posttoday

เอพียันทัพเขมรประจำการทั่ว พระวิหาร ชาวบ้านหลงเชื่อ ไทยหวังขโมยแผ่นดิน!

10 กุมภาพันธ์ 2554

ผู้สื่อข่าวต่างชาติยันทหารกัมพูชาปักหลักพระวิหารเพียบ แม้พนมเปญยืนกรานปฏิเสธเสียงแข็ง ชาวบ้านเชื่อไทยหวังฮุบแผ่นดิน ยังขออดทนให้สหประชาชาติจัดการไทย

ผู้สื่อข่าวต่างชาติยันทหารกัมพูชาปักหลักพระวิหารเพียบ แม้พนมเปญยืนกรานปฏิเสธเสียงแข็ง ชาวบ้านเชื่อไทยหวังฮุบแผ่นดิน ยังขออดทนให้สหประชาชาติจัดการไทย

 

เอพียันทัพเขมรประจำการทั่ว พระวิหาร ชาวบ้านหลงเชื่อ ไทยหวังขโมยแผ่นดิน!

แม้เหตุปะทะระหว่างไทยกัมพูชา บริเวณ “ปราสาทพระวิหาร” ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะกลับเข้าสู่ภาวะสงบอีกครั้งแล้ว แต่จากรายงานของ ทอด พิตต์แมน ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอพี ซึ่งเข้าไปสำรวจปราสาทพระวิหาร เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา รายงานว่า ทหารกัมพูชาหลายร้อยนายยังคงปักหลัก และประจำการอยู่ที่ตัวปราสาท รวมถึงพื้นที่รอบๆ รวมทั้งมีการตั้งแนวบังเกอร์กระสอบทรายไว้ตลอดแนวโดยรอบ

รายงานระบุว่า ทหารหลายร้อยนายสวมเครื่องแบบอำพราง โดยระหว่างที่ผู้สื่อข่าวเข้าไปสำรวจ ทหารส่วนหนึ่งกำลังเสริมบังเกอร์กระสอบทรายให้สูงขึ้น ขณะที่บางส่วนกำลังพักผ่อน

“เราอยู่ที่นี่เพื่อปกป้องปราสาทพระวิหาร เมื่อใดที่การปะทะจบลง เราก็จะไป” ทหารซึ่งประจำการอยู่ตามแนวบังเกอร์กระสอบทราย กล่าว

“ผมและเพื่อนทหารคนอื่นๆ เดิมประจำการอยู่ที่ฐานทัพซึ่งห่างจากที่นี่ไปหลายกิโลเมตร แต่ถูกสั่งให้ย้ายมาประจำการที่นี่เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ก.พ. หลังเกิดปะทะกับฝ่ายไทย”

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวเอพียังระบุด้วยว่า บริเวณรอบๆ ตัวปราสาทยังปรากฏว่ามีอาวุธสงครามปรากฏให้เห็น โดยในจำนวนนี้รวมถึงปืนไรเฟิล และเครื่องยิงจรวด ซึ่งถูกพิงไว้ที่กำแพงปราสาทพระวิหาร และปืนครกขนาดลำกล้อง 88 มม. ซึ่งปลายกระบอกปืนหันมาทางประเทศไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธว่าไม่ได้จงใจส่งทหารไปประจำการที่ปราสาท อีกทั้งยังกล่าวโทษว่าฝ่ายไทยเป็นต้นเหตุทำให้มรดกโลกได้รับความเสียหาย

ขณะที่เมื่อคืนวันที่ 8 ก.พ. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา ได้ออกแถลงการณ์ว่าไม่เคยใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานทัพเพื่อต่อสู้กับไทย พร้อมย้ำว่ามีเพียงการประจำการตำรวจจำนวนไม่มากพร้อมอาวุธเบา เพื่อรักษาความปลอดภัยในสถานที่ดังกล่าวเท่านั้น

 

เอพียันทัพเขมรประจำการทั่ว พระวิหาร ชาวบ้านหลงเชื่อ ไทยหวังขโมยแผ่นดิน!

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ฝ่ายไทยได้นำรถถังราว 20 คัน มาประจำที่ค่ายทหารใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับพื้นที่พิพาท แต่เจ้าหน้าที่กองทัพไทยยังคงยืนกรานว่าไม่ได้มีการเสริมกำลังในพื้นที่ดังกล่าว

นอกจากนี้ สื่อชื่อดังยังวิเคราะห์ถึงเบื้องหลังของเหตุปะทะดังกล่าวว่า แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าเหตุรุนแรงที่อุบัติขึ้นล่าสุดนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุใด แต่นักวิเคราะห์บางส่วนเห็นว่าอาจเชื่อมโยงกับกลุ่มนายทหารสายเหยี่ยวของไทย ซึ่งนิยมใช้นโยบายทางการทหารเข้าแก้ปัญหาระหว่างประเทศมากกว่านโยบายทางการทูต รวมถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ไม่เพียงพยายามโค่นล้มอำนาจรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน แต่พยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การทำรัฐประหาร และล้มเลิกการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้

รอยเตอร์ส รายงานด้วยว่า ข้อพิพาทบริเวณชายแดนไทยกัมพูชาที่ยืดเยื้อมายาวนานนั้น ได้สร้างความกังวลให้ชาวกัมพูชาซึ่งต่างเชื่อว่าจะถูกประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยยึดแผ่นดินไปไม่น้อย แต่ทว่าความหวาดวิตกนี้ยังไม่รุนแรงพอที่จะกระพือให้กลายเป็นความโกรธแค้นนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงเหมือนเมื่อครั้งเหตุเผาสถานทูตไทยในปี 2546

โรเบิร์ต เบอร์เซล ผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ส เสนอรายงานกึ่งวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ทำให้ชาวพนมเปญไม่เดือดดาลกับเหตุการณ์ปะทะครั้งล่าสุดนี้มากนัก เบอร์เซล เห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาลกัมพูชาที่ไม่ต้องการให้ประชาชนออกมาแสดงพลังลุกฮือจนไม่สามารถควบคุมได้ ในห้วงเวลาที่รัฐบาลกำลังเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้ามาคลี่คลายข้อพิพาทดังกล่าว

ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอข่าวคราวการปะทะกันระลอกล่าสุดระหว่างไทยกัมพูชา ซึ่งแม้จะมีการเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ของกัมพูชา โดยสถานีโทรทัศน์ของกัมพูชายังคงแพร่ภาพคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นถึงความเสียหายของปราสาทพระวิหาร ซึ่งเสียหายเล็กน้อยจากการโจมตีของฝ่ายไทย และยังไม่มีสัญญาณว่ารัฐบาลจะนำภาพเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในกัมพูชาเมื่อปี 2546 มาออกอากาศซ้ำ

อย่างไรก็ตาม สื่อชื่อดังชี้ว่าการที่ชาวพนมเปญสงวนท่าที และไม่แสดงความโกรธแค้นต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าชาวกัมพูชาสนับสนุนให้รัฐบาลยอมอ่อนข้อ ในทางกลับกัน ชาวพนมเปญกลับเห็นว่ารัฐบาลควรต่อสู้เพื่อรักษาแผ่นดินของกัมพูชาไว้ เพียงแต่ยังไม่ใช่เวลานี้

“คนไทยหวังจะฮุบแผ่นดินของเรา” คนขับแท็กซี่ในกรุงพนมเปญ กล่าว

“ที่นี่เป็นแผ่นดินของเรา พวกเรารู้สึกโกรธแค้นมาก แต่รัฐบาลของเรากำลังดำเนินการอย่างสันติวิธีโดยผ่านยูเอ็น ดังนั้นเราควรจะรอการดำเนินการของยูเอ็น” ชาวพนมเปญซึ่งติดตามสถานการณ์ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น กล่าว

สอดคล้องกับความคิดเห็นของนักวิชาการกัมพูชาที่เห็นว่าชาวพนมเปญไม่ใช่ไม่ยี่หระต่อความขัดแย้งดังกล่าว เพียงแต่ยังไม่แสดงออกเท่านั้น

“ชาวกัมพูชาจะดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขต่อไป แม้จะเกิดเหตุความไม่สงบบริเวณชายแดน แต่ความรู้สึกของชาวกัมพูชาต่อเรื่องนี้ยังเข้มข้น เพียงแต่ไม่แสดงออกมาเท่านั้น” ฮังชายา กลุ่มนักคิดจากสถาบันเขมรเพื่อประชาธิปไตย กล่าว