posttoday

โล่งหรือไม่?

14 มกราคม 2554

เรียกได้ว่าโล่งไปอีกเปลาะกับการประสบความสำเร็จของโปรตุเกส ที่สามารถระดมทุนจากการเปิดประมูลพันธบัตรได้ตามเป้าที่วางไว้ที่ 1,250 ยูโร

เรียกได้ว่าโล่งไปอีกเปลาะกับการประสบความสำเร็จของโปรตุเกส ที่สามารถระดมทุนจากการเปิดประมูลพันธบัตรได้ตามเป้าที่วางไว้ที่ 1,250 ยูโร

ด้วยความช่วยเหลืออย่างสุดๆ จากหลายประเทศทั้งในยุโรปเอง และแม้กระทั่งจากจีนและญี่ปุ่น ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะเปิดการประมูลว่า จะช่วยเหลือยุโรปอย่างเต็มที่ครับ

ผลสำเร็จจากโปรตุเกสยังส่งผ่านมายังสเปนด้วยในเวลาเพียง 1 วันต่อมา เมื่อสเปนสามารถบรรลุเป้าในการระดมทุนจากการประมูลพันธบัตรได้ตามที่วางไว้ 3,000 ล้านยูโร สเปนที่ถูกมองว่าจะเป็นประเทศต่อจากโปรตุเกส ที่จะต้องรับความช่วยเหลือนั้นก็ได้หายใจโล่งตามไปด้วย

แต่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายก็มองว่า เป็นเพียงการผ่อนคลายความตึงเครียดในระยะสั้นเท่านั้น เหมือนกับเมื่อครั้งที่ไอร์แลนด์ยอมรับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป และไอเอ็มเอฟ เมื่อปีที่แล้วครับ

จากที่คิดว่าหลังจากไอร์แลนด์รับความช่วยเหลือไปแล้ว (เป็นประเทศที่ 2 ต่อจากกรีซ) วิกฤตในยุโรปก็น่าจะดีขึ้น แต่แล้วแรงกดดันก็มาตกอยู่ที่โปรตุเกสในที่สุด

นั่นเป็นเพราะวิกฤตครั้งนี้ นอกเหนือจากจะมีสาเหตุมาจากปัญหาหนี้เรื้อรังในหลายชาติยุโรปแล้ว ยังลุกลามกลายเป็นวิกฤตความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลของหลายชาติยุโรปไปแล้ว โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อการชำระหนี้คืนของรัฐบาลชาติต่างๆ

อย่างโปรตุเกสนั้น เห็นได้จากความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเบี้ยประกันความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ของพันธบัตรรัฐบาลนั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสูงขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับเบี้ยประกันพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งถือเป็นพันธบัตรที่มั่นคงที่สุดในยุโรป

ปัญหาในโปรตุเกส ยังใช่ว่าจะหายไปในพริบตากับความสำเร็จในการประมูลพันธบัตรครั้งนี้ เพราะว่าปัญหาเดิมๆ ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่ยังอยู่ในระดับสูงมาก ตลอดไปจนถึงศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจในอนาคตของโปรตุเกสที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

จนเมื่อปลายปีที่แล้วนี้เอง ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินในประเทศและต่างประเทศระยะยาวของโปรตุเกสลง 1 ขั้น สู่ระดับ A+ จาก AA และยังมีแนวโน้มเชิงลบ บอกว่า เศรษฐกิจโปรตุเกสมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะถดถอย ในขณะที่รัฐบาลกำลังประสบกับความยากลำบากในการควบคุมยอดขาดดุลงบประมาณด้วย

ดังนั้น ไม่ว่าโปรตุเกสจะต้องรับความช่วยเหลือจากส่วนกลางหรือไม่อย่างไรนั้น ก็ต้องบอกว่า ปัญหายังไม่หายไปไหน ตราบใดที่ยุโรปยังไม่สามารถแก้ที่ปัญหาต้นตอ คือการขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง ตลอดไปจนการสร้างวินัยทางการเงิน และการฟื้นฟูภาพการเงินและธนาคาร ที่จะนำไปสู่การฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาได้อีกครั้งครับ