posttoday

กลศึกสร้างแนวร่วม สลายพันธมิตร โดดเดี่ยวรัสเซีย-ปิดล้อมจีน

05 พฤษภาคม 2565

ขณะที่ชาติตะวันตกช่วยเหลือยูเครนด้านอาวุธจนรัสเซียเตือนว่าอย่าเล่นสงครามตัวแทน สถานการณ์ที่หมิ่นเหม่เช่นนี้ยังมีบางประเทศในเอเชียเดินสายสร้างแนวร่วมให้ชาติตะวันตกในภูมิภาคของเรา

ในยุคจ้านกั๋วหรือยุคที่จีนแตกเป็นก๊กต่างๆ รบราแย่งชิงแผ่นดินกันเอง กลุ่มคนที่เจ้าแคว้นต่างๆ ต้องการตัวมากที่สุดคือพวกกุนซือหรือนักยุทธศาสตร์ มาช่วยวางแผนการรบ คิดกลอุบายเพื่อล่อลวงหรือโค่นล้มฝ่ายตรงข้าม

พวกที่สำคัญรองลงมาคือพวก "นักต่อรองหรือนักการทูต" แต่พวกนี้ยิ่งเหนือกว่ากุนซือเสียอีก เพราะสามารถใช้ลิ้นทองคำมาช่วยเหนือหัวชิงอำนาจมาได้โดยไม่ต้องรบก็มี

นักเจรจาระดับพระกาฬคนหนึ่งในยุคนั้นคือ "ซูฉิน"เป็นผู้เกลี้ยกล่อมให้รัฐต่างๆ คือ รัฐฉี รัฐฉู่ รัฐเอียน รัฐหาน รัฐจ้าว และรัฐเว่ย ฟอร์มพันธมิตรต่อต้านมหาอำนาจรัฐฉิน เรียกว่า "พันธมิตรแนวตั้ง"

รัฐต่างๆ เหล่านี้เมื่อก่อนรบรากันเอง แต่พอเผชิญกับภัยคุกคามจากรัฐฉินที่น่าสะพรึงกว่าก็ยอมรวมพลังกันเป็นพันธมิตรเพื่อร่วมกันต้านยักษ์

ถ้าเทียบกับสมัยนี้ก็คงเหมือน "NATO ต้านรัสเซีย" หรือเทียบ " QUOD ต้านจีน"

เพียงแต่ "พันธมิตรแนวตั้ง" มีความเปราะบางมาก เพราะรัฐต่างๆ มีเรื่องบาดหมางกันอยู่แล้ว

ซูฉินนั้นเป็นศิษย์สำนักการทูตหรือสำนักจงเหิง (สำนักสร้างพันธมิตรแนวดิ่งแนวราบ) ใช้ฝีปากในการโน้มน้าวผู้มีอำนาจให้ดำเนินวิเทโศบายที่ตัวเองวางแผนไว้ ซูฉินทำสำเร็จด้วยนโยบายพันธมิตรแนวตั้ง ซูฉินมีสหายร่วมสำนักคนหนึ่งชื่อว่า "กงซุนเอี่ยน" ใช้แนวทางผ่านแนวราบรวมพลังรัฐพลังน้อยๆ มาเป็นพันธมิตรแนวราบเช่นกัน

แต่ก็ยังมีศิษย์รวมสำนักอีกคนหนึ่ง ต่างเจ้านาย ต่างอุดมการณ์กัน ชื่อ "จางอี้" ไปเป็นกุนซือให้กับรัฐฉิน

เมื่อรัฐฉินเผชิญกับพันธมิตรแนวตั้ง จางอี้จึงแก้ลำด้วยการเสนอ "พันธมิตรแนวราบ"

แม้จะเรียก "พันธมิตรแนวราบ" แต่รัฐฉินหัวเดียวกระเทียมลีบไม่มีใครมาเป็นสหายร่วมรบด้วย ดูคล้ายกับรัสเซียตอนนี้อยู่กลายๆ

แต่แนวคิดของ "พันธมิตรแนวราบ" ไม่ใช่หาคนมาร่วมชน แต่ชนศัตรูตรงๆ ด้วยยุทธศาสตร์ 1. ทำให้ทั้งหกรัฐรวมตัวกันไม่ติด และ 2. ทำให้ทั้งหกรัฐรบกันเอง

"พันธมิตรแนวตั้ง" นั้นอ่อนปวกเปียกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะแต่ละรัฐต่างสนใจแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว "พันธมิตรแนวราบ" จึงไม่ต้องอกแรงมากนัก รอเวลาแค่รัฐแนวราบรบกันองเท่านั้น แล้วค่อยทำลายไปทีละรัฐ

ปรากฎว่าไม่นานหกรัฐก็ซัดกันเองดังที่คาด มหาอำนาจรัฐฉินที่ถูกรุมสกรัมจึงรอดมาได้แถมยังกลับมาเหนือกว่าด้วยเหตุนี้

นี่คือพลังของสำนักการทูตหรือสำนักสร้างและสลายพันธมิตร ทั้งซูฉินและจางอี้ต่างเก่งกันไปคนละแบบ จางอี้นั้นเก่งในทางแก้เกมส์สลายพันธมิตร ส่วนซูฉินทำงานที่ยากไม่น้อยคือทำอย่างไรให้พวกที่เคยเป็นศัตรูมารวมตัวกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน

งานของจางอี้ไม่ยากเพราะไม่ต้องพะวงกับใครว่าจะซื่อสัตย์กับตนหรือไม่ หากรัฐนั้นแข็งแกร่งและอดทนพอที่จะรอดูพันธมิตรล่มสลายก็รบยืดเยื้อไปเรื่อยๆ ส่วนซูฉินนั้นยากเพราะพันธมิตรที่ต่างคนต่างที่มามีแนวโน้มจะล่มสลายได้ง่าย

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รัฐมหาอำนาจที่แข็งแกร่งแล้วล่มสลายลงในบั้นปลายยังพอนับได้ แต่พันธมิตรที่ล่มสลายหรือทะเลาะกันเองนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วน

เช่น ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตมีดีลกับนาซีเยอรมันแบ่งดินแดนกันเขมือบ แต่มันป็นดีลพันธมิตรที่รอเวลาถูกฉีกเท่านั้นเพราะต่างก็รู้ว่าแต่ละฝ่ายยอมรอมชอมให้กันไม่ได้นาน ไม่นานดีลก็ล่มแล้วก็มารบกันเอง โซเวียตกลายเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรร่วมเผด็จศึกนาซีเยอรมัน แต่ในตอนนั้นเองฝ่ายสัมพันธมิตรก็เริ่มระแวงโซเวียตว่าหลังสงครามคงต้องรบกับฝ่ายนี้เป็นแน่ หลังจากสิ้นสงครามโลกไม่นานพันธมิตรก็ล่มสลาย กลายเป็นสงครามเย็นระหว่าง "โลกเสรี" กับ "โลกหลังม่านเหล็ก"

หรือจะเป็นในยุคสงครามเย็น โซเวียตกับจีนเป็นสหายร่วมอุดมการณ์ฝ่ายโลกหลังม่านเหล็ก แต่ภายหลังเพราะทะเลาะกันเรื่องอุดมการณ์ (ซึ่งฝ่ายซ้ายมักจะทะเลาะกันเองแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร) ทำให้จีนแยกกันเดิมกับโซเวียต แถมในเวลาต่อมายังไปคบหากับสหรัฐที่เคยเป็นศัตรูกันมาก่อนด้วย

นี่คือตัวอย่างของการสานพันธมิตรที่ไม่มีความยั่งยืนเอาเลย และยิ่งจะสั่นคลอนได้ไม่ยากหากรู้จุดอ่อน

ในเวลานี้เป็นอีกครั้งที่มนุษยชาติเห็นการสานพันธมิตรและสลายพันธมิตร

สหรัฐ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นนอกจะผูกมัดกันเหนียวแน่นขึ้นแล้ว ยังแยกกันไปสานและสลายพันธมิตรนอกกลุ่มตัวเองด้วย

สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปพยายามโน้มน้าวประเทศที่ไม่ยอมประณามรัสเซียให้มาเป็นพวกตน เผชิญว่าส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียเสียด้วย เช่น อินเดีย แต่ไม่มีอะไรให้อินเดียเหมือนรัสเซียที่มีน้ำมันราคาถูกให้

แต่ถ้าเอาน้ำมันลดราคาเป็นที่ตั้งก็เหมือนจะดูดถูกอินเดียเกินไป เพราะอินเดียนั้นสนิทสนมกับรัสเซียมาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต เป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ร่วมกัน และอินเดียยังมีความเป็นตัวของตัวเองสูงในด้านนโยบายต่างประเทศ

ดังนั้นการสลายพันธมิตรอินเดีย-รัสเซียจึงไม่คืบหน้า

การที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐที่วอชิงตัน แถลงการณ์ของทำเนียบขาวบอกแค่ว่าเพื่อ "แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ยั่งยืนของสหรัฐที่มีต่ออาเซียน โดยตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อความท้าทายเร่งด่วนที่สุดในภูมิภาค และเฉลิมฉลอง 45 ปีของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อาเซียน"

ไม่ได้เอ่ยถึงอิทธิพลจีนหรือกรณียูเครน-รัสเซีย และโดยฉากหน้าไม่น่าจะมีการคุยเรื่องนี้กันตรงๆ ไม่อย่างนั้นวงแตก แต่ถ้าคุยกับผู้นำเป็นรายบุคคลก็อาจเป็นไปได้ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปวอชิงตัน

ดังนั้น ในฉากหน้าสหรัฐไม่ได้ทำหน้าเหมือนซูฉินหรือจางอี้ แต่ทำตัวเหมือนเจ้าแคว้นใหญ่ เชิญเจ้าแคว้นเล็กๆ ไปร่วม "สังสรรค์กระชับมิตร" เท่านั้น

หน้าที่สานพันธมิตรและสลายพันธมิตรให้ดูที่ผู้นำบางประเทศที่เป็นพันธมิตรตะวันตกในเอเชีย ซึ่งกำลังเดินทางเดินสายไปทั่วเอเชียด้วยตัวเองหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปเพื่อเกลี้ยกล่อม

"ทูต" เหล่านี้มุ่งไปที่ประเทศที่วางตัวเป็นกลางๆ หรือประเทศที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาค เช่น ประเทศที่เป็นเหมือนหัวใจของอาเซียนอันเป็นจุดเชื่อมต่อให้กับจีน หรือประเทศที่เป็นสหายรักของรัสเซียมาแต่ไหนแต่ไร เช่น มองโกเลีย หรือในกลุ่มเอเชียกลาง

"ทูตสลายพันธมิตร" จากประเทศนี้บอกกันซึ่งๆ หน้าให้เพื่อนเก่ารัสเซียเหล่านี้ทบทวนจุดยืนของตน ดูเผินๆ ราวกับไม่แคร์เลยว่าประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพาทรัพยากรรัสเซียมากแค่ไหน

หากมองในแง่สานพันธมิตร บางทีประเทศนี้อาจจะเสนอเงื่อนไขที่ดีกว่าให้ก็เป็นได้ ต้องชมกันต่อไป

แต่ภารกิจสานพันธมิตรและสลายพันธมิตรรัสเซียในเอเชียดูเหมือนจะเป็นงานรองมากกว่าหรืออาจเรียกได้ว่า "เป็นงานบังหน้า"

เป้าหมายจริงๆ อยู่ที่การสานพันธมิตรปิดล้อมจีน และสลายพันธมิตรจีนให้หวั่นไหว

ประเทศในเอเชียที่อยู่ในเส้นทางเดินสายล้วนแต่เริ่มเอนเอียงไปทางจีนมากขึ้น และทูตจากประเทศนี้ยังเดินสายในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกในรอบเดียวกัน เห็นได้ชัดว่าเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลจีนในแปซิฟิกหลังจากจีนดีลกับหมู่เกาะโซโลมอนเรื่องการส่งทหารมาประจำการและอาจรวมถึงการตั้งฐานทัพ

การสานและสลายพันธมิตรรอบนี้จึงไม่ได้มุ่งเป้าที่รัสเซียเท่านั้น แต่โดดเดี่ยวจีนด้วย นี่คือเป้าหมายของพันธมิตรตะวันตกโดยเฉพาะเจ้าแปซิฟิกอย่างสหรัฐที่แพลมมาแล้วว่าพร้อมจะเปิดศึกสองด้านกับรัสเซียและจีน แต่ไม่ได้เดินเกมนี้เอง เพราะให้ "ลูกมือ" ที่มีภาพลักษณ์ดีกว่าช่วยประสานงานการทูต

ระหว่างการรุกรานยูเครน จีนนั้นพยายามวางตัวให้กระโตกกระตากน้อยที่สุด ไม่ใช่แค่เพราะเป็นเพื่อนกับทั้งยูเครนและรัสเซีย แต่เพราะกลัวว่าจะถูกตะวันตกหาเรื่องในช่วงเวลาที่จีนไม่พร้อมโดนรุม

หากตามข่าวกันดีๆ จะเห็นว่าจีนตีตัวออกห่างรัสเซียหลายรอบแล้ว แต่นั่นก็ยังไม่สมใจพันธมิตรตะวันตก เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการคือบั่นทอนให้ทั้งรัสเซียและจีนอ่อนแอกว่านี้ ทำให้การพึ่งพาแบบ Symbiosis ของทั้งสองขาดสะบั้นลงไป

แต่เราควรรู้ว่าจีนมีความอดทนสูงมาก และควรรับทราบว่าจีนกับรัสเซียเองก็มีความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆ ดอนๆ กันมาก่อน จีนจึงไม่อยู่ในสถานที่จะเข้าไปเป็นพันธมิตรเต็มตัวกับรัสเซียไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม แม้จะมีภาพสีจิ้นผิงเคียงข้างกับปูติน มันก็ไม่ได้รับประกันอะไร

อย่างที่บอกไปว่าพันธมิตรนั้นง่ายที่จะสลาย ในกรณีนี้รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียด้วย

นั่นเป็นเรื่องของอนาคต ก็ต้องติดตามชมกันต่อไปเช่นกัน

หากเทียบกับยุคจ้านกั๋ว ดูเผินๆ สถานะของรัสเซียตอนนี้คล้ายกับรัฐฉินเดียวดายลำพังในช่วงที่เผชิญกับพันธมิตรแนวตั้ง

แต่รัสเซียดูเหมือนจะอ่อนหัดกับการทูตสร้างและสลายพันธมิตรเอาการ ดังนั้นหากยื้อกันไปยื้อกันมาแบบนี้ ดีไม่ดีรัสเซียอาจจะไม่ผงาดในภายหลังเหมือนรัฐฉินแต่จะจบเหมือนรัฐฉู่เสียมากกว่า

ในยุคนั้น นอกจากรัฐฉินที่เป็นใหญ่ ยังมีรัฐฉู่ทางตอนใต้ที่มหึมาและแกร่งพอๆ กัน แต่รัฐฉู่นั้นแม้จะใหญ่แต่ขาดกุนซือที่ดี นโยบายต่างประเทศผิดพลาด ยุทธศาสตร์สับสนอลหม่าน

รัสเซียตอนนี้ถูกรุมเหมือนรัฐฉิน แต่เนื้อในกลับเหมือนรัฐฉู่มากกว่า

หากจะเปรียบเทียบ เรื่องนี้ไม่เหมือนกับสถานการณ์ในสงครามยูเครน-รัสเซียเสียทีเดียว แต่มันมีบทเรียนสอนใจให้กับทุกฝ่ายได้ จะขอเล่าให้ฟังเป็นกับแกล้มความคิดดังนี้

ในการสร้างพันธมิตรแนวตั้งนั้น ตอนแรกซูฉินเกลี้ยกล่อมเจ้ารัฐฉู่ให้มามารวมเป็นพันธมิตรหกรัฐแนวตั้งเพื่อต้านฉิน แต่รัฐฉู่เห็นว่าตนใหญ่จึงไม่ร่วม ปรากฏว่าถูกรัฐฉินเข้าตี จึงต้องหันมาเป็นแก๊งเดียวกันในที่สุด

แต่พันธมิตรแนวตั้งพังลงในเวลาเพียง 15 ปีด้วยพลังของพันธมิตรแนวราบของรัฐฉิน

หนึ่งในกลเม็ดที่รัฐฉินใช้ คือส่งจางอี้ไปสานสัมพันธ์กับรัฐฉู่ (นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่การทูตบ่อนทำลายได้ง่ายๆ แบบนี้) ทำให้อีกพันธมิตรเกิดความระแวงกระทั่งรบกัน ในขณะเดียวกันจางอี้ก็หักหลังรัฐฉู่ด้วยการลวงเอาดินแดนไปแล้วไม่คืน ทำให้ฉู่ต้องรบกับฉินอีกทางหนึ่งเท่ากับเปิดศึกสองทาง ทำให้มหาอำนาจอย่างฉู่อ่อนแอลงไปมาก

ความผิดพลาดที่สุดของรัฐฉู่คือ คิดว่าตัวเองใหญ่แต่ขาดคุณสมบัติของผู้ยิ่งใหญ่ ผู้นำมั่นใจมากเกินไปแต่เก่งไม่จริง ขุนนางฉ้อราษฏร์บังหลวงเป็นนิจเหมือนหนอนไชประเทศจนเน่าเฟะ ขาดกุนซือเก่งๆ เหมือนรัฐฉินที่มีจางอี้ หกรัฐมีซูฉินและกงซุนเอี่ยน เมื่อต้องรบจึงแพ้ไม่เป็นท่า เมื่อต้องหันมาใช้เกมส์รับจึงโดนเขาหลอกทางการทูต

ความที่ฉู่อ่อนแอลงมากในยุคของจางอี้นี่เองที่ รัฐฉินมั่นใจมากถึงขนาดคิดจะรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียว ในยุคนั้นแผ่นดินจีนเปรียบเสมือนโลกทั้งใบของคนจีน ดังนั้นการวมแผ่นดินจีนก็เหมือนกับการครองโลกอยู่กลายๆ

กุนซือจางอี้เสนอว่าควรจะกุมตัวกษัตริย์ราชวงศ์โจวเพื่อสร้างอาณัติครองแผ่นดินเสียก่อน แต่ขุนศึกซือหม่าชั่วแย้งว่า กำจัดศัตรูทรงอำนาจเป็นงานหลัก ความชอบธรรมเป็นงานรอง ควรกำจัดรัฐฉู่เสียก่อน เมื่อยึดฉู่ได้แล้วก็เท่ากับยึดแผ่นดินไว้ในกำมือ

ซือหม่าชั่ว ชื่อไม่ชั่วดังชื่อแต่ฉลาดเป็นกรดเสนอบุกตะวันออกของรัฐฉู่คือแคว้นจ๊ก (แคว้นสู่และปา) อันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ไม่ได้ละโมบคิดจะโค่นฉู่โดยยึดทั้งยวงในคราวเดียว เมื่อยึดแคว้นจ๊กมาได้ ก็เท่ากับยึดหม้อข้าวศัตรูมาได้ทั้งยังกำลังคนมาร่วมรบอีกมหาศาล

จากนั้นรัฐฉินก็เริ่มการรวมแผ่นดินรบและเขมือบแคว้นฉู่ได้สำเร็จ เมื่อมหาอำนาจสิ้นไป ห้ารัฐที่เหลือก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงอีก

ฟังแล้ว คิดว่าระหว่างรัสเซียกับจีน ใครเป็นรัฐฉินหรือรัฐฉู่?

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo -  Sputnik/Ramil Sitdikov/Kremlin via REUTERS