posttoday

เมื่อศรีลังกาเข้าตาจน ต้องพิมพ์เงินกระดาษเพิ่มเพื่อจ่ายเงินเดือน

17 พฤษภาคม 2565

วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา นายกฯ ไฟเขียวพิมพ์เงินเพิ่ม แม้เงินเฟ้อพุ่งเป็นประวัติการณ์

เว็บไซต์ Economy Next ของศรีลังการายงานว่านายกรัฐมนตรีรานิล วิกรามาสิงหะ ต้องจำใจอนุมัติให้มีการพิมพ์เงินเพิ่ม แม้ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้เงินรูปีให้อ่อนค่าลง และยิ่งตอกย้ำภาวะเงินเฟ้อก็ตาม

"ด้วยความไม่เต็มใจอย่างยิ่ง ผมต้องอนุมัติให้พิมพ์เงินเพิ่ม สำหรับจ่ายเงินเดือนข้าราชการ และเพื่อชำระสินค้าและบริการที่จำเป็น อย่างไรก็ตามเราต้องจำไว้ว่าการพิมพ์เงินจะทำให้รูปีอ่อนค่าลง" นายกรัฐมนตรีรานิลกล่าว

นายกรัฐมนตรียอมรับว่าศรีลังกาจำเป็นต้องเร่งหาเงินทุนอย่างเร่งด่วน และระดมเงินให้ได้อย่างน้อย 75 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการชำระค่าพลังงานล่วงหน้า ขณะที่ประเทศมีน้ำมันเบนซินสำรองในคลังอีกเพียงแค่หนึ่งวันเท่านั้น ตามรายงานของ Bloomberg

"ตอนนี้เรามีน้ำมันสำรองแค่วันเดียว ช่วงเวลาไม่กี่เดือนต่อจากนี้จะเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตของเรา" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีการพิมพ์เงิน 588,000 ล้านรูปีในไตรมาสแรก เนื่องจากทุนสำรองต่างประเทศที่ร่อยหรอลงเหลือน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ศรีลังกาต้องแบกรับภาระหนี้และชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าจากต่างชาติ ตลอดจนราคาอาหารและพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น

ศรีลังกาประสบปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งจากการขาดรายได้จากภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วน 10% ของจีดีพี และเป็นแหล่งของเงินตราต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ, จากหนี้ต่างประเทศที่สูงเกินความสามารถของประเทศที่จะชำระ โดยเฉพาะกับจีน และจากการลดภาษีซึ่งทำให้รัฐมีเงินได้น้อยลง

นอกจากนี้ ศรีลังกากำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนับว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 74 ปี นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 1948 อันเนื่องมาจากการพิมพ์ธนบัตรของรัฐบาลเพื่อนำมาชำระหนี้ทั้งในประเทศและพันธบัตรต่างประเทศ

ทั้งนี้ การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อชดเชยการขาดดุลของรัฐบาลเป็นปัจจัยหนึ่งที่จุดชนวนในเกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากปริมาณเงินเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณสินค้าเท่าเดิม ทำให้ของราคาแพงขึ้น

Economics Help ยกตัวอย่างสมมติว่าเศรษฐกิจของประเทศสร้างผลผลิตได้ 1,000 หน่วย ขณะที่มีปริมาณเงินในประเทศอยู่ที่ 10,000 เหรียญสหรัฐ หมายความว่าราคาเฉลี่ยของผลผลิตจะอยู่ที่ 10 เหรียญสหรัฐต่อหน่วย (10,000/1000)

หากรัฐบาลพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม 5,000 เหรียญสหรัฐ ทำให้เกิดปริมาณเงินในประเทศทั้งหมด 15,000 เหรียญสหรัฐ แต่ผลผลิตยังคงอยู่ที่ 1,000 หน่วย เมื่อผู้คนมีเงินเยอะ แต่สินค้ามีเท่าเดิม พวกเขาก็เต็มใจที่จะจ่ายมากขึ้นเพื่อให้ได้สินค้า ราคาสินค้าต่อหน่วยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 15 เหรียญสหรัฐ (15,000/1000) ค่าเงินจึงลดลงเพราะเงิน 10 เหรียญสหรัฐสามารถนำไปซื้อของได้น้อยกว่าเมื่อก่อน

Photo by REUTERS/Dinuka Liyanawatte