posttoday

จับตาสงครามชิป สหรัฐจับมือไต้หวัน-เกาหลี โดดเดี่ยวจีน

27 พฤษภาคม 2565

ขณะนี้การขาดแคลนชิปถูกมองว่าร้ายแรงถึงขั้นเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศไปแล้ว

1.การขาดแคลนชิปอันเนื่องมาจากซัพพลายเชนสะดุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของ Covid-19 เมื่อกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีท่าที่ว่าจะคลี่คลายแม้ผู้ผลิตจะพยายามเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มสูงแล้วก็ตาม ทำให้หลายประเทศเริ่มแข็งขันแย่งชิงความเป็นหนึ่ง

2.เซมิคอนดักเตอร์เป็นชิ้นส่วนในอุปกรณ์สำคัญในชีวิตประจำวันอย่างสมาร์ทโฟน รถยนต์ ไปจนถึงสำคัญกับกองทัพเพราะเป็นส่วนประกอบของอาวุธยุทโธปกรณ์ล้ำสมัยหลายชิ้น หลายประเทศจึงเริ่มมองว่าการขาดแคลนชิปเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศไปแล้ว

3.ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจึงทุ่มงบประมาณถึง 6,800 ล้านเหรียญสหรัฐ อียูประกาศว่าจะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 2 เท่าให้ได้ภายในปี 2030 เช่นเดียวกับสหรัฐที่ต้องการบรรลุเป้าหมายการพึ่งพาตนเองในการผลิตชิป

4.สหรัฐสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศผ่านการออกกฎหมาย รวมทั้งกฎหมายการสร้างแรงจูงใจที่เป็นประโยชน์ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์สำหรับอเมริกา (CHIPS for America Act) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนด้านการผลิต วิจัยและพัฒนา เซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐ ทว่าจนถึงตอนนี้แม้ว่าร่างกฎหมายจะผ่านตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่สภาคองเกรสยังไม่ยอมเห็นด้วย

5.ล่าสุดในการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมที่เมืองดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์ จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายนี้ โดยเผยกับ CNBC ว่า “มันเป็นปัญหาใหญ่ด้านความมั่นคงของชาติ และเราจำเป็นต้องผลิตชิปในสหรัฐ ไม่ใช่การแสวงหาสินค้าจากประเทศพันธมิตร”

6.ข้อมูลของสำนักงานวิจัยแห่งรัฐสภาสหรัฐระบุว่า ส่วนแบ่งการตลาดการผลิตชิปของสหรัฐลดลงจากราว 40% ในปี 1990 เหลือราว 12% เมื่อปี 2020 ซึ่ง เกรกอรี อาร์คิวรี ผู้ช่วยวิจัยจากศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (CSIS) อธิบายไว้ในบล็อกเมื่อเดือน ม.ค.ว่า การผลิตชิปที่มีต้นทุนสูงและมีความซับซ้อนทำให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐหลายแห่งเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปเป็น “fabless” คือ บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ แต่ไม่ได้ผลิตเอง ใช้การว่าจ้างบริษัทอื่นที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและมีเทคโนโลยีขั้นสูงกว่าในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งผลิตชิปเกือบ 80% ของโลกให้ผลิตให้แทน

7.ขณะนี้ไต้หวันคือแหล่งนำเข้าชิปที่สำคัญของสหรัฐ เฉพาะบริษัท TSMC แห่งเดียวครองสัดส่วนเกือบ 90% ของการผลิตชิปให้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐอย่าง Apple, Amazon และ Google รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐเผยอีกว่า สหรัฐซื้อชิปที่ล้ำสมัยที่สุดจากไต้หวันถึง 70% โดยชิปเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในอุปกรณ์ทางการทหาร อาทิ ระบบยิงขีปนาวุธ Javelin ที่ใช้ชิปนี้ถึง 250 ชิ้น และย้ำว่าการซื้อชิปเหล่านี้จากไต้หวันทั้งหมดไม่ปลอดภัย สหรัฐต้องผลิตเอง

8.ปัจจุบันหลายบริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมใช้บริการโรงงานผลิตชิปในแถบเอเชียตะวันออก รวมทั้ง Apple, NVIDIA, AMD, Qualcomm และ Broadcom โดยสานสัมพันธ์มายาวนานกับบริษัทในเอเชีย อาทิ TSMC ของไต้หวันและ Samsung ของเกาหลีใต้

9.ซัพพลายเออร์เซมิคอนดักเตอร์ในเอเชียเหล่านี้ตอบรับคำขอของสหรัฐให้นำการผลิตเข้าไปในสหรัฐ โดย TSMC ลงทุน 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในรัฐแอริโซนาซึ่งจะใช้เทคโนโลยีการผลิตชิปแบบ 5 นาโนเมตร ส่วน Samsung มีแผนลงทุนสร้างโรงงาน 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐในเทกซัส

จับตาสงครามชิป สหรัฐจับมือไต้หวัน-เกาหลี โดดเดี่ยวจีน

10.มีรายงานว่าการเดินทางเยือนเกาหลีใต้ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เมื่อเร็วๆ นี้ มีการไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของ Samsung ที่เมืองพยองแท็ก โดย Samsung โชว์เทคโนโลยีชิปขนาด 3 นาโนเมตร เจนใหม่ของบริษัทให้ไบเดนดูด้วย

11.ขณะที่ในไต้หวัน สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ทางการปราบบริษัทจีนที่เข้ามาดึงตัว วิศวกรชิปและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอย่างผิดกฎหมายในไต้หวันอย่างหนัก โดยเพิ่งบุกค้นบริษัทจีน 10 แห่งทั่วประเทศในสัปดาห์นี้รวมทั้งในไทเปและ ซินจู๋ เพื่อปกป้องความเป็นมหาอำนาจด้านชิปของประเทศ โดยแถลงการณ์ของทางการระบุว่า การเข้ามาดึงตัวคนเก่งของจีนในไต้หวันส่งผลกระทบอย่างหนักต่อความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกและเป็นภัยต่อความมั่นคงของไต้หวัน

12.นอกจากนี้ไต้หวันยังมีกฎหมายห้ามไม่ให้ชาวจีนลงทุนในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน รวมถึงการออกแบบชิป ส่วนบางธุรกิจ เช่น การประกอบชิป จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบจากทางการก่อน ทำให้เป็นการยากที่บริษัทชิปสัญชาติจีนจะเข้าไปดำเนินการในไต้หวันอย่างถูกกฎหมาย

13.ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังเจอก้างชิ้นใหญ่ในอังกฤษ เมื่อดีลเทกโอเวอร์ Newport Wafer Fab บริษัทผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในอังกฤษในแง่ของปริมาณเมื่อปีที่แล้วของบริษัท Nexperia ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Wingtech บริษัทเทคโนโลยีในเซี่ยงไฮ้ที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของอยู่ส่วนหนึ่ง ส่อเค้าว่าอาจจะล่ม หลังจากรัฐบาลอังกฤษสั่งตรวจสอบด้านความมั่นคงเพื่อไม่ให้เป็นภัยต่อประเทศ

REUTERS/Ann Wang/File Photo