posttoday

ฮ่องกงครองแชมป์เมืองค่าครองชีพแพงสุดในโลก

15 มิถุนายน 2565

หลายเมืองในเอเชียติดอันดับท็อป 10 เมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกสำหรับชาวต่างชาติ

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับโลก ECA International เผยรายงานการจัดอันดับเมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกประจำปี 2022 พบว่า ฮ่องกงครองแชมป์เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ตามด้วยนิวยอร์กของสหรัฐ และเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์

ราคาสินค้าที่สูงขึ้นและค่าเงินที่แข็งค่าตลอดปีที่ผ่านมาส่งผลให้เมืองต่างๆ ในเอเชียพากันติดอันดับท็อปๆ ของตาราง ส่วนลอนดอนและโตเกียวอยู่ในอันดับท็อป 5

ค่าเช่าที่สูงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลอนดอนและนิวยอร์กติดอันดับท็อป 5 โดยค่าเช่าในทั้งสองเมืองเพิ่มขึ้น 20% และ 12% ตามลำดับ

ECA ระบุว่า เมืองอื่นๆ อาทิ สิงคโปร์ ติดอันดับ 13 โดยแม้ว่าค่าเช่า น้ำมันเชื้อเพลิง และสาธารณูปโภคจะสูงขึ้น แต่สิงคโปร์ได้อานิสงส์จากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคในช่วงหลังของการสำรวจข้อมูล

เมืองต่างๆ ในญี่ปุ่นทั้งหมดอันดับลดลง เนื่องจากเงินเยนอ่อนค่า สวนทางกับเมืองในจีนที่อันดับเลื่อนขึ้น โดยเซี่ยงไฮ้และกวางโจวอยู่ในอันดับ 8 และ 9 ตามลำดับ เพราะเงินหยวนแข็งค่า

หากเทียบกันแล้ว เอเชียเป็นทวีปที่ค่าครองชีพแพงที่สุด เพราะมีถึง 5 เมือง ที่ติดกลุ่มท็อป 10 ได้แก่ ฮ่องกง โตเกียว (อันดับ 5) เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และโซล (อันดับ 10)

ลี เควน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ ECA เผยว่า “แม้ว่าฮ่องกงจะได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ และทั่วโลกในปีที่ผ่านมา แต่ฮ่องกงก็ยังเป็นสถานที่ที่แพงที่สุดในโลก เนื่องจากความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ฮ่องกงที่ตรึงราคาไว้กับดอลลาร์สหรัฐในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ฮ่องกงรั้งตำแหน่งสถานที่ที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก ในขณะที่สกุลเงินอื่นๆ อ่อนค่าลง”

ขณะที่ประเทศในอาเซียน อาทิ มาเลเซีย ไทย ลาว และเมียนมา อันดับลดลง ซึ่งนักวิเคราะห์อธิบายว่า “ช่องว่างค่าครองชีพระหว่างสิงคโปร์กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงกว้างขึ้น”

สำหรับประเทศไทยและมาเลเซีย นักวิเคราะห์พบว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในกัวลาลัมเปอร์และกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 49% และ 33% ตามลำดับ แต่ค่าเช่าลดลง

นักวิเคราะห์อธิบายว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจมีส่วนสัมพันธ์กันดังกล่าว "ผลักดัน" อัตราเงินเฟ้อโดยรวมให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมืองอื่นๆ อีกหลายแห่ง ด้วยเหตุนี้อันดับของทั้งสองประเทศจึงลดลง

ส่วนลาวและเมียนมาอันดับลดลงเพราะอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเกือบ 10% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา บวกกับค่าเงินที่อ่อนลงอย่างมาก

REUTERS/Tyrone Siu/File Photo