posttoday

สิ่งมีชีวิตบนโลกอาจมาจากอวกาศ! นักวิทย์พบสารตั้งต้นดีเอ็นเอจากอุกกาบาตนอกโลก

11 พฤษภาคม 2565

นักวิทยาศาสตร์ยืนยันพบสารประกอบในดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตบนโลกในอุกกาบาต

รหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตแทบทั้งหมดบนโลก หรือดีเอ็นเอ และอาร์เอ็นเอ ประกอบด้วยนิวคลีโอเบส 5 ชนิดคือ อะดีนิน (Adenine) กัวนีน (Guanine) ไทมีน (Thymine) ไซโทซีน (Cytosine) และ ยูราซิล (Uracil) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่ก่อให้เกิดชีวิตที่ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่ากำเนิดขึ้นโดยบังเอิญบนโลกในยุคเริ่มแรกเมื่อหลายพันล้านปีที่แล้ว แต่งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communication เพิ่มน้ำหนักว่าสารตั้งต้นนี้อาจมาจากอวกาศ

ทีมนักวิจัยซึ่งนำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยะสุฮิโระ โอบะ จากมหาวิทยาลัยฮอกไกโดของญี่ปุ่นศึกษาสารประกอบในอุกกาบาต 3 ลูกที่ตกลงมายังพื้นโลกคือ อุกกาบาตเมอร์ชิสันที่ตกในออสเตรเลีย อุกกาบาตเมอร์เรย์ และอุกกาบาตทะเลสาบทากิช โดยใช้เทคโนโลยีสุดล้ำที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในการวิจัยทางพันธุกรรมและเภสัชกรรมเพื่อตรวจจับนิวคลีโอเบสขนาดเล็กจิ๋วในอัตราส่วนต่อล้านล้าน ซึ่งละเอียดกว่าวิธีที่ศึกษากันก่อนหน้านี้อย่างน้อย 10-100 เท่า

นอกจากจะพบ อะดีนิน กัวนีน และยูราซิลซึ่งถูกค้นพบไปก่อนหน้านี้แล้วในอุกกาบาต ทีมนักวิทยาศาสตร์ของโอบะยังพบไทมีนและไซโทซีน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พบสาร 2 ชนิดนี้ในอุกกาบาต

“การค้นพบสารตั้งต้นของดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอในอุกกาบาตจากนอกโลก กำลังบอกเราว่าโมเลกุลที่สำคัญต่อการสร้างชีวิตถูกส่งมาที่โลกก่อนที่จะกำเนิดชีวิต” โอบะกล่าว เขาอธิบายว่าสิ่งที่เขาค้นพบคือข้อมูลที่บ่งชี้ว่าจุดกำเนิดของโมเลกุลที่จำเป็นต่อ ดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอของสิ่งมีชีวิตบนโลกมาจากนอกโลก

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ดีเอ็นเอไม่น่าจะก่อตัวในดาวเคราะห์น้อย แต่การที่อุกกาบาตพาสารตั้งต้นดีเอ็นเอเหล่านี้มาที่โลกเป็นการช่วยให้สารเหล่านั้นได้มาพัฒนาขึ้นที่โลก

อย่างไรก็ดี ทีมนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถบอกได้ถึงความชัดเจนของผลกระทบต่อโมเลกุลเคมีแรกๆ บนโลกจากอุกกาบาต หรือบางทีอาจเป็นไปได้ที่ทั้งสองปัจจัยต่างมีความผลกระทบต่อกันและกัน

“หากประสิทธิภาพการผลิตของนิวคลีโอเบสบนโลกสูงกว่าปัจจัยจากอวกาศมาก การเกิดขึ้นของรหัสพันธุกรรม (หรือชีวิต) ด้วยปัจจัยจากนอกโลกก็อาจมีส่วนร่วมเพียงเล็กน้อย” โอบะกล่าว “แต่การค้นพบของเราสามารถพูดได้ว่าอุกกาบาตที่อุดมไปด้วยคาร์บอนนั้นมีนิวคลีโอเบสที่หลากหลาย”

ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนอาจแย้งว่าตัวอย่างเหล่านั้นอาจเกิดการปนเปื้อนจากอากาศบนโลก แต่ทีมวิจัยกล่าวว่า “หากมีการปนเปื้อนจากดินบนโลกเราควรเห็นไอโซเมอร์เหล่านั้นในดินเช่นกัน แต่เราก็ไม่พบ” โดยบอกว่ามีการจัดระเบียบและเรียงตัวต่างกัน ซึ่งตัวที่พบในอุกกาบาตนั้นต่างจากบนโลก

NASA Goddard/CI Lab/Dan Gallagher/Handout via REUTERS