posttoday

กดดันสหรัฐส่งอาวุธช่วยกลุ่มต้านกัดดาฟี

07 มีนาคม 2554

สหรัฐเจอแรงกดดันให้ส่งอาวุธช่วยกลุ่มต่อต้านกัดดาฟี ด้านสื่อนอกเชื่อผู้นำลิเบียยังมีเงินจากการส่งออกน้ำมันอีกหลายร้อยล้านสหรัฐแม้จะโดนชาติตะวันตกคว่ำบาตรเศรษฐกิจ 

สหรัฐเจอแรงกดดันให้ส่งอาวุธช่วยกลุ่มต่อต้านกัดดาฟี ด้านสื่อนอกเชื่อผู้นำลิเบียยังมีเงินจากการส่งออกน้ำมันอีกหลายร้อยล้านสหรัฐแม้จะโดนชาติตะวันตกคว่ำบาตรเศรษฐกิจ 

รัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามาแห่งสหรัฐ กำลังเผชิญแรงกดดันให้มีการติดอาวุธฝ่ายต่อต้านในลิเบียที่กำลังสู้รบกับกองกำลังรัฐบาลพันเอก โมฮัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ท่ามกลางข้อครหาว่ารัฐบาลสหรัฐพลาดโอกาสล่าสุดที่จะโค่นอำนาจผู้นำจอมเผด็จการ

ผู้นำสหรัฐ ยืนยันว่า ยังคงพิจารณาทางเลือกทุกอย่าง รวมทั้งปฏิบัติการทางทหาร  แต่เห็นว่าการประกาศเขตห้ามบินในลิเบีย ยังเป็นเรื่องอีกไกล โดยโรเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เตือนว่า การประกาศเขตห้ามบินจำเป็นต้องส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้าไปทำลายระบบป้องกันทางอากาศของลิเบีย ซึ่งอาจเป็นการก่อสงครามครั้งที่ 3 หลังจากสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน

ด้านสมาชิกรัฐสภาสหรัฐและอดีตเจ้าหน้าที่หลายคนเห็นพ้องว่า มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะส่งอาวุธเข้าไปช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในลิเบีย

“แน่นอนว่าหากเราสามารถส่งอาวุธเข้าไปถึงมือฝ่ายกบฎ และหากเราสามารถส่งระบบป้องกันอากาศยานเพื่อให้พวกเขาประกาศเขตห้ามบินในดินแดนของตัวเอง ก็จะเป็นประโยชน์มากทีเดียว” สตีเฟน แฮดลีย์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น

อย่างไรก็ตาม พันเอกเดวิด ลาแพน โฆษกของเพนตากอน ยังไม่ยืนยันถึงความเป็นไปได้ที่แผนติดอาวุธให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลกัดดาฟี

ขณะเดียวกันอาลี เออร์ริชี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเข้าเมืองของลิเบียซึ่งลาออกทันทีหลังเกิดการลุกฮือ เกือบ 3 สัปดาห์ก่อนวิจารณ์สหรัฐว่า พลาดโอกาสสำคัญที่จะโค่นกัดดาฟีไปแล้ว เนื่องจากสหรัฐมีการตอบสนองล่าช้า เมื่อครั้งที่ฝ่ายต่อต้านขอความช่วยเหลือตั้งแต่ตอนที่กัดดาฟีกำลังเพลี่ยงพล้ำ

ท่ามกลางการต่อสู้รบกันอย่างดุเดือดระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน จนทำให้ลิเบียเฉียดเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองขึ้นทุกขณะ หนังสือพิมพ์ไฟแนลเชียล ไทมส์ รายงานว่ารัฐบาลกัดดาฟี ยังมีรายได้หลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ จากการส่งออกน้ำมัน แม้กลุ่มมหาอำนาจตะวันตกจะดำเนินนโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพื่อกดดันให้กัดดาฟีลงจากตำแหน่งก็ตาม

เจ้าหน้าที่บริษัทน้ำมัน และผู้แทนของบริษัทเดินเรือ ระบุว่า ในช่วงที่เหตุวุ่นวายเริ่มปะทุขึ้น ลิเบียมีปริมาณการส่งออกน้ำมัน 5.7 แสนบาร์เรลต่อวัน และลดลงเหลือ 4 แสนบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์นี้ ซึ่งหากประเมินจากปริมาณการส่งออกในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 770 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยลูกค้าหลักคือจีนและอินเดีย

กดดันสหรัฐส่งอาวุธช่วยกลุ่มต้านกัดดาฟี