ถึงเวลาจีนประเมินตัวเอง จะไหวไหมถ้าต้องรบกับสหรัฐ
บทวิเคราะห์จากมุมมองของจีน ในช่วงที่สหรัฐและพันธมิตรกำลัง "ปั่น" เรื่องจีนจะบุกไต้หวัน
ในขณะที่สหรัฐและพันธมิตรกำลังประโคมให้โลกเชื่อว่าจีนจะต้องทำอะไรสักอย่างกับไต้หวันแน่ๆ แต่ในจีนนั้นแทบไม่พูดถึงเรื่องนี้กันเลย
มันอาจเป็นการซ่อนกระบี่ในฝัก เป็นการงำประกาย หรือกลยุทธ์ปิดฟ้ามข้ามสมุทรอะไรก็แล้วแต่ แต่หากไม่มีหลักฐานบ่างชัดก็ยากจะฟันธงว่าจีนคิดจะทำมิดีมิร้ายกับไต้หวันจริง
แต่สหรัฐกับญี่ปุ่นนั้นมีเจตนาชัดเจนที่จะปั่นเรื่องจีนจะบุกไต้หวัน ญี่ปุ่นนั้นทั้งให้อดีตนายกฯ (อาเบะ) เปรยออกมากับปาก จัดที่จัดทางให้ไบเดินมาบอกว่าถ้าจีนบุกไต้หวันสหรัฐไม่นิ่งเฉยแน่อ และยังจัดประชุม QUAD (กลุ่มต้านจีน) กันเลยด้วยซ้ำ
นี่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น หากไล่กลับไปในช่วงสองปีนี้ ญี่ปุ่นกับสหรัฐปั่นเรื่องจีนบุกไต้หวันมากกว่าใครในโลก
อาจจะมากกว่าไต้หวันเสียด้วยซ้ำ!
แน่นอนว่าคนที่มีสิทธิ์กังวลที่สุดคือไต้หวัน เพราะในทางพฤตินัยแล้วทั้งไต้หวันและแผ่นดินใหญ่ "ยังอยู่ในสถานะสงครามกลางเมือง" ที่ลากยาวตั้งแต่ปี 1945 บัดนี้ก็ยังไม่ยุติเพราะไม่มีการลงนามอะไรทั้งสิ้นแม้แต่สัญญาหยุดยิง
ต่างจากสงครามเกาหลีที่มีสัญญาหยุดยิง แต่มันก็ยังไม่ถือว่ายุติเช่นกัน
ถามว่าหากมันเป็นสงครามกลางเมือง แล้วสหรัฐไปยุ่งอะไรด้วย?
ตอบว่ายุ่งได้ "ในวงจำกัด" เพราะสหรัฐมีพันธสัญญากับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ซึ่งโดยเนื้อหาของพันธะนี้ไมไ่ด้ยืนยันว่าสหรัฐจะเข้าไปช่วยไต้หวันหากจีนบุกโจมตี เพียงแต่จะช่วยเรื่องยุทโธปกรณ์เป็นหลัก “เพื่อรักษาความสามารถของสหรัฐฯ ในการต่อต้านการใช้กำลังหรือการบีบบังคับรูปแบบอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคง หรือระบบสังคมหรือเศรษฐกิจของประชาชนในไต้หวัน”
แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ช่วงสงครามเย็นสหรัฐก็ "หักหลัง" ไต้หวัน หันมารับรองจีนเป็น "จีนเดียว" และคบหาและคบค้าอย่างฉันมิตรแต่นั้นมา
ที่ทำไปนั้นเพื่อจะคานอำนาจ "รัสเซีย" เพราะจีนกับโซเวียตไม่ถูกกัน อีกทั้งในเวลานั้นจีนไม่ใช่ภัยคุกคามของสหรัฐ แต่เป็นตลาดการลงทุนที่มีศักยภาพสูง
ผ่านไป 40 ปีจีนแกร่งจนท้าทายสหรัฐขึ้นมา ยุทธศาสตร์ของสหรัฐจึงต้องเปลี่ยนไป จากที่ละทิ้งไต้หวันในด้านยุทธศาสตร์ ก็หันกลับมาทำเป็นเดือดร้อนแทน แม้แต่อาเซียนที่สหรัฐไม่เห็นหัวไปหลายปี ตอนนี้ถึงกับเชิญผู้นำไปอี๋อ๋อด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อวางหมากล้อมจีน
การเมืองโลกนั้นไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร วันไหนหมดประโยชน์แล้วยังเป็นก้างขวางคคอ วันนั้น "เพื่อน" ก็กลายเป็น "ภัย" ได้เหมือนกัน ดูอย่างจีน-รัสเซีย และสหรัฐ-จีน นับลแต่อดีตจนถึงวันนี้เป็นตัวอย่าง
สหรัฐนั้นชอบธรรมอยู่ที่จะเข้าข้างไต้หวัน แต่ญี่ปุ่นนั้นไม่มีเหตุผลอันใดที่จะยั่วยุจีนอย่งตรงไปตรงมา เว้นแต่เป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐ ซึ่งคนญี่ปุ่นไม่น้อยก็ไม่รู้สึกโอเคกันแล้ว
หากเกิดสงครามขึ้นมาจริงๆ แทนที่มันจะเป็น "สงครามกลางเมือง" ญี่ปุ่นจะพังพินาศไปด้วย
คำถามสำคญในตอนนี้จึงไม่ใช่แค่จีนจะยึดไต้หวันหรือไม่ (เพราะมันเป็นเป้าหมายของจีนที่เปิดเผยมาโดยตลอด) แต่อยู่ที่ว่าหากจีนบุกขึ้นมา มันจะลามเป็นสงครามโลกหรือไม่?
คำตอบของคำถามนี้ต้องถามกลับอีกครั้งว่า "แล้วจีนมีศักยภาพที่จะต่อกรมหาอำนาจที่คอยหนุนหลังไต้หวันหรือไม่?"
เมื่อเดือนมีนาคม ผู้เขียนได้เห็นบทความของ ศ. จินฉานหรง คณะรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมิน กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ที่มองสถานการณ์ "โลกล้อมจีน" ได้เฉียบคมคนหนึ่ง
ศ. จินฉานหรงเขียนบทความชี้ว่าตอนนี้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐเข้าสู่ภาวะ "การตั้งรับเชิงยุทธศาสตร์"
อาจารย์ใช้ว่า "ตั้งรับ" เห็นชัดว่าไม่ใช่การ "รุก"
นั่นหมายความว่าจีนยังไปรุกใครไม่ได้ การรุกไต้หวันไม่ใช่แค่รับกับไต้หวัน แต่รับกับสหรัฐและพวก QUAD ทั้งกลุ่ม ดีไม่ดีจะถูกรุมคว่ำบาตรแบบรัสเซียจากผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในยูเครนเลย
จีนจึงต้องระวังไม่ให้ "พลาด" แบบรัสเซีย เพราะที่ผ่านมา "กุนซือ" ในจีนเองมองสถานการณ์รัสเซียว่าเป็นความผิดพลาดด้วยซ้ำ
ศ. จินฉานหรงบอกว่า จีนยังห่างชั้นกับสหรัฐในแง่ความแข็งแกร่งของชาติ จีดีพีก็ยังไม่แกร่งเท่า สหรัฐยังเป็นผู้บงการตลาดทุนโลก และยังเป็นผู้ลงการสินค้าจำเป็นของโลก สินค้าตัวนี้สำคัญต่ออนาคตของโลกมากนั่นคือ "ชิป"
อาจารย์อธิบายว่า บริษัทแปรรูปชิปที่ดีที่สุดคือบริษัทในเอเชีย 2 แห่ง แห่งหนึ่งคือ TSMC ของจีน (ที่จริงคือไต้หวัน- ผู้เขียน) และอีกบริษัทหนึ่งคือ Samsung ของเกาหลีใต้ แต่ถ้าดูโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท หุ้นสามัญของ Samsung 56% เป็นหุ้นอเมริกัน และหุ้นบุริมสิทธิ 81% เป็นชาวอเมริกัน
ดังนั้นทีมผู้บริหารจึงเป็นคนเกาหลี สำนักงานใหญ่อยู่ในเกาหลี และเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคเป็นคนเกาหลีทั้งหมด แต่ส่วนทุนเป็นชาวอเมริกัน และ TSMC ก็คล้ายคลึงกัน
ศ. จินฉานหรง บอกว่า "ในสาขาที่สำคัญเหล่านี้ องค์กรหลักหลักถูกควบคุมโดยสหรัฐอเมริกา ทำไมถึงถูกควบคุม? เพราะทุนแข็งแกร่ง ทำไมทุนถึงแข็งแกร่ง? เพราะเป็นเศรษฐีแก่และรวยที่สุดในหมู่บ้าน สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่มีจีดีพีในปี พ.ศ. 2437 ดังนั้นจึงเป็นเศรษฐีอาวุโสในหมู่บ้าน ประเทศอื่นๆ ล้วนแต่เพิ่งตั้งไข่ จะเรียกว่าเป็นเด็กก็ยังไม่ได้ จะเอาเด็กไปเทียบกับเจ้ามังกรหรือหรือ? เทียบกับเศรษฐีอาวุโสแล้ว เด็กทารกยังเทียบไม่ได้เลย"
ผู้เขียนขอพูดง่ายๆ คือแม้จีนจะร่ำรวยแค่ไหน ก็ยังเทียบไม่ได้กับรากฐานความมั่งคั่งของสหรัฐ รากฐานทุนเหล่านี้ทำให้สหรัฐทำ "สงครามยืดเยื้อ" ได้ จีนก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่มันจะเป็นสงครามกองโจรยืดเยื้อเหมือนสมัยเหมาเจ๋อตง นั่นคือรบไร้ทุนและต้องหลบๆ ซ่อนๆ
ศ. จินฉานหรงยังชี้ว่าการทหารของสหรัฐยังแกร่ง การเงินยิ่งเป็นผู้ครอบงำโลก ยิ่งไม่ต้องพูดถึงระบบพันธมิตรของสหรัฐ "บอกได้เลยว่าทรงพลังยิ่งนัก" ขณะที่ "จีนเป็นประเทศใหญ่เพียงลำพัง"
ศ. จินฉานหรงสรุปว่า "ประการที่สองคือสถานการณ์ สถานการณ์ยังคงเป็นสหรัฐที่กำลังโจมตี และจีนกำลังปกป้อง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนเล่นได้ดี ตั้งรับได้ดี แต่ก็ยังถือว่าตั้งรับอยู่"
"ดังนั้น ข้อสรุปทั่วไปคือเรายังอยู่ในขั้นตอนของการตั้งรับเชิงยุทธศาสตร์ ผมคิดว่าความมุ่งมั่นนี้ยังมีความสำคัญมาก เราต้องยึดมั่นกับมัน มิฉะนั้น หากเราพูดเกินจริงไปในแง่อำนาจของเราและบอกว่าเราเข้าสู่สภาวะเท่าเทียมเชิงยุทธศาสตร์เราอาจท้าทายซึ่งกันและกัน และถือไพ่ไม่ถูกใบ"
"เท่าเทียมเชิงยุทธศาสตร์" (จ้านเลวี่ย เซียงฉือ) เป็นประเด็นดีเบตในจีน นั่นคือการมองว่าตอนนี้จีนกับสหรัฐเท่ากันแล้ว เข้าสู่ภาวะทางตันที่ทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันได้สมน้ำสมเนื้อ ซึ่ง ศ. จินฉานหรงบอกว่ามันไม่ใช่แบบนั้น จีนยังเทียบสหรัฐไม่ได้ในทุกรณี
และควรตั้งรับเท่านั้น อย่าพลาดไปจากนี้
ป.ล. (1)
ศ. จินฉานหรง ไม่ได้ประเมินประเทศตัวเองต่ำไป แต่เป็นการประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริงมากกว่า ก่อนหน้านี้ ในปี 2019 อาจารย์เคยกล่าวว่าจีนมีความก้าวหน้าอย่างมากในแง่การพัฒนาอาวุธโดยเฉพาะอาวุธความเร็วเหนือเสียงและขีปนาวุธที่โจมตีเป้าหมายเคลื่อนที่ และชี้ว่าจุดแข็งของจีนคือสามารถผลิตอาวุธจำนวนมากในราคาที่เหมาะสม หลายๆ อย่างจะไร้ประโยชน์หากไม่สามารถผลิตได้ในระดับ "แมส" ซึ่งจีนทำสำเร็จแล้ว
พร้อมกับชี้ว่า อัตราการชนะของฝ่ายตั้งรับนั้นสูงกว่าของฝ่ายโจมตีมาก
ศ. จินฉานหรงประเมินว่า ในเอเชียตะวันออกนั้น ฐานทัพทหารสหรัฐทั้งหมดโดยพื้นฐานแล้วไม่ใช่ภัยคุกคามใหญ่ในตอนนี้ หากเกิดสงครามฐานทัพเหล่าจะถูกทำลายย่อยยับในหนึ่งชั่วโมงหลังสงคราม ส่วนอัตราการเอาตัวรอดของเรือบรรทุกเครื่องบิน (ซึ่งเป็นเขี้ยวเล็บสำคัญของกองเรืออเมริกัน) ก็ต่ำมากเช่นกัน หากเจอกับขีปนาวุธของจีน
ในปีนั้นสงครามการค้าเริ่มต้นขึ้น ศ. จินฉานหรงจึงชี้ว่าสหรัฐไม่มีความสามารถในการโจมตีจีน ดังนั้นจึงทำได้เฉพาะในสงครามการค้าและการเงินบางส่วนเท่านั้น เพราะรู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำสงครามกัน
แต่ปรากฎว่าตอนนี้สหรัฐผ่อนคลายเรื่องการโจมตีการค้า (เพราะโจมตีไม่สำเร็จ?) แต่หันมากระพือเรื่องการเผชิญหน้าทางการทหารแทน และหนักจนผิดสังเกตแม้แต่ก่อนเกิดสงครามยูเครน
ป.ล. (2)
ในปี 2019 ศ. จินฉานหรงประเมินว่าถ้าจีนจะโจมตีไต้หวันก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะกำลังทหารของไต้หวันไม่สามารถรับมือกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้ และจะพังพาบแค่ช่วงเฟสแรกของการรุกทางทะเล อากาศ และกาณโจมตีด้วยขีปนาวุธ และจะเป็นเพียงสงครามภูมิภาค (ไม่ใช่สงครามโลก) ในช่วงเวลาสั้นๆ
กรกิจ ดิษฐาน
Photo - (TOPSHOT) Chinese troops march during a military parade in Tiananmen Square in Beijing on October 1, 2019, to mark the 70th anniversary of the founding of the People’s Republic of China. / AFP / Greg BAKER