posttoday

สูงวัยแบบไม่พอกิน เมื่อประเทศไทยมีสวัสดิการเกษียณต่ำที่สุดในโลก

24 พฤษภาคม 2565

ผู้สูงวัยของไทยเสี่ยงไม่มีเงินใช้ตอนแก่เพราะเงินบำนาญมีเพียงน้อยนิด

ประเทศไทยมีประชากรวัยเกษียณอายุนับสิบล้านคน และธนาคารโลกระบุว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคน ภายในปี 2040 ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งหมด แต่ข้อมูลล่าสุดกลับพบว่าประเทศไทยมีระบบบำนาญเกษียณอายุอยู่ในกลุ่มแย่ที่สุดในโลก

การจัดอันดับที่ว่านี้ใช้ข้อมูลจากดัชนีบำนาญโลกประจำปี 2021 (Mercer CFA Institute Global Pension Index) ของบริษัท Mercer และ สถาบัน CFA ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินระดับโลก ที่ศึกษาระบบบำนาญใน 43 ประเทศทั่วโลก โดยประเมินจากปัจจัยหลักๆ 3 ปัจจัยคือ ความเพียงพอ ความยั่งยืน และการตรวจสอบได้

พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 รั้งท้ายตาราง โดยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม D (มีคุณลักษณะบางอย่างที่พึงประสงค์ แต่ก็มีจุดอ่อนและ/หรือการละเว้นที่สำคัญที่ต้องแก้ไข) เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ ด้วยคะแนนรวม 40.6 โดยไทยมีคะแนนค่อนข้างต่ำในด้านความเพียงพอ

นอกจากนี้ยังพบว่าคะแนนของไทยลดลงจากปี 2020 ที่อยู่ที่ 40.8 คะแนน โดยมีสาเหตุหลักมาจากอัตราการออมภาคครัวเรือนที่ลดลง

ขณะที่ประเทศที่มีระบบบำนาญดีที่สุดในโลกคือ ไอซ์แลนด์ ซึ่งรายงานระบุว่ามีบำเหน็จบำนาญรัฐที่ค่อนข้างมั่งคั่ง ให้ผลตอบแทนดี และระบบการออมภาคเอกชนที่ได้รับการควบคุมและกำกับดูแลอย่างดีซึ่งครอบคลุมพนักงานทุกคนที่จ่ายเงินเข้ากองทุนในส่วนนี้สูง

ระบบรายได้หลังเกษียณของไอซ์แลนด์ประกอบด้วยเงินบำนาญของรัฐที่มีองค์ประกอบสองส่วน (ซึ่งทั้งสองส่วนขึ้นอยู่กับรายได้ตามกฎที่ต่างกัน) คือ 1.โครงการบำเหน็จบำนาญภาคบังคับที่ได้รับเงินสมทบจากทั้งนายจ้างและลูกจ้าง 2.การจ่ายเงินโดยสมัครใจในผลิตภัณฑ์บำเหน็จบำนาญที่รัฐบาลอนุมัติ

คนวัยทำงานของไอซ์แลนด์รวมทั้งผู้รับเหมาและพนักงานพาร์ทไทม์ต้องจ่ายเงินอย่างน้อย 12% ของเงินเดือนเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญ โดยสัญญาจ้างงานส่วนใหญ่จะบังคับให้ลูกจ้างจ่ายเงิน 15.5% ของเงินเดือน ส่วนนายจ้างจ่ายสมทบอีก 11.5%

เมื่อปลายปีที่แล้วสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า กองทุนบำเหน็จบำนาญของไอซ์แลนด์ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม โดยทรัพย์สินของกองทุนงอกเงยขึ้นเป็น 2 เท่าของขนาดเศรษฐกิจของประเทศมาอยู่ที่ 6.4 ล้านล้านโครเนอร์ หรือราว 1.67 ล้านล้านบาท จากที่เคยขาดทุนกว่า 20% จากการล้มละลายของลีแมนบราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐเมื่อปี 2008

สูงวัยแบบไม่พอกิน เมื่อประเทศไทยมีสวัสดิการเกษียณต่ำที่สุดในโลก

รองจากไอซ์แลนด์คือ เนเธอร์แลนด์

เงินบำนาญของเนเธอร์แลนด์มี 3 รูปแบบ คือ 1.ระบบบำนาญแห่งรัฐ (AOW) 2.ระบบบำนาญจากอาชีพหรือบริษัท ที่นายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินมทบร่วมกัน 3.ระบบบำนาญส่วนบุคคล

สำหรับระบบบำนาญแห่งรัฐนั้น คนวัยทำงานชาวดัตช์ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน 17.9% ของเงินเดือน

ปัจจุบันอายุเกษียณของชาวดัชต์อยู่ที่ 65 ปี ถึงจะได้รับเงินบำนาญ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 67 ปี ในปี 2024 เงื่อนไขที่จะได้รับเงินบำนาญเต็ม 100% คือต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วเป็นเวลา 50 ปี (แต่ละปีที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์เท่ากับเป็นการสะสมเงิน 2% เข้ากองทุนบำนาญของรัฐ แต่หากจ่ายไม่ถึง 50 ปีเงินบำนาญจะคำนวณตามจำนวนปีที่จ่ายเงินสมทบ)

ชาวดัตช์วัยเกษียณที่ยังโสดที่มีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวนจะได้รับเงินเดือนละ 1,270.67 ยูโร หรือราว 46,513 บาท (70% ของค่าจ้างขั้นต่ำสุทธิ) ส่วนผู้ที่สมรสแล้วหรือคู่ที่อยู่กินร่วมกันโดยไม่ได้สมรสจะได้รับเดือนละ 870.03 ยูโร หรือราว 31,855 บาท (50% ของค่าจ้างขั้นต่ำสุทธิ)

นอกจากนี้รัฐยังมีเงินสำหรับการท่องเที่ยวในวันหยุดยาวอีกรวมกันเดือนละ 69.19 ยูโร หรือราว 2,533 บาทสำหรับคนโสด และ 49.42 ยูโร หรือราว 1,809 บาทสำหรับคนมีคู่

อันดับที่ 3 คือเดนมาร์ก

ระบบบำนาญของเดนมาร์กประกอบด้วย บำนาญจากภาครัฐ (Folkepension) ระบบบำนาญเสริม ระบบเงินสะสมเต็มจำนวน กองทุนที่กําหนดอัตราการสมทบของผู้มีสิทธิรับบำนาญเป็นสัดส่วนกับรายได้หรืออัตราคงที่ และระบบบำนาญจากอาชีพภาคบังคับ

อายุเกษียณของเดนมาร์กจะขึ้นอยู่กับวันเดือนปีเกิดโดยอยู่ระหว่าง 65-69 ปี เงินบำนาญพื้นฐานของเดนมาร์กจะเท่ากันทั้งคนโสดและคนที่แต่งงานแล้ว ส่วนระบบบำนาญเสริมจะขึ้นอยู่กับสถานะว่าโสดหรือแต่งงานแล้วหรืออยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน

คนโสดจะได้รับบำนาญพื้นฐานเดือนละ 6,547 โครนเดนมาร์ก หรือราว 32,178 บาท บำนาญเสริมเดือนละ 7,472 โครนเดนมาร์ก หรือราว 36,690 บาท (รวม 14,019 โครนเดนมาร์ก หรือราว 68,897 บาท)

ส่วนคนที่แต่งงานแล้วหรือที่อาศัยอยู่ร่วมกันได้รับบำนาญพื้นฐานเดือนละ 6,547 โครนเดนมาร์ก หรือราว 32,178 บาท บำนาญเสริมเดือนละ 3,800 โครนเดนมาร์ก หรือราว 18,659 บาท (รวม 10,347 โครนเดนมาร์ก หรือราว 50,858 บาท)

อย่างไรก็ดี สาเหตุที่คนวัยเกษียณเดนมาร์กได้รับเงินบำเหน็จบำนาญค่อนข้างสูงส่วนหนึ่งมาจากการเก็บภาษีในอัตราสูง (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดอยู่ที่ 55.90%)

ขณะที่ผู้สูงอายุของประเทศไทย รัฐบาลไทยจ่ายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุให้กับคนอายุ 60-69 ปี เดือนละ 600 บาท อายุ 70-79 ปี เดือนละ 700 บาท อายุ 80-89 ปี เดือนละ 800 บาท อายุ 90 ปีขึ้นไป เดือนละ 1,000 บาท

ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ภาพ: บางกอกโพสต์