posttoday

ชาวอเมริกันแห่ถือปืนมากขึ้น กลายเป็นนักฆ่าอันดับ 1 ของเด็กและวัยรุ่น

04 พฤษภาคม 2565

อาวุธปืนกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กและวัยรุ่นอเมริกัน ชี้คนใช้ปืนมากขึ้นช่วงโควิด

อาวุธปืนกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กและวัยรุ่นอเมริกันแซงหน้าอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตามข้อมูลใหม่ที่เผยแพร่โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC)

ABC News รายงานโดยอ้างข้อมูลจาก CDC ซึ่งได้บันทึกการเสียชีวิตของชาวอเมริกันพบว่า ตลอดทั้งปี 2020 มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนถึงจุดสูงสุดครั้งใหม่ที่ 45,222 คน โดยในจำนวนนี้มีเยาวชนมากกว่า 4,300 คน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 19 ปีมีอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนเพิ่มขึ้น 29.5% จากปี 2019 และสูงเป็นสองเท่าของการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนที่พบในประชากรทั่วไป

รายงานระบุว่าในช่วง 21 ปีที่ผ่านมาปืนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่ระยะหลังการเสียชีวิตด้วยปืนพุ่งสูงขึ้นในสหรัฐ โดยส่วนใหญ่เกิดจากการฆาตกรรม ซึ่งเพิ่มขึ้น 33.4% จากปี 2019 ถึง 2020 ส่วนการฆ่าตัวตายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนในสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.1% ในช่วงเวลาเดียวกัน

CDC ไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนที่เพิ่มขึ้นได้ แต่ระบุว่าข้อมูลใหม่นี้สอดคล้องกับหลักฐานอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

"อัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มระยะยาว และแสดงให้เห็นว่าเรายังคงล้มเหลวในการปกป้องเยาวชนของเราจากสาเหตุการเสียชีวิตที่ป้องกันได้"

ขณะที่การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมาพบว่าในช่วงเดือนม.ค. ถึงเดือนเม.ย. 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ใหญ่อเมริกันซื้อปืนครั้งแรกถึง 7.5 ล้านคน โดยทุกวันนี้ชาวอเมริกันครอบครองอาวุธปืนรวมกันมากกว่า 390 ล้านกระบอก

นอกจากนี้ การวิจัยจากโรงเรียนการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ลินช์แห่งวิทยาลัยบอสตัน ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสาร Pediatrics พบว่าการพกปืนในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ปี 2002 ถึง 2019 โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นผิวขาว และวัยรุ่นรายได้สูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอาวุธปืนในกลุ่มวัยรุ่นอเมริกันและคนอื่นๆ ในสังคม

ขณะที่รัฐบาลกลางประมาณการว่าในปี 2019 ถึง 2020 มีวัยรุ่นพกอาวุธปืนมากขึ้นถึง 200,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงปี 2002 ถึง 2003

รายงานยังระบุว่าการบาดเจ็บจากอาวุธปืนส่งผลกระทบระยะยาวต่อเยาวชน และเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะเพิ่มอัตราการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธปืนในอนาคต ตลอดจนการมีส่วนร่วมในอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน โดยปืนพกไม่เหมือนกับปืนชนิดอื่นๆ ตรงที่มีแนวโน้มที่จะถูกใช้ในการฆาตกรรม และการฆ่าตัวตาย

ศาสตราจารย์นาโอกะ อี. แครี่ จากภาควิชาจิตวิทยา โรงเรียนการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ลินช์ กล่าวว่า "ขณะนี้ความรุนแรงจากปืนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของเยาวชนในสหรัฐ และเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องจัดการ การกำหนดนโยบายต้องมาจากสิ่งที่วัยรุ่นรายงานในวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เคยทำเมื่อ 20 ปีที่แล้วหรือจากทฤษฎีในชั้นเรียน เราหวังว่าการศึกษาของเราจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถระบุสาเหตุของความรุนแรงและการบาดเจ็บในวัยรุ่นได้ดีขึ้น"

Photo by JOE RAEDLE/GETTY IMAGES NORTH AMERICA/Getty Images via AFP