posttoday

จีนวิจัยเอไอช่วยทำนายวิถีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก

02 มิถุนายน 2565

เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจจับขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกได้

South China Morning รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนการเตือนภัยล่วงหน้ากองทัพอากาศของจีนพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) คาดคะเนวิถีของขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก หรือขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่กำลังพุ่งเข้าสู่เป้าหมายที่ความเร็วที่เร็วกว่าความเร็วของเสียง 5 เท่า

นักวิจัยระบุว่า ระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ขับเคลื่อนโดย AI สามารถประมาณการวิถีการสังหารที่เป็นไปได้ของขีปนาวุธที่กำลังมุ่งหน้าสู่เป้าหมาย และหาทางตอบโต้ภายในเวลา 3 นาที

จางจุนเปียว นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากโรงเรียนการเตือนภัยล่วงหน้ากองทัพอากาศในเมืองอู่ฮั่นของจีนเผยว่า “มหาอำนาจทางการทหารของโลกกำลังแข่งขันกันพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกอย่างดุดัน ทำให้เกิดความท้าทายครั้งใหม่ที่รุนแรงต่อความปลอดภัยทางอากาศและในอวกาศ”

“การทำนายเส้นทางมีความสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้กับการประเมินเจตนาและการสกัดกั้นการป้องกันการบินและอวกาศ” จางระบุในวารสาร Journal Of Astronautics ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา

ขีปนาวุธร่อนไฮเปอร์โซนิกถูกปล่อยจากอากาศและสามารถเดินทางเข้าและออกจากชั้นบรรยากาศได้ราวกับก้อนหินกระโดดอยู่บนผืนน้ำและเบี่ยงไปทางซ้ายหรือขวา ทำให้ยากต่อการตรวจจับหรือสกัดกั้น

ด้วยความเร็วระดับ 5 มัคทำให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศแทบจะไม่มีเวลาตอบโต้ และขณะนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่มีอยู่สามารถหยุดยั้งขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกได้เลย

ทว่าจางเผยว่า AI สามารถทำได้ฝ่ายที่ต้องตั้งรับไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับน้ำหนัก ขนาด รูปร่าง ระบบควบคุมกลศาสตร์ หรือจุดประสงค์ของอาวุธของศัตรู แต่ AI สามารถคาดเดาได้ค่อนข้างแม่นยำด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางของขีปนาวุธที่บันทึกไว้

ทีมนักวิจัยบอกว่า ขีปนาวุธไม่ว่าจะล้ำสมัยหรือเร็วเพียงใดก็ต้องเป็นไปตามกฎเกี่ยวกับฟิสิกส์ และทุกๆ การเคลื่อนไหวของขีปนาวุธจะบอกใบ้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการออกแบบ ศักยภาพ และเป้าหมาย

ดังนั้นระบบอัลกอริทึมจึงสามารถเรียนรู้จากข้อมูลที่รวบรวมได้ในช่วงเริ่มต้นของการบินที่มีความเร็วเหนือเสียง และใช้ความรู้ที่ได้รับใหม่มาคำนวณเส้นทางที่เป็นไปได้มากที่สุดในระยะสุดท้ายของการบิน

อย่างไรก็ดี จางยอมรับว่าการเปลี่ยนทฤษฎีดังกล่าวนี้มาสู่การปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะข้อมูลดิบที่ระบบเตือนภัยล่วงหน้าเก็บไว้มีสิ่งรบกวนที่อาจทำให้ AI สับสน และข้อมูลที่มากเกินไปอาจท่วมท้นคอมพิวเตอร์ได้

เพื่อแก้ปัญหานี้ทางทีมจึงพัฒนาอัลกอริทึมที่เลียนแบบโครงข่ายประสาทของมนุษย์ที่สามารถดึงสิ่งรบกวนออกจากสัญญาณที่ตรวจจับ และเพื่อประหยัดทรัพยากรการคำนวณ อัลกอริทึมยังเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์โดยเน้นเฉพาะข้อมูลล่าสุดที่สำคัญที่สุดเท่านั้น

งานวิจัยระบุว่า ระบบใหม่นี้สามารถทำงานบนแล็บท็อปและให้ผลลัพธ์ภายในเวลาเพียง 15 วินาที ขณะที่การทดสอบพบว่าระบบนี้ยังคงมีประสิทธิภาพกับอาวุธหลายชนิดที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วไม่เกิน 12 มัค

REUTERS/Maxim Shemetov