posttoday

เซมิคอนดักเตอร์เจอปัญหาอีก รัสเซียไม่ส่งก๊าซที่ต้องใช้ให้ แต่จีนจะได้ประโยชน์

18 มิถุนายน 2565

ปัญหาซัพพลายเชนสะดุดเพราะ Covid-19 ยังไม่ทันหายดี อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ก็เจอปัญหาใหม่หลังรัสเซียจำกัดการส่งออกก๊าซหายากที่ต้องใช้

สำนักข่าว CNN รายงานว่า หลังจากประสบปัญหาซัพพลายเชนสะดุดเพราะการระบาดของ Covid-19 บรรดาผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้องเผชิญปัญหาใหม่ เพราะรัสเซีย หนึ่งในผู้ผลิตก๊าซที่ใช้สำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลกเริ่มจำกัดการส่งออกก๊าซเหล่านี้แล้ว

CNN อ้างรายงานของสำนักข่าว TASS ของรัสเซียว่า รัสเซียเริ่มจำกัดการส่งออกก๊าซเฉื่อย รวมทั้งนีออน อาร์กอน และฮีเลียมไปยัง “ประเทศที่ไม่เป็นมิตร” ตั้งแต่สิ้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ก๊าซทั้ง 3 ชนิดข้างต้นใช้ในการผลิตชิปที่เป็นส่วนประกอบในเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่สมาร์ทโฟน เครื่องซักผ้า ไปจนถึงรถยนต์ และประสบปัญหาขาดแคลนมาหลายเดือนแล้ว

ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา Bain & Company ระบุว่า ก่อนสงคราม รัสเซียและยูเครนมีส่วนแบ่งการผลิตก๊าซนีออนป้อนอุตสาหกรรมการผลิตชิปราว 30%

การจำกัดการส่งออกก๊าซของรัสเซียเกิดขึ้นหลังจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และผู้บริโภคเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤตขาดแคลนชิปครั้งรุนแรง โดยข้อมูลของ LMC Automotive ระบุว่า ปีที่แล้วผู้ผลิตรถยนต์ผลิตรถได้น้อยลง 10 ล้านคัน เนื่องจากขาดแคลนชิป แต่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

จัสติน ค็อกซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตของบริษัทที่ปรึกษายานยนต์เผยว่า “สิ่งที่พวกเราไม่ต้องการคือ ปัญหาครั้งใหม่เกี่ยวกับการจัดหาชิปซึ่งอาจกระทบหรือทำให้การฟื้นตัวชะงัก”

ค็อกซ์เผยกับ CNN Business ว่า การจำกัดการส่งออกก๊าซนีออนเป็นเรื่องน่ากังวล แต่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจสำหรับผู้ผลิตชิป เนื่องจากหลังจากรัสเซียผนวกไครเมียของยูเครนเมื่อ 8 ปีก่อน อุตสาหกรรมได้เตรียมพร้อมสำหรับซัพพลายที่อาจสะดุดไว้แล้ว

ก๊าซนีออนมีบทบาทสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในขั้นตอนที่เรียกว่า การพิมพ์หิน (lithography) โดยก๊าซนีออนจะควบคุมความยาวคลื่นของแสงเลเซอร์ในขณะที่มันสลักรูปแบบลงบนแผ่นชิปซิลิคอน

ก่อนสงคราม รัสเซียจะรวบรวมก๊าซนีออนดิบซึ่งเป็นผลพลอยได้จากโรงงานเหล็กกล้า แล้วส่งไปยูเครนเพื่อทำให้บริสุทธิ์ ความขัดแย้งทำให้ความสามารถในการผลิตเหล่านี้ได้รับผลกระทบ การสู้รบอย่างดุเดือดในเมืองมารีอูปอลและโอเดสซาซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญได้ทำลายโรงงานอุตสาหกรรมและทำให้การส่งออกสินค้าจากภูมิภาคนั้นยากขึ้น

ทว่าบรรดาผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ได้ลดการพึ่งพาก๊าซจากภูมิภาคนี้ลงนับตั้งแต่รัสเซียบุกไครเมียในปี 2014

ปีเตอร์ แฮนแบร์รี จาก Bain & Company เผยกับ CNN Business ว่า การพึ่งพาก๊าซนีออนจากรัสเซียและยูเครนของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เคย “สูงเป็นประวัติการณ์” ที่ 80-90% แต่นับตั้งแต่ปี 2014 ผู้ผลิตชิปลดการพึ่งพาลงเหลือเพียงไม่เกิน 1 ใน 3 “อุตสาหกรรมยอมรับว่ามีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ [ภูมิภาค] และเริ่มมองหาแหล่งใหม่ พัฒนาประเทศใหม่ๆ และเจาะจงซัพพลายเออร์”

ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะทราบว่าการจำกัดการส่งออกของรัสเซียจะกระทบกับผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างไร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ผลิตชิปจะสามารถทดแทนอุปทานที่สูญเสียไปจากภูมิภาคนี้ได้ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับก๊าซที่จำเป็นเหล่านี้

บริษัทวิจัยตลาด Techcet ประเมินว่า ราคาตามสัญญาซื้อขายก๊าซนีออนเพิ่มขึ้น 5 เท่านับตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครน และจะยังสูงในระยะเวลาอันใกล้นี้

โจนาส ซันด์ควิสต์ นักวิเคราะห์เทคโนโลยีอาวุโสของ Techcet เผยว่า “(การจำกัดการส่งออกของรัสเซีย) จะส่งผลกระทบกับการทำสัญญาใหม่แน่นอน”

ซันด์ควิสต์ มองว่า เกาหลีใต้ซึ่งเป็นที่ตั้งของผู้ผลิตชิปรายใหญ่อย่าง Samsung จะได้รับแรงกระแทกก่อนเพื่อน เนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซเฉื่อยและไม่มีบริษัทก๊าซขนาดใหญ่ที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิต ไม่เหมือนกับสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป

Micron Technology หนึ่งในผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกเผยกับ CNN Business ว่า บริษัทพบว่าราคาก๊าซเฉื่อยเพิ่มขึ้น แต่ทางบริษัทมีก๊าซที่เพียงพอสำหรับใช้อีกหลายเดือน และคิดว่าไม่ต้องตัดลดการผลิตในระยะสั้น

จีนจะได้ประโยชน์

หลายประเทศกำลังแข่งขันกันเพิ่มกำลังการผลิตชิปหลังจากต้องเผชิญภาวะซัพพลายเชนทั่วโลกผันผวนอย่างรุนแรงมากว่า 2 ปี Intel เสนอช่วยรัฐบาลสหรัฐและเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ประกาศจะลงทุน 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างโรงงาน 2 แห่ง ส่วนปีที่แล้ว Samsung รับปากจะสร้างโรงงานมูลค่า 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐในรัฐเทกซัส

เมื่อมีการผลิตชิปมากขึ้นก็หมายความว่าความต้องการก๊าซเฉื่อยจะสูงขึ้นตามมา และเมื่อรัสเซียจะจำกัดการส่งออก ประโยชน์อาจไปตกอยู่ที่จีน ซันด์ควิสต์เผยว่า จีนมี “กำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุด ใหม่ที่สุด”

นับตั้งแต่ปี 2015 จีนก็ทุ่มลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของตัวเอง รวมทั้งลงทุนในอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการแยกก๊าซเฉื่อยออกจากผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมอื่น ขณะนี้จีนคือผู้ส่งออกก๊าซเหล่านี้เพียงรายเดียวและประกาศว่าจะพึ่งพาตัวเองให้ได้

ซันด์ควิสต์เผยว่า ความต้องการก๊าซเฉื่อยของทั่วโลกจะไปกระจุกอยู่ที่จีน และจีนจะได้ราคาดี

REUTERS/Kim Kyung-Hoon/File Photo