posttoday

ฝีดาษลิงกำลังลามหนัก แต่ไม่ต้องกลัวลิงจนเกินเหตุ

25 พฤษภาคม 2565

ฝีดาษลิงลามแล้วเกือบ 20 ประเทศ พบผู้ติดเชื้อกว่า 100 รายทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ติดจากลิง

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าขณะนี้โรคฝีดาษลิงได้แพร่ระบาดไปแล้ว 18 ประเทศทั่วโลก รวมผู้ป่วยยืนยันและผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อมากกว่า 100 ราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป ท่ามกลางความตื่นกลัวจากประชาชนในหลายประเทศ ซึ่งโรคดังกล่าวที่พบครั้งแรกในลิงแพร่กระจายผ่านการสัมผัสใกล้ชิด โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางก่อนที่จะแพร่ไปยังที่อื่นๆ

แม้จะขึ้นชื่อว่าโรคฝีดาษลิง (monkeypox) แต่ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาอธิบายผ่านเฟซบุ๊กว่า "ผู้ป่วยในมนุษย์ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดไม่ได้ติดจากลิง การเรียกฝีดาษลิง จึงไม่ยุติธรรมสำหรับลิง เพราะคนเราจะรังเกียจลิง ลิงที่อยู่ตามวัด ในบ้านเรามีมาก จะขาดแคลนอาหาร เป็นที่เดือดร้อนของชาวลิงอย่างแน่นอน"

หมอยงอธิบายเพิ่มเติมว่า มีหลักฐานการติดต่อจากสัตว์ตระกูลฟันแทะ จำพวกหนู กระรอก เช่นหนูแกมเบีย (Giant Gambian rat) ที่นำเข้าไปในอเมริกา และมีการติดต่อไปสู่หนูแพรี่ด็อก และคนติดมาอีกทีหนึ่ง

เกิดจากอะไร?

ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงเกิดจากไวรัส Othopoxvirus ตระกูลเดียวกับฝีดาษ (smallpox) หรือไข้ทรพิษ แต่รุนแรงน้อยกว่าและมีโอกาสในการติดเชื้อต่ำกว่า ส่วนใหญ่ระบาดในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตกใกล้กับป่าฝนเขตร้อน โดยฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์แอฟริกากลาง และสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกซึ่งรุนแรงน้อยกว่า

ฝีดาษลิงพบครั้งแรกเมื่อปี 1958 ในลิงที่นำมาศึกษาในห้องวิจัย และพบการติดเชื้อในมนุษย์ครั้งแรกเมื่อปี 1970 ในคองโก นับตั้งแต่นั้นก็เกิดขึ้นนานๆ ครั้งในประเทศแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก จากนั้นในปี 2003 เกิดการระบาดในสหรัฐ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฝีดาษลิงระบาดนอกแอฟริกา โดยผู้ป่วยในสหรัฐได้รับเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับแพรีด็อก

แพร่ไปถึงไหนแล้ว?

โดยการติดเชื้อสามารถติดต่อได้ทั้งจากสัตว์สู่คน และคนสู่คน ผ่านการสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสผิวหนังโดยตรง หรือสัมผัสวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส และสารคัดหลั่ง ตลอดจนทางเดินหายใจ จมูก ปาก และตา รวมถึงติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และการนำซากสัตว์ป่วยมาปรุงอาหาร

ขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยยืนยันและผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อใน 18 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สโลเวเนีย สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร อิสราเอล อาร์เจนตินา แคนาดา และสหรัฐอเมริกา

วิธีป้องกันและรักษา?

ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนสำหรับโรคฝีดาษลิง แต่มีวัคซีนป้องกันฝีดาษซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝีดาษลิงได้ 85%

สำหรับในประเทศไทยได้มีการปลูกฝีให้ประชาชนทุกคนตั้งแต่แรกเกิด แต่ยกเลิกไปเมื่อปี 2517 เนื่องจากสามารถควบคุมโรคได้จนหมดไปแล้ว ต่อมาในปี 2523 องค์การอนามัยโลกประกาศว่าฝีดาษหมดไปแล้วทำให้ทั่วโลกยกเลิกการปลูกฝีตั้งแต่นั้นมา แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้สูงอายุที่เคยได้รับการปลูกฝีเมื่อหลายปีก่อนจะยังคงมีภูมิคุ้มกันโรคอยู่มากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งคาดว่าการยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้มีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันการติดเชื้อได้โดยการล้างมือสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงหรือมีอาการ หลีกเลี่ยงการนำเข้าสัตว์ป่าหรือรับประทานอาหารจากสัตว์ป่า และแยกกักตัวสำหรับผู้ที่มีอาการต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ

Photo by REUTERS/Samrang Pring