posttoday

อนามัยโลกยืนยันพบฝีดาษลิงแล้วใน 11 ประเทศป่วยแล้วเกือบร้อย

21 พฤษภาคม 2565

ยุโรประส่ำเจอฝีดาษลิงระบาดแล้วเกือบ 100 รายยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเกี่ยวการการระบาดของโรคฝีดาษลิง โดยยืนยันว่าเบื้องต้นพบผู้ป่วยแล้วอย่างน้อย 80 ราย และอีก 50 รายที่น่าสงสัยอยู่ระหว่างสอบสวน กระจายอยู่ใน 11 ประเทศ และเตือนว่าอาจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก

องค์การอนามัยโลกไม่ได้ระบุชื่อประเทศทั้ง 11 ประเทศ เพียงแต่บอกว่าทั้งหมดเป็นประเทศที่ไม่เคยพบโรคฝีดาษลิงมาก่อนซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล

ประเทศที่ออกมายืนยันพบผู้ป่วยได้แก่ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สวีเดน สเปน โปรตุเกส แคนาดา สหราชอาณาจักร สหรัฐ และออสเตรเลีย

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการระบาดของฝีดาษลิงจะไม่พัฒนาเป็นโรคระบาดใหญ่ (pandemic) เหมือนโรค Covid-19 เนื่องจากไวรัสฝีดาษไม่ได้แพร่ระบาดง่ายเหมือนเชื้อโคโรนาไวรัส (SARS-COV-2)

ด้านเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของสหรัฐเผยว่า “ดูเหมือนว่าจะมีความเสี่ยงต่ำต่อประชาชนทั่วไปในเวลานี้”

ฟาเบียน ลีนเดอร์ตซ์ จาก Robert Koch Institute เผยว่า “อย่างไรก็ดี ไม่น่าเป็นไปได้อย่างมากที่โรคระบาดนี้จะคงอยู่นาน เพราะสามารถแยกเคสได้ผ่านการติดตามการสัมผัส และยังมียาและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่สามารถใช้ได้หากจำเป็น”

อย่างไรก็ดี ฮานส์ คลูเกอ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรปกังวลว่า การแพร่ระบาดอาจเพิ่มขึ้นในยุโรป เนื่องจากผู้คนจะออกมารวมตัวกันเพื่อจัดปาร์ตี้และเทศกาลต่างๆ ตลอดช่วงฤดูร้อนนี้

ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสที่พบในลิง โดยส่วนใหญ่พบในทวีปแอฟริกา ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นขึ้นตามร่างกายภายใน 1-3 วัน แล้วผื่นนั้นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ก่อนกลายเป็นสะเก็ดและหลุดออก

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเฉพาะสำหรับโรคฝีดาษลิง แต่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ หรือฝีดาษมีประสิทธิภาพ 85% ในการป้องกันโรคฝีดาษลิง

เคสแรกที่พบในยุโรปในการระบาดครั้งล่าสุดนี้ได้รับการยืนยันเมื่อวันที่ 7 พ.ค. โดยผู้ป่วยเดินทางกลับจากไนจีเรียมายังอังกฤษ ส่วนผู้ป่วยคนอื่นๆ มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่ที่โรคฝีดาษเป็นโรคประจำถิ่น และส่วนใหญ่พบในผู้เข้ารับการรักษาในคลินิกสุขภาพทางเพศ และกลุ่มผู้ชายรักเพศเดียวกัน ดังนั้นสาเหตุของการแพร่ระบาดจึงยังไม่แน่ชัด

CDC/Brian W.J. Mahy/Handout via REUTERS