posttoday

บทวิเคราะห์ 'สวิตเซอร์แลนด์'สลัดความเป็นกลาง หันซบ'นาโต'รับมือรัสเซีย

16 พฤษภาคม 2565

จับตาสถานการณ์ยุโรปที่จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีก บทวิเคราะห์โดย จอห์น รีวิลล์แห่งสำนักข่าวรอยเตอร์ แปลโดยทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

สถานะเป็นกลางในตำนานของสวิตเซอร์แลนด์กำลังเผชิญกับการทดสอบครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยกระทรวงกลาโหมสวิตเซอร์แลนด์เอียงใกล้ชิดกับมหาอำนาจทหารตะวันตกมากขึ้นเพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย

กระทรวงกลาโหมสวิตเซอร์แลนกำลังจัดทำรายงานเกี่ยวกับทางเลือกด้านความมั่นคงที่รวมถึงการซ้อมรบร่วมกับกลุ่มประเทศนาโต และอาวุธยุทโธปกรณ์ "ทดแทน" (Backfilling) จากกลุ่มประเทศนาโต ปาเอลี ปุลลี หัวหน้าฝ่ายนโยบายความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมสวิสกล่าวกับรอยเตอร์

รายละเอียดของตัวเลือกนโยบายที่กำลังอยู่ระหว่างการหารือในรัฐบาลยังไม่เคยมีการรายงานมาก่อน

“ในท้ายที่สุด อาจมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการตีความความเป็นกลาง” ปุลลีกล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการเดินทางไปวอชิงตันในสัปดาห์นี้ สื่อสวิสรายงานว่ารัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม วิโอลา อัมเฮิร์ด กล่าวว่าสวิตเซอร์แลนด์ควรทำงานอย่างใกล้ชิดกับนาโต อันเป็นพันธมิตรทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ แต่จะไม่เข้าร่วม 

ปุลลีกล่าวว่า ความเป็นกลางซึ่งทำให้สวิตเซอร์แลนด์ไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่สองในช่วงศตวรรษที่ 20 นั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์ในตัวมันเอง แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของสวิส 

ปุลลีกล่าวว่าตัวเลือกอื่นๆ ได้แก่ การประชุมระดับสูงและเป็นประจำระหว่างผู้บัญชาการและนักการเมืองชาวสวิสและนาโต

การขยับเข้าไปใกล้พันธมิตรนาโตมากขึ้นจะเป็นการถอยห่างประเพณีทางการเมืองที่สวิตเซอร์แลนด์ประคับประคองมาอย่างดีนั่นคือการไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งผู้สนับสนุนแนวทางนี้กล่าวว่าช่วยให้สวิตเซอร์แลนด์เจริญรุ่งเรืองอย่างสงบสุขและรักษาบทบาทพิเศษในฐานะคนกลางรวมถึงในช่วงความขัดแย้งของตะวันตกกับสหภาพโซเวียต 

มีการหารือเกี่ยวกับความคิดในการเป็นสมาชิกนาโตอย่างเต็มรูปแบบ แต่ในขณะที่สวีเดนและฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประวัติความเป็นกลางเช่นกัน กำลังใกล้จะเข้าร่วมแล้ว ปุลลีกล่าวว่ารายงานที่กำลังหารืออยู่ไม่น่าจะแนะนำให้สวิตเซอร์แลนด์ทำตามขั้นตอนนั้น

รายงานมีกำหนดจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายนที่จะส่งให้คณะรัฐมนตรีสวิสพิจารณา

เอกสารดังกล่าวจะถูกส่งไปยังรัฐสภาเพื่ออภิปรายและเป็นพื้นฐานสำหรับการตัดสินใจที่เป็นไปได้เกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของนโยบายความมั่นคงของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รายงานจะไม่ถูกส่งไปให้พิจารณาเพื่อการลงคะแนนเสียง

กระทรวงการต่างประเทศกล่าว กระทรวงกลาโหมจะมีส่วนร่วมในการศึกษาในวงกว้างซึ่งเตรียมโดยกระทรวงการต่างประเทศ โครงการดังกล่าวจะพิจารณาการนำมาตรการคว่ำบาตร อาวุธ การส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ และความสัมพันธ์กับนาโตจากมุมมองของความเป็นกลาง 

ยูเครนฟื้นการอภิปรายความเป็นกลางของสวิส

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้ต่อสู้ในสงครามระหว่างประเทศมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1815 หลังจากยอมรับความเป็นกลางที่การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna) ซึ่งยุติสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส

อนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1907 กำหนดว่าสวิตเซอร์แลนด์จะไม่เข้าร่วมในการขัดกันด้วยอาวุธระหว่างประเทศ ไม่สนับสนุนฝ่ายที่ทำสงครามด้วยกองกำลังหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือทำให้ดินแดนของตนเข้าถึงฝ่ายที่ทำสงครามได้

ความเป็นกลางซึ่งรวมอยู่ในรัฐธรรมนูญทำให้สวิตเซอร์แลนด์มีสิทธิในการป้องกันตนเองและขอบเขตในการตีความแง่มุมทางการเมืองของแนวคิดที่ไม่ครอบคลุมในคำจำกัดความทางกฎหมาย

มีการปรับปรุงครั้งล่าสุดในช่วงต้นทศวรรษ 1990 หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เพื่ออนุญาตให้ใช้นโยบายต่างประเทศบนพื้นฐานของความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในด้านต่างๆ เช่น ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ

ความขัดแย้งในยูเครนได้รื้อฟื้นการโต้เถียงในประเด็นนี้อีกครั้ง ซึ่งขณะนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาลที่จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ไม่มีการเอ่ยถึงการไม่ให้มีการส่งออกกระสุนปืนที่ผลิตในสวิสไปยังยูเครนอีกครั้ง

“มีความไม่สบายใจมากมายที่สวิตเซอร์แลนด์ไม่สามารถช่วยเหลือยูเครนได้อีกมาก” ปุลลี กล่าว

การทำ Backfilling (การเติมอาวุธ) ซึ่งเป็นวิธีการที่สวิตเซอร์แลนด์จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับประเทศอื่นๆ เพื่อทดแทนอาวุธที่ประเทศนั้นๆ ส่งไปยังยูเครน เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่เป็นไปได้ ปุลลีกล่าวในการเปลี่ยนแปลงจากนโยบายของรัฐบาลมาจนถึงตอนนี้ แม้ว่าการจัดหาโดยตรงนั้นยังเป็นไปไม่ได้

ประธานาธิบดี อิกนาซิโอ คัสซิส ปฏิเสธการส่งมอบอาวุธให้กับประเทศที่สามเพื่อสนับสนุนยูเครน แต่อาจแสดงมุมมองที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับปัญหานี้ เขายังกล่าวด้วยว่าความเป็นกลางไม่ใช่ "ความเชื่อ" และความล้มเหลวในการตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตร "จะทำให้ผู้รุกรานได้เปรียบ"

การสนับสนุนนาโตที่เพิ่มมากขึ้น

สวิตเซอร์แลนด์มีความผูกพันกับนาโตอยู่แล้ว โดยปีที่แล้วก็ตัดสินใจซื้อเครื่องบินขับไล่ Lockheed Martin F-35A ซึ่งสมาชิก NATO บางคนประเทศหรือใช้อยู่แล้ว

สวิตเซอร์แลนด์ "ไม่สามารถเข้าร่วมพันธมิตรใดๆ ได้เนื่องจากความเป็นกลาง แต่เราสามารถทำงานร่วมกันได้ และระบบ (อาวุธ) ที่เรากำลังซื้อเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับสิ่งนั้น" รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอัมเฮิรืดกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ SRF

มาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจะเป็นการเปลี่ยนท่าทีสำหรับสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมสหประชาชาติจนถึงกระทั่งปี 2002 และผลิตอาวุธจำนวนมากขึ้นเอง

วลาดิมีร์ คอคลอฟ โฆษกสถานทูตรัสเซียในกรุงเบิร์น กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะเท่ากับการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ มอสโกจะ "ไม่สามารถเพิกเฉย" ต่อการสละความเป็นกลางได้ในที่สุด ซึ่งจะมีผลตามมา คอคลอฟกล่าว แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

กองทัพสวิสสนับสนุนความร่วมมือกับนาโตมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างการป้องกันประเทศ ในขณะที่ความคิดเห็นของสาธารณชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่งใหญ่หลวงนับตั้งแต่การรุกรานของยูเครน

มากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม - 56% - สนับสนุนความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นกับนาโต ซึ่งเป็นผลสำรวจล่าสุดที่พบ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 37% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

การสนับสนุนให้เข้าร่วมนาโตจริงๆ ยังคงเป็นความคิดเห็นของชนกลุ่มน้อย แต่มีการเติบโตอย่างมาก ผลสำรวจเมื่อเดือนเมษายนโดย Sotomo พบว่า 33% ของชาวสวิสสนับสนุนการเข้าร่วมเป็นพันธมิตร สูงกว่ามุมมองระยะยาว 21% ในการศึกษาแยกโดยมหาวิทยาลัย ETH ในเมืองซูริก

มิชาเอล แฮร์มานน์ จาก Sotomo กล่าวว่า "เห็นได้ชัดว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซียได้เปลี่ยนความคิดมากมาย นี่คือการโจมตีค่านิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตกของเรา" 

เทียร์รี บูร์การ์ต หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตยที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายกลางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลผสม กล่าวถึง "การเปลี่ยนแปลงระดับแผ่นดินสะเทือน" ในความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อความเป็นกลาง

ความเป็นกลาง “ต้องยืดหยุ่น” เขากล่าวกับรอยเตอร์

“ก่อนกรณียูเครน บางคนคิดว่าจะไม่มีวันทำสงครามตามแบบแผนอีกในยุโรป” เขากล่าว และเสริมว่าบางคนสนับสนุนให้ยุบกองทัพ "ความขัดแย้งในยูเครนแสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถนิ่งนอนใจได้"

บูร์การ์ต กล่าวว่าเขาสนับสนุนการใช้จ่ายทางทหารที่สูงขึ้นและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับนาโต แต่ไม่เป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ปีเตอร์ เคลเลอร์ เลขาธิการพรรคสวิสพีเพิลส์ (SVP) ฝ่ายขวาสุด บอกกับรอยเตอร์ว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับนาโต ไม่สอดคล้องกับความเป็นกลาง

SVP ยังเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลผสมและเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในสภาล่างของสวิสเซอร์แลนด์

“ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องเปลี่ยนหลักนโยบายต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จนี้ มันนำความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประชาชน” เคลเลอร์กล่าว

กระทรวงกลาโหมไม่เห็นด้วย ในระหว่างการเยือนวอชิงตันของเธอ รัฐมนตรีอัมเฮิร์ดกล่าวว่ากรอบการทำงานของกฎหมายความเป็นกลาง “ช่วยให้เราทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับนาโต และกับพันธมิตรในยุโรปของเราด้วย” หนังสือพิมพ์ Tagesanzeiger รายงาน

แปลจาก ANALYSIS-Neutral Switzerland leans closer to NATO in response to Russia By John Revill (Reuters) 

Photo - REUTERS/Denis Balibouse/File Photo