posttoday

นายทุนสกัดทุกทาง เมื่อพนักงานบริษัทยักษ์ใหญ่รวมตัวกันเป็นสหภาพ

01 พฤษภาคม 2565

ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าจับตาในสหรัฐ เมื่อพนักงานบริษัทๆ รวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานมากขึ้นเพื่อต่อรองกับนายจ้าง โดยเฉพาะบริษัทบางแห่งมีประวัติเสียเรื่องกดขี่แรงงาน

รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนสหภาพแรงงานน้อยในอันดับท้ายๆ ของโลก ด้วยอัตราความหนาแน่นคนงานที่อยู่ในสหภาพแรงงานแค่ 3% จากตัวเลขปี 2016 เทียบกับในปี 2010 อัตราส่วนของคนงานที่อยู่ในสหภาพแรงงานในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 11.4% เมื่อเทียบกับ 18.3% ในญี่ปุ่น 27.5% ในแคนาดาและ 70% ในฟินแลนด์

ประเทศเหล่านี้มีความเหลื่อมล้ำในสังคมต่ำด้วย จากการศึกษาทางวิชาการแสดงให้เห็นหลักฐานสำคัญว่าสหภาพแรงงานลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อโจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) ยืนยันว่า "สหภาพแรงงานที่เข้มแข็งช่วยลดความไม่เท่าเทียมกัน ในขณะที่สหภาพที่อ่อนแอกว่าได้ช่วยให้ซีอีโอเพิ่มสิ่งนี้ (ความเหลื่อมล้ำ)"

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ในวงการธุรกิจสหรัฐเมื่อพนักงงานในบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลกอย่างน้อย 2 บริษัทในสหรัฐสามารถตั้งสหภาพแรงงานได้สำเร็จ นั่นคือ Amazon โดยเมื่อต้นเดือนเมษายน พนักงานของ Amazon ในที่คลังสินค้า JFK8 ในเกาะสแตเตน รัฐนิวยอร์ก โหวตให้จัดตั้งสหภาพแรงงานสหรัฐแห่งแรกของบริษัท 

สาเหตุที่แรงงานทนไม่ไหวต้องตั้งสหภาพมาขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะค่าแรงเท่าเดิม แต่ข้าวของแพง นายทุนเจ้าของบริษัทรวยเอาๆ ในช่วงเวลาของการระบาดใหญ่ ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีได้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน เจฟ เบโซส์ (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้ง Amazon มีทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 164,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 113,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2020

ความสำเร็จของแรงงานคลังสินค้า JFK8 ในการตั้งสหภาพแรงงาน ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพนักงานบริษัท Starbucks สาขาบัฟฟาโลที่ตั้งสหภาพแรงงานสำเร็จเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่สิ่งที่ต่างกันคือ Starbucks ไม่ค่อยจะมีเรื่องฉาวโฉ่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม เทียบกับ Amazon ที่มีข่าวประเภทนี้บ่อยครั้ง

แต่สิ่งที่เหมือนกันคือทั้ง Amazon และ Starbucks ถูกกล่าวหาว่าใช้วิธีการเพื่อบั่นทอนความพยายามของพนักงานเพื่อรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง

ตัวอย่างเช่น The Guardian รายงานว่า Amazon ได้ต่อต้านการรวมตัวของสหภาพแรงงานอย่างรุนแรงโดยใช้เงินหลายล้านจ้างที่ปรึกษาด้านการสกัดสหภาพแรงงาน และผู้จัดงานสหภาพแรงงานอเมซอน (ALU) กล่าวหาว่าฝ่ายบริหารของสหภาพถูกคุกคามและข่มขู่

มีรายงานว่า Observer ว่า หลังจากชัยชนะของคลังสินค้า JFK8 คลังสินค้าแห่งที่สองคือ LDJ5 ทำการโหวตเพื่อจะจัดตั้งสหภาพแรงงานบ้าง คราวนี้ Amazon พยายามที่จะทำทำให้กระบวนการตั้งสหภาพต้องชะงัก ด้วยการหยุดเดินเครื่องจักรหลายคัร้งในหนึ่งวัน ทำให้งานไปต่อลำบาก และเมื่อพนักงานมีเวลาก็จะสั่งให้พนักงานไปฟังการบรรยายของผู้จัดการและบุคคลากรจากบริษัทที่ทำหน้าที่สลายสหภาพแรงงานเพื่อให้พนักงานตระหนักถึงข้อดีของบริษัท และข้อเสียของสหภาพแรงงาน 

การต้อนพนักงานไปฟังบรรยายแบบนี้เรียกว่า "Captive Audience" หรือการ "จับตัวไปนั่งฟัง" ทั้งๆ ที่อยู่ในเวลางาน นอกจาก Amazon บริษัท Starbucks ก็ใช้วิธีการแบบเดียวกัน

เว็บไซต์ Open Democracy รายงานว่า หลังจากมีความพยายามจะจัดตั้งสหภาพแรงงานที่เมืองบัฟฟาโล Starbucks ส่งผู้จัดการเกือบ 200 คนจากทั่วประเทศไปยังบัฟฟาโลทั้งๆ ที่ร้านสาขาแค่ 20 แห่ง เพื่อจับตาพนักงงานที่นี่ และจัดตารางการประชุมต่อต้านสหภาพแรงงาน  เชิญพนักงานไปหลังร้านเพื่อสอบปากคำหรือล้วงข้อมูลเพื่อใช้ในการประชุมกลุ่มตั้งสหภาพ แค่ทำสงครามจิตวิทยากับพนักงานของตัวเอง

แต่มันไม่สำเร็จ นับตั้งแต่ชัยชนะของบัฟฟาโล มีร้าน Starbucks จำนวน 250 แห่งในกว่า 30 รัฐได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ (NLRB) เพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน แต่มีรายงานว่า Starbucks ยิ่งเดินหน้าสกัดการตั้งสหภาพด้วยการใช้วิธี “captive-audience”

นอกจากการตั้งสหภาพแรงงานแล้ว พนักงานบริษัทใหญ่ๆ และกลุ่มอาชีพต่างๆ ในสหรัฐประสบความสำเร็จในการนัดหยุดงานมากขึ้นเรื่อยๆ หรือกดดันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสวัสดิภาพและรายได้ของแรงงาน

ล่าสุด ในปลายเดือนเมษายนคือ Delta Air Lines ตกลงที่จะจ่ายค่าจ้างให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินตั้งแต่ก่อนที่พนักงานขึ้นเครื่อง (บอร์ดดิ้ง) แต่ก่อนนี้พนักงานบนเคร่องจะไม่ได้รับค่าจ้างก่อนการบอร์ดดิ้ง ซึ่งบางครั้งอาจนานถึง 50 นาที ทำให้เสียรายได้ส่วนนี้ไป และเป็นแนวปฏิบัติของสายการบนิส่วนใหญ่ในสหรัฐ

ความสำเร็จนี้มาจากการผลักดันของสมาคมพนักงานต้อนรับบนเครื่องของสายการบินนี้ แม้ว่า Delta Air Lines จะต่อต้านการตั้งสหภาพแรงงานมาโดยตลอดก็ตาม แต่ในที่สุดก็ต้องยอมให้กับสมาคมของพนักงานที่เรียกร้องค่าจ้างอย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ การวิจัยจากนอร์เวย์พบว่าอัตราการรวมตวกันเป็นสหภาพที่สูงส่งผลให้ผลิตภาพของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น  การวิจัยจากเบลเยียมยังพบว่าผลผลิตเพิ่มขึ้น 

แต่ในสหรัฐอเมริกาพบว่าสหภาพแรงงานอาจส่งผลเสียต่อความสามารถในการทำกำไร การจ้างงาน และอัตราการเติบโตของธุรกิจ มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันและผู้สนับสนุนระบบทุนนิยมแบบเสรีนิยม พยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าการรวมตัวเป็นสหภาพทำให้ได้ค่าแรงที่สูงขึ้น (สำหรับสมาชิกสหภาพแรงงาน) แต่มีการจ้างงานน้อยลง และหากอุตสาหกรรมบางประเภทมีสหภาพแรงงานแต่อุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่มี ค่าแรงก็จะมีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มที่มีสหภาพ แต่จะลดลงในอุตสาหกรรมที่ไม่มีสหภาพแรงงาน

ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

Photo - REUTERS/Andrew Kelly