช์ เห็นว่า หากเทปโคสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายใน 2 เดือน ค่าเสียหายจะลดลงเหลือน้อยกว่า 1 ล้านล้านเยน และจะพุ่งไปแตะ 3 ล้านล้านเยน หากวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยืดเยื้อไปถึง 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม ยูเอดะ เชื่อว่าแม้สถานการณ์จะเลวร้าย แต่เทปโคคงจะไม่ยอมยื่นขอล้มละลายทางกฎหมาย เนื่องจากเป็นบริษัทที่ได้ชื่อ ว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในโครงสร้างพื้นฐานของชาติ ซึ่งผู้บริหารของเทปโคได้ระบุเมื่อวันพุธว่า ทางบริษัทจะหารือกับรัฐบาลถึงแนวทางในการหาเงินทุนมาจ่ายค่าเสียหาย อันเป็นผลมาจากการฟุ้งกระจายของกัมมันตรังสี การดับไฟในหลายพื้นที่และการอพยพประชาชน

นอกจากนี้ ในวันเดียวกันบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดัง มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของเทปโคลง 3 ขั้น จากระดับ A1 ลงมาสู่ระดับ Baa1 ซึ่งนับเป็นประกาศปรับลดอันดับบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่เกิดเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิถล่ม จนทำให้โรงไฟฟ้าได้รับความเสียหายและเกิดการฟุ้งกระจายของกัมมันตรังสี

“การหั่นอันดับครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า จากนี้เทปโคต้องเผชิญกับต้นทุนมหาศาลในการฟื้นฟูโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าหลังใหม่แทนหลังเก่าที่ได้รับความเสียหาย และค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนโรงไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก” มูดี้ส์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้จะลดอันดับความน่าเชื่อถือของเทปโคลงมาอยู่ที่ระดับ Baa1 ซึ่งสูงกว่าระดับจังก์ (Junk) เพียง 1 ขั้น แต่มูดี้ส์ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเทปโคอีกในอนาคต

ส่วนความคืบหน้าของสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ล่าสุด สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (ไอเออีเอ) ออกโรงแนะนำว่าญี่ปุ่นควรพิจารณาการขยายรัศมีอพยพรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้น หลังตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีที่หมู่บ้านไออิตาเตะ ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ไดอิชิ ประมาณ 40 กิโลเมตร สูงกว่าเกณฑ์ที่ระบุให้มีการอพยพประชาชนก็ตาม

แต่ทว่า สำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ ยังยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องสั่งอพยพประชาชนในรัศมี 40 กิโลเมตรแต่อย่างใด “เราได้รับแจ้งจากไอเออีเอว่า ค่ากัมมันตรังสีในดินเกินกว่ามาตรฐานที่ไอเออีเอกำหนดไว้ ทั้งยังเตือนให้ประเมินสถานการณ์ด้วยความรอบคอบ” ยูคิโอะ เอดาโนะ หัวหน้าโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าว พร้อมเสริมว่า “ผมไม่คิดว่าสถานการณ์ขณะนี้มีความจำเป็นที่ต้องขยายเขตอพยพในทันที”

นอกจากปริมาณการฟุ้งกระจายของกัมมันตรังสีแล้ว วิกฤตรังสีปนเปื้อนน้ำทะเลก็ส่อเค้าบานปลาย เมื่อวันที่ 31 มี.ค. เทปโค เปิดเผยว่าพบปริมาณไอโอไดด์ –131 ปนเปื้อนในน้ำทะเลรอบๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับที่กฎหมายกำหนดถึง 4,385 เท่า ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตขึ้น สูงขึ้นจากระดับที่ตรวจวัดเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 3,355 เท่า

ขณะที่ฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ โฆษกสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น (นิซา) ยอมรับว่าระดับการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีในน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นี้ สะท้อนถึงความเป็นไปได้ว่า มีการรั่วไหลของรังสีออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าจนถึงขณะนี้ทีมวิศวกรยังไม่ทราบว่ารังสีรั่วออกมาจากไหน

ด้านสำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า นายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ยืนยันกับคาซึโอะ ชิอิ หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ ปาร์ตี้ ว่า จำเป็นต้องรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ไดอิชิ ซึ่งเป็นต้นตอของวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อปี 1986

นอกจากนี้ ชิอิ ยังกล่าวด้วยว่า วิกฤตครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญขณะนี้ ทำให้นายกฯ คัง เห็นว่า รัฐบาลอาจต้องทบทวนแผนการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างน้อยอีก 14 แห่ง ภายในปี 2030 อีกครั้ง

ทั้งนี้ ภายใต้แผนพลังงานพื้นฐานของญี่ปุ่น ซึ่งผ่านการรับรองเมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้วนั้น ระบุให้พลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศทั้งในระยะกลางและระยะยาว พร้อมกันนี้ยังตั้งเป้าจะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างน้อย 14 แห่ง หรือมากกว่านั้น ภายในปี 2030 และจะสร้างให้เสร็จก่อน 9 แห่ง ภายในปี 2020